ปรับความคิด เปลี่ยนนิสัย ฝึกฝนสมอง
โดย :
Administrator
เมื่อ :
วันศุกร์, 15 กุมภาพันธ์ 2556
Hits
17427
ปรับความคิด เปลี่ยนนิสัย ฝึกฝนสมอง เรียนรู้ถึงวิธีการปรับฮอร์โมนที่มีผลต่ออารมณ์ในสมอง รวมถึงวิธีคิด เปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนความคิดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองที่ดีที่เราสรรหามาฝากกัน
เพราะมีงานวิจัยที่ศึกษาพบว่า เมื่อคนเราจินตนาการถึงเรื่องร้าย และเป็นคนเจ้าอารมณ์ เกรี้ยวกราด เสมอ หรือซึมเศร้าบ่อยๆ สมองส่วนซีรีบรัมและซีรีเบลลัม รวมถึงสมองซีกซ้าย (ซึ่งเกี่ยวข้องกับความจำและการคิดวิเคราะห์) จะยุบตัวลง ตรงกันข้าม เมื่อคนเราจินตนาการถึงเรื่องดี ความสุข ความภาคภูมิใจ และเป็นคนอารมณ์ดี ใจเย็น รอบคอบ สมองทั้งสามส่วนนั้นก็จะพองตัวขึ้น
คุณหมอเดเนียล จี. เอเมน ผู้เขียน หนังสือ Making a Good Brain Great จึงมีวิธีปรับฮอร์โมนที่มีผลต่ออารมณ์ในสมอง รวมถึงวิธีคิดของสมอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง ซึ่งเราสรรหามาฝากดังนี้
อย่าหลงเชื่อความคิดวูบแรก
เมื่อรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสแรกส่งข้อมูลมาถึงสมอง สมองจะเชื่อมโยงสิ่งทั้งหมดเหล่านี้เข้ากับประสบการณ์เดิมที่เคยเกิด เราจึงรู้สึกกับบางสถานการณ์หรือเรื่องราวตรงหน้ามากหรือน้อยเกินไป ซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อความเข้าใจผิดได้ทั้งสิ้น คุณหมอเอเมนกล่าวว่า ทางที่ดีที่สุด เราควรซักถามหา เหตุผลของสถานการณ์หรือเรื่องราวที่เพิ่งเกิดใหม่หมาด เพื่อบันทึกไว้เป็นข้อมูลในเชิงเหตุผลที่ถูก ต้องมากกว่าอารมณ์ความรู้สึกในทางลบ
เชื่อว่าความคิดของเรามีพลังพิเศษ
เมื่อเราคิดแต่ละครั้ง สมองจะปล่อยสารเคมีบางอย่างออกมา บางตอนในหนังสือ Making a Good Brain Great บอกว่า ถ้าคิดในทางบวกเป็นเรื่องสุข เป็นความหวัง สมองจะปล่อยสารเคมีที่ทำให้เรารู้สึกดี และระบบการทำงานของสมองก็จะมีประสิทธิภาพ ตรงกันข้าม ถ้าคิดในทางลบเป็นเรื่องผิดหวัง โศกเศร้าเสียใจ สมองจะปล่อยสารเคมีที่ทำให้อารมณ์เราบูดเน่า ย่ำแย่ และระบบการทำงานของสมองก็พานรวน ฉะนั้น ลองชี้ทิศทางให้สมองขับเคลื่อนไปด้วยพลังงานบวกดีกว่าค่ะ
ทันทีที่บังเกิดความคิดลบ ความสุขก็หมดลงโดยพลัน
ผู้คนจำนวนหนึ่งต้องทนทรมานกับความกดดัน กระวนกระวายใจ และวิตกกังวลอย่างหนัก นั่นเป็น เพราะเขาป่วยด้วยอาการ ANTs หรือ Automatic Negative Thoughts คนกลุ่มนี้มักตั้งใจและ จดจ่ออยู่กับแง่มุมด้านลบของสถานการณ์หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้น และความคิดแบบนี้มักจะดูดพลังชีวิตไปจากสมอง ถ้าใครมีอาการแบบนี้ ต้องพยายามพาตัวเองขึ้นมาจากกับดักหลุมดำในจิตใจที่ขุดไว้ เอง โดยวิธีง่ายๆ คือ ทันทีที่ความรู้สึกด้านลบบังเกิด รีบจรดดินสอปากกาเขียนสิ่งที่อยู่ในความคิด คุณจะพบความคิดไร้เหตุผลมากมายกำลังจู่โจมทำร้าย จากนั้นก็ใช้ความคิดบวกเข้ามาแทนที่และ เยียวยาจิตใจตนเอง คุณหมอเอเมนกล่าวว่า “จงทำลาย ANTs เปลี่ยนสมองกันเถอะ”
ลองหลอกตัวเองบ้าง
ทันทีที่สมองคิดในเชิงคาดหวัง สถานการณ์หรือเรื่องราวก็อาจเกิดขึ้นจริง โดยหากสมองคิดลบ สถานการณ์หรือเรื่องราวในทางลบก็เป็นจริง ตรงกันข้าม หากสมองคิดบวก สถานการณ์หรือเรื่องราวในทางบวกก็เกิดขึ้น กว่าศตวรรษที่จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรู้เรื่องนี้ จึงนำความคาดหวังในทางบวกมา ใช้บำบัดเยียวยาอาการเจ็บป่วยสารพัดโรค และเมื่อ150 ปีที่ผ่านมา ในการบำบัดผู้ป่วย แพทย์ต้องทำตัวเป็นกันเองกับคนไข้ และสร้างความคิดหลอก (placebo effect) ขึ้นมา ความคิดหลอกนี้คือการสร้างความคาดหวังและความหวังขึ้นมาระหว่างที่แพทย์กำลังบำบัดผู้ป่วย คุณหมอ ที. ฟินด์เลย์ จากประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “ทั้งพิธีกรรม ความศรัทธา และความกระตือรือร้น ล้วนแล้วแต่ สร้างพลังชีวิต” ในทางการแพทย์พบว่า การสร้างความคาดหวังและความหวังคือเครื่องมือสำคัญในการบำบัด ผู้ป่วย มีพลังถึงหนึ่งในสี่หรือสองในสามของการใช้มอร์ฟีนบำบัดอาการปวด และมีผู้ป่วยถึงหนึ่งในสามที่ใช้ความคิดหลอกแล้วได้ผล นั่นเป็นเพราะความคิดหลอกสามารถเปลี่ยนปฏิกิริยาและสารเคมีใน ร่างกายจากตัวร้ายกลายเป็นตัวดีได้จริง เมื่อร่างกายสบายขึ้น ระบบการทำงานของสมองก็เปลี่ยนไปในทางดี
สั่งสมองปรับนิสัย เพื่อให้สมหวัง
เราใช้สมองส่วนคอร์เท็กซ์เมื่อต้องวางแผนชีวิต โดยสมองส่วนนี้จะทำหน้าที่ในการหาข้อมูลและวิธี การ เพื่อให้แผนที่วางไว้สำเร็จลุล่วงได้ ฉะนั้นการตั้งเป้าหมายในชีวิตแล้วปรับเปลี่ยนนิสัยเพื่อให้ได้มา จึงเป็นเรื่องที่ทำได้จริง เมื่อสมองคิดอย่างไร สถานการณ์หรือเรื่องราวนั้นก็เกิดขึ้นได้ เมื่อความคิดสามารถกำหนดคุณภาพสมองได้ จึงควรคิดในสิ่งดี ก่ออารมณ์เบิกบาน สดชื่น แจ่มใส เพื่อระบบการทำงานของสมองที่ดี ส่งผลต่อคุณภาพสมองดีตลอดไป การทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันอาจก่ออันตรายต่อสมองไม่รู้ตัว เพื่อการมีสมองดีจึงต้องรู้จักปกป้องสมองทั้งทางตรงและทางอ้อม คือ ระวังอุบัติเหตุทางกาย-ทางใจ อยู่ห่างสารพิษเข้าไว้ และสลายพิษด้วยการนอนหลับอย่างเพียงพอ
ขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสารชีวจิต
ขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสารชีวจิต
คำสำคัญ
ปรับ,คิด,นิสัย,สมอง
ประเภท
Text
ลิขสิทธิ์
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
ผู้แต่ง หรือ เจ้าของผลงาน
Administrator
วิชา
วิทยาศาสตร์ทั่วไป
ระดับชั้น
ป.4, ป.5, ป.6, ม.1, ม.2, ม.3, ม.4, ม.5, ม.6
กลุ่มเป้าหมาย
ครู, นักเรียน, บุคคลทั่วไป
-
3363 ปรับความคิด เปลี่ยนนิสัย ฝึกฝนสมอง /article-science/item/3363-2013-02-15-06-05-43เพิ่มในรายการโปรด