พบการสื่อสารของสัตว์วิธีใหม่:ทำจมูกฟุดฟิด
โดย :
Administrator
เมื่อ :
วันจันทร์, 18 มีนาคม 2556
Hits
19018
การทำจมูกฟุดฟิด พฤติกรรมที่เรียกว่าแสนจะธรรมดาของสุนัข แมว และสัตว์อื่นๆ กลับเป็นวิธีการสื่อสารของ"หนู"ที่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะค้นพบใหม่เมื่อเร็วๆนี้
และการค้นพบนี้อาจเปิดทางให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าสมองส่วนใดที่มีส่วนกับการแปลความหมายของการสื่อสารและสมองส่วนใดที่ทำงานผิดปกติที่เป็นสาเหตุให้เกิดความผิดปกติด้านการสื่อสารกับสังคม นักวิจัยสังเกตมานานแล้วว่า สัตว์ทำจมูกฟุดฟิดคล้ายกับดมกลิ่นตัวอื่นเพื่ออะไรและอย่างไร แต่ล่าสุด ดร.ดาเนียล ดับเบิลยู. เวสสัน แห่งวิทยาลัยแพทย์ มหาวิทยาลัยเคสเวสเทิร์นรีเซิร์ฟ หัวหน้านักวิจัยได้ค้นพบว่า การที่หนูทำจมูกฟุดฟิดไปที่ตัวอื่นก็เพื่อการส่งสัญญาณลำดับชั้นทางสังคมและป้องกันพฤติกรรมรุนแรง โดยการค้นพบนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการ Current Biology แล้ว
ดร.เวสสัน ทำวิจัยต่อยอดจากงานเดิมเพื่อแสดงให้เห็นว่า หนูก็สามารถก่อสร้างลำดับชั้นทางสังคมที่ซับซ้อนได้เช่นเดียวกับมนุษย์ โดยนักวิจัยใช้วิธีการไร้สายเพื่อบันทึกและสังเกตพฤติกรรมที่พวกมันมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ดร.เวสสันพบว่า เมื่อหนูสองตัววิ่งเข้าหากัน ตัวหนึ่งจะสื่อสารความเป็นใหญ่โดยการทำจมูกฟุดฟิดถี่กว่าอีกตัวหนึ่ง ขณะที่ตัวที่ด้อยกว่าจะทำจมูกฟุดฟิดด้วยอัตราที่ต่ำกว่า ดร.เวสสันพบว่า ถ้าหนูตัวที่ด้อยกว่าไม่ได้ทำเช่นนั้น หนูตัวที่เด่นกว่าจะเริ่มก้าวร้าวต่อตัวอื่น
ดร.เวสสัน ตั้งทฤษฎีว่า หนูตัวที่เด่นกว่าจะแสดงสัญญาณ "หลีกเลี่ยงข้อขัดแย้ง" คล้ายกับกรณีที่ลิงตัวที่ใหญ่กว่าจะเดินเข้ามาในห้องแล้วก็ทุบหน้าอกให้เกิดเสียงดัง สัตว์ตัวที่เป็นลูกน้องก็อาจจะรู้สึกเกรงกลัวและมองไปทางอื่น หรือส่วนในกรณีของหนูนั้น หนูก็จะทำจมูกฟุดฟิดด้วยอัตราที่ต่ำลง "ความรู้ใหม่และการค้นพบที่เราเคยรู้กันอยู่แล้วนั้นแสดงให้เห็นว่า การที่สัตว์ตัวหนึ่งทำจมูกฟุดฟิดใส่ตัวอื่นนั้นมีความหมายในเรื่องสังคม" ดร.เวสสันชี้ "พฤติกรรมแบบนี้อาจจะสะท้อนกลไกการสื่สารของสัตว์หลายๆชนิด หลายๆสังคมก็เป็นได้ เหมือนกับว่าสัตว์เลี้ยของเราจะใช้กลยุทธ์การสื่อสารที่คล้ายๆกันต่อหน้าเราทุกวัน แต่เราแค่ไม่ได้ใช้วิธีนี้ เราเลยไม่ได้คิดว่ามันเป็นการสื่อสาร"
การค้นพบของ ดร.เวสสัน แสดงถึงการสื่อสารรูปแบบใหม่ของหนู นับตั้งแต่มีการค้นพบการสื่อสารโดยใช้เสียงความถี่อุลตราโซนิคเมื่อทศวรรษ 1970 ซึ่งงานวิจัยี้อาจจะนำไปสู่ความเข้าใจความผิดปกติทางโรคประสาทที่อาจกระทบต่อความสามารถของสมองในการรับรู้พฤติกรรมทางสังคม ปัจจุบัน ดร.เวสสัน กำลังศึกษาต่อไปว่าเพื่อให้เข้าใจว่า พฤติกรรมจะเปลี่ยนแปลงเช่นไร และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การสื่อสารรูปแบบใหม่จะทำให้เราสามารถอธิบายว่า สมองควบคุมพฤติกรรมทางสังคมที่ซับซ้อนได้อย่างไร
ขอขอบคุณบทความจาก วิชาการ.คอม
คำสำคัญ
สื่อ,สาร,สัตว์,จมูก
ประเภท
Text
ลิขสิทธิ์
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
ผู้แต่ง หรือ เจ้าของผลงาน
Administrator
วิชา
วิทยาศาสตร์ทั่วไป
ระดับชั้น
ป.4, ป.5, ป.6, ม.1, ม.2, ม.3, ม.4, ม.5, ม.6
กลุ่มเป้าหมาย
ครู, นักเรียน, บุคคลทั่วไป
-
3428 พบการสื่อสารของสัตว์วิธีใหม่:ทำจมูกฟุดฟิด /article-science/item/3428-2013-03-18-03-56-54เพิ่มในรายการโปรด