วิทยาศาสตร์ ในการพิจารณาอาหาร
โมทนาสาธุ กลับมาพบกับลานวัดลานวิทย์อีกครั้งหนึ่งครับ จากฉบับที่แล้วเราได้เรียนรู้ไปว่า พระพุทธศาสนาอยู่เหนือกว่าที่จะนำมาตีวัดด้วยสิ่งที่มีวิสัยทัศน์จำกัดกว่าอย่างวิทยาศาสตร์ แต่อย่างไรก็ดี ในบางประเด็น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อาจเข้ามาช่วยเสริมในการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาได้เช่นกัน ฉบับนี้ผมจึงจะนำเอาแนวทางการพิจารณาธรรมในอาหาร โดยผสมหลักความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มาแบ่งปันกันครับ
แต่ก่อนจะไปถึงการพิจารณา สงสัยไหมครับว่าทำไมเราต้องพิจารณาอาหาร หากพูดไปแล้ว อาหารก็เหมือนกับสิ่งอื่นในชีวิตประจำวัน ที่เราสามารถหยิบยกขึ้นมาไตร่ตรองไปตามสภาวะความเป็นจริง ที่เป็นไปตามกฎพระไตรลักษณ์ที่ว่า เมื่อสิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว แม้จะตั้งอยู่ แต่สุดท้ายจะต้องดับไปเป็นธรรมดา มนุษย์ส่วนใหญ่มองเห็นและตระหนักเฉพาะด้านที่สวยงาม ที่อำนวยสุขของสิ่งต่างๆ จึงไขว่คว้ามาปรนเปรอตัว ซึ่งอาหารก็เป็นหนึ่งในบรรดาสิ่งเหล่านั้น การพิจารณาอาหาร จึงเป็นการสวนกระแสกับความรู้สึกดั้งเดิม คือเป็นการหันใจเข้าไปรับความจริงทุกด้านของอาหาร รวมถึงด้านที่คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้ตระหนักถึง หรือไม่อยากจะนึกถึง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้เกิดการยอมรับ เข้าใจ และปลงไปในสภาพธรรมชาติของปัจจัยแห่งชีวิตนี้ อันจะเป็นหนทางนำไปสู่ความสุขที่แท้จริงนั้นเองครับ สำหรับการพิจารณาอาหารโดยนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประกอบนั้น ผมเห็นว่า นอกจากจะได้เป็นการทบทวนความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างบูรณาการแล้ว แต่ยังอาจช่วยให้การพิจารณาธรรมของเราเกิดภาพพจน์ เป็นเหตุให้เข้าใจ ยอมรับได้ง่ายยิ่งขึ้น... ว่าแล้วก็ลองเริ่มพิจารณากันดูเลยแล้วกันนะครับ
สมมุติว่า วันนี้อาหารเช้าของเราคือไก่ทอดฝีมือคุณแม่ เราก็จะพิจารณาไก่ทอดนี่แหละครับ... ที่ผมจะทำก็คือ จะมองย้อนกลับไปว่า ไก่ทอดนี้ได้แต่ใดมา ก่อนที่จะลงกระทะกลายเป็นไก่ทอดสีทองหอมฉุย มันคือไก่สดสีชมพูซีดบนเขียงขายเนื้อในตลาด และก่อนหน้านั้นก็เป็นไก่ที่ร้องกระโต๊กกระต๊ากในฟาร์ม ลูกไก่ที่โตขึ้นมาเป็นไก่ที่โตพอจะเข้าโรงฆ่าสัตว์ได้ ก็เพราะได้กินอาหาร (สมมุติว่าคือข้าวเปลือก) ข้าวเปลือกที่กลายมาเป็นส่วนประกอบของไก่ ก็มาจากต้นข้าวในนา และที่โตขึ้นมาจนออกรวง มีเมล็ดได้ ก็เพราะต้นข้าวได้รับปุ๋ย น้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ และแสงแดด และเกิดกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (photosynthesis) เปลี่ยนของเสียจากสิ่งมีชีวิตคือคาร์บอนไดออกไซด์และพลังงานจากแสงอาทิตย์ไปเป็นน้ำตาล และสะสมเป็นแป้งในเมล็ดข้าว นอกจากนี้สารอาหารสะสมอย่างอื่นในพืชอย่างต้นข้าวนี้ ยังอาจได้มาจากการเปลี่ยนสารเคมีที่สัตว์โดยปกติใช้ไม่ได้ เช่น จากสารไนโตรเจนอนินทรีย์ ไปเป็นสารอินทรีย์ที่มีประโยชน์ เช่น โปรตีน จะเห็นว่าการกินกันเป็นทอดๆ จากต้นข้าว เมล็ดข้าว จนถึงไก่ทอดนั้น คือ กระบวนการถ่ายทอดพลังงานและถ่ายโอนสารเคมีในห่วงโซ่อาหาร (food chain) ในระบบนิเวศโดยมีข้าวเป็นผู้ผลิต (producer) ไก่เป็นผู้บริโภคลำดับที่หนึ่ง (primary consumer) และ เรา เป็นผู้บริโภคลำดับที่สอง (secondary consumer) นั่นเอง
นี่คือที่มาของไก่ทอดที่วางอยู่ตรงหน้าเรา ทีนี้ดูกันต่อว่า ที่ไปของไก่ทอดชิ้นนี้จะ จะเป็นอย่างไรก่อนจะเข้าปาก ภาพสุดท้ายที่เราเห็นอาจจะเป็นไก่ทอดที่ยังเป็นชิ้นสวยงาม หลังจากนั้นไก่ก็จะถูกฉีกเป็นชิ้นเล็กลงและนุ่มเละ โดยกระบวนการย่อยเชิงกลในปากเคล้ากับน้ำลาย เมื่อก้อนไก่เดินทางผ่านหลอดอาหารจนถึงกระเพาะ ก็จะถูกย่อยต่อในสภาวะที่เป็นกรดสูง ก่อนที่จะส่งต่อไปยังลำไส้เล็กซึ่งเป็นบริเวณที่สารอาหารที่ย่อยได้ ส่วนใหญ่จะถูกย่อยและดูดซึม หากอาหารมีกากใย ส่วนที่ย่อยไม่ได้นี้ก็จะเคลื่อนไปยังลำไส้ใหญ่ กากอาหารซึ่งใกล้จะถูกขับออกจากร่างกายเต็มทีนี้ จะถูกดูดซึมเอาน้ำที่เหลืออยู่กลับเข้าร่างกาย ในขณะเดียวกันก็จะถูกอัดตัวเข้า จนเมื่อถึงเวลา ก็จะถูกขับออกจากร่างกายไปในที่สุด
ย้อนกลับไปที่อาหารส่วนที่ย่อยได้กันนะครับ สำหรับส่วนนี้เมื่อถูกย่อยจนมีโมเลกุลเล็กลงแล้ว จะถูกดูดซึมผ่านเนื้อเยื่อดูดซึม เช่น ที่ลำไส้เล็ก เข้าสู่กระแสเลือด และส่วนใหญ่จะไหลเวียนสูบฉีดไปยังส่วนต่างๆ ตามแรงบีบตัวของหัวใจ เพื่อแจกจ่ายให้กับหน่วยที่เล็กที่สุดของชีวิตนั่นคือ เซลล์ (cell) จำนวนมหาศาลทั่วร่างกาย แม้จะเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด แต่ที่นี่มีกิจกรรม (metabolism) ต่างๆ มากมายเกิดขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ใช้อาหารเป็นวัตถุดิบทั้งสิ้น กิจกรรมเหล่านี้ อาจแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือการสลายอาหารให้ได้พลังงาน (catabolism) และการเปลี่ยนอาหารไปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ (anabolism) เช่น ฮอร์โมน อาหารสะสม หรือองค์ประกอบของเซลล์ใหม่ที่สังเคราะห์เพิ่มขึ้นเพื่อการซ่อมแซมตัวเอง การเจริญเติบโต หรือการแบ่งตัว เป็นต้น เพื่อนๆ จะเห็นว่ามวลอาหารที่เซลล์ได้รับ จำนวนหนึ่งกลายไปเป็นส่วนประกอบของเซลล์ ของร่างกายเรา แต่ก็มีส่วนหนึ่งเช่นกันที่สุดท้ายจะกลายไปเป็นสิ่งที่ร่างกายไม่ต้องการอีกต่อไป เป็นของเสียที่ร่างกายต้องกำจัดออก คาร์บอนไดออกไซด์เป็นหนึ่งในจำนวนของเสีย เหล่านั้น ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเผาผลาญอาหารให้ได้พลังงาน เมื่อเกิดขึ้นก็จะถูกขับออกสู่กระแสเลือด เพื่อลำเลียงไปยังปอดและถูกปลดปล่อยออกไปกับลมหายใจออก สำหรับของเสียอื่นๆ เช่น เกลือส่วนเกิน เซลล์จะขับออกสู่กระแสเลือดเช่นกัน แต่สุดท้ายจะถูกส่งไปคัดแยกออกที่ไต แล้วขับถ่ายออกสู่สิ่งแวดล้อมในรูปของปัสสาวะและเหงื่อ
ย้อนกลับไปที่อาหารส่วนที่กลายไปเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเราครับ แม้กระนั้น วันหนึ่งของที่สะสมในร่างกายเหล่านี้จะกลายไปเป็นของเสียเช่นกัน ไม่ต้องรอให้ถึงวันที่ร่างกายนี้ตายแล้วเน่าเปื่อย แม้ในขณะที่ชีวิตของเราดำเนินไป ก็มีเซลล์ตายลงอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเกิดควบคู่กับการเกิดขึ้นของเซลล์ใหม่ และเซลล์ที่ตายนี้เอง ก็คือของเสียของร่างกาย ซึ่งในที่สุดก็จะถูกขับออกสู่สิ่งแวดล้อมตามกระบวนการที่กล่าวมาข้างต้น หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวันของเราเองจะเห็นว่า ชิ้นส่วนของร่างกายก็มีการหลุดร่วง ลอก ออกไปได้ เช่น ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง ชิ้นส่วนของร่างกายเหล่านี้ ที่ครั้งหนึ่งก็คืออาหารที่เรารับประทาน สุดท้ายก็กลับไปเป็นซากอินทรีย์ คืนสู่โลกภายนอกอีกเช่นกันจะเห็นได้ว่า จากไก่ทอดที่วางอยู่บนจานสวยงาม หรือแม้จะเป็นอาหารชั้นเลิศอื่นใด ย่อมกลายเป็นอุจจาระ ปัสสาวะคาร์บอนไดออกไซด์ความร้อน หรือชิ้นส่วนของร่ายการที่หลุดร่วงไปในวันใดวันหนึ่งทางใดทางหนึ่ง ในเวลาต่อมา ของเสีย ซากอินทรีย์ที่กลับคืนสู่ดิน หรือไหลลงสู่น้ำนี้ เมื่อถูกย่อยสลายเปลี่ยนแปลงอีกทอดโดยจุลินทรีย์ เช่น เชื้อรา หรือแบคทีเรีย ก็จะกลับกลายไปเป็นก๊าซที่หลุดลอยไปกับอากาศ เช่น คาร์บอน-ไดออกไซด์ หรือกลายไปเป็นปุ๋ยในดินหรือน้ำ จะเห็นได้ว่าที่สุดของวงจรของเสียหรือชิ้นส่วนร่างกายของเรา จะย้อนกลับไปเป็นวัตถุดิบ หรืออาหารของผู้ผลิต เช่น พืช หรือต้นข้าว ก่อนที่จะกลายมาเป็นข้าวเปลือกของไก่ อีกครั้งนั้นเอง
จากอาหารสู่ของเสีย จากของเสียสุดท้ายก็กลับไปเป็นอาหาร มวลสารต่างหมุนเวียนไปตามวิถีของมัน ไม่ว่าจุดจบของอาหารจะเป็นปฏิกูลเน่าเหม็นที่ใครไม่อาจจะรับได้ นั่นคือที่มาของอาหาร และไม่ว่าจะเป็นอาหารใด สุดท้ายมันย่อมกลายไปเป็นของที่ไม่มีใครอยากจะเก็บเอาไว้ชื่นชม หรือแม้เพียงอาหารเริ่มเข้าสู่ปาก หากคายออกมาเราก็จะพบความจริงว่า มันคือ กลุ่มอาหารที่ถูกบดขยี้รวมกัน ซึ่งจะลอดไปตามเครื่องใน และหากล้วงอาหารจากบริเวณต่างๆ ออกมาได้ ก็จะเห็นว่าจากก้อนอาหารในปาก ได้กลายเป็นกลุ่มอาหารผสมกรดในกระเพาะ เป็นอาหารเก่าในลำไส้ บูดเน่าหมักผสมกับแบคทีเรียประจำถิ่น เบียดไปตามลำไส้ พร้อมกับเปลี่ยนไปเป็นสิ่งที่หลายคนแทบไม่อยากจะเอาเนื้อตัวไปสัมผัส แต่ความจริงคือ หนึ่ง นี่คือแหล่งสารอาหารของร่างกาย และสอง ไม่ว่าจะเป็นไก่ทอดของแม่ ไก่ทอดหน้าปากซอย ไก่ทอดสูตรฮ่องเต้ หรือสูตรวิเศษไหนที่ ใครเฝ้าเสาะแสวงหาแย่งชิงมา มันก็คือก้อนพลังงาน ก้อนสารเคมี ซึ่งเมื่อเข้าปากแล้ว จะมีจุดจบเดียวกัน
เราได้อะไรจากการพิจารณาอาหาร อาจเป็นความสะเทือนสลดใจในความเป็นจริงของชีวิต ความจริงที่หลายคนเบือนหน้าหนี ไม่อยากรับรู้ แท้จริงแล้วอาหารก็มีเพียงเท่านี้ คือ เป็นกำลัง เป็นเนื้อเป็นหนังของกาย ความวิจิตรพิสดารอื่นใดของอาหาร ไม่ได้ทำให้เราขับถ่ายออกมาเป็นก้อนเงินก้อนทอง ไม่ได้มีความจำเป็นมากมายอะไร อาหารมีหน้าที่เพียงเท่านั้นคือ ทำให้ชีวิตดำเนินไปได้ แต่กระนั้นเมื่อเราหันมาพิจารณาและสำรวมในอาหารแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะกินอาหารอร่อยวิเศษสุด หรือหรูหราใดๆ ในโลกนี้ อีกไม่ได้ แต่เราตั้งอารมณ์ใจว่าเรากินตามมีตามได้ ได้อย่างดีก็กินอย่างดี ได้อย่างเลวก็กินอย่างเลว กินอย่างเข้าใจล่วงรู้ในอาหารและตัวเอง
นั่นคือ วิธีหนึ่งของการพิจารณาธรรมครับ ลานวัดลานวิทย์ฉบับนี้คงจะต้องจบลงเพียงเท่านี้ก่อนครับฉบับหน้าจะมีอะไรน่าสนใจ ต้องลองติดตามกันต่อไป และหากมีข้อเสนอแนะ ข้อสนทนา หรือมีวิธีการพิจารณาธรรมใด เอามาแบ่งปันกันได้หลังวัดที่
ขอขอบคุณบทความจาก วิชาการ.คอม
-
3354 วิทยาศาสตร์ ในการพิจารณาอาหาร /article-science/item/3354-2013-02-11-03-45-16เพิ่มในรายการโปรด