ไข้เลือดออก โรคร้ายฤดูฝน
ไข้เลือดออก โรคร้ายฤดูฝน
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกปี 2556 ข้อมูล ณ วันที่ 14 ส.ค. 56 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมรวมสูงถึง 99,452 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 154.74 ต่อแสนประชากรจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากปี 2555 ณ ช่วงเวลาเดียวกันร้อยละ 206.9 (3.1 เท่า) กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ 15-24 ปี (ร้อยละ 28.98) ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนักเรียน (ร้อยละ 50.31) จำนวนผู้ป่วยตาย 94 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.09 กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยตายสูงสุด คือ 15-24 ปี (ร้อยละ 27.66) ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน (ร้อยละ 51.06)
ความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกที่พบในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงในเอเซียอาคเนย์เกิด จากไวรัสเดงกี่ จึงเรียกชื่อว่า Dengue Haemorrhagic Fever (DHF)
การติดต่อ
มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โรคไข้เลือดออกติดต่อกันได้โดยมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ โดยยุงตัวเมียซึ่งกัดเวลากลางวันและดูดเลือดคนเป็นอาหาร จะกัดดูดเลือดผู้ป่วยซึ่งในระยะไข้สูงจะเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง เข้าไปอยู่ในเซลล์ที่ผนังกระเพาะ เพิ่มจำนวนมากขึ้นแล้วออกมาจากเซลล์ผนังกระเพาะ เดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลายพร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดในครั้งต่อไป ซึ่งระยะฟักตัวในยุงนี้ประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงตัวนี้ไปกัดคนอื่นอีก ก็จะปล่อยเชื้อไวรัสไปยังผู้ที่ถูกกัดได้ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคนและผ่านระยะฟักตัวนานประมาณ 5-8 วัน (สั้นที่สุด 3 วัน - นานที่สุด 15 วัน) ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคได้
อาการไข้เลือดออก
หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรค ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันได้ ตั้งแต่มีอาการคล้ายไข้เดงกี่ (dengue fever หรือ DF) ไปจนถึงมีอาการรุนแรงมากจนถึงช็อกและถึงเสียชีวิตได้ โรคไข้เลือดออกมีอาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ เรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลังดังนี้
1. ไข้สูงลอย 2-7 วัน
2. มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง
3. มีตับโต กดเจ็บ
4. มีภาวะการไหลเวียนล้มเหลว/ภาวะช็อก อาการไข้ ผู้ ป่วยโรคไข้เลือดออกทุกรายจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ไข้อาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส ซึ่งบางรายอาจมีชักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชักมาก่อน หรือในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง (flushed face) และตรวจดูคอก็อาจพบมี injected pharynx ได้ แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรืออาการไอ ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคจากโรคหัดในระยะแรกและโรคระบบทางเดินหายใจได้ เด็กโตอาจบ่นปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา ในระยะไข้นี้ อาการทางระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย คือ เบื่ออาหาร อาเจียน บางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งในระยะแรกจะปวดทั่วๆไปและอาจปวดที่ชายโครงขวาในระยะที่มีตับโต ส่วนใหญ่ไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน ประมาณร้อยละ 15 อาจมีไข้สูงนานเกิน 7 วัน
อาการเลือดออก ที่พบบ่อยที่สุดคือที่ผิวหนัง โดยจะตรวจพบว่าเส้นเลือดเปราะ แตกง่าย โดยการทำ tourniquet test ให้ผลบวกได้ตั้งแต่ 2-3 วันแรกของโรค ร่วมกับมีจุดเลือดออกเล็กๆกระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena)
ตับโต ส่วนใหญ่จะคลำพบตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย ตับจะนุ่มและกดเจ็บ เกิดภาวะช็อก ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง มีภาวะการไหลเวียนล้มเหลวเกิดขึ้น เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอด/ช่องท้องมาก เกิด hypovolemic shock ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆกับที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค (ถ้ามีไข้ 2 วัน) หรือเกิดวันที่ 8 ของโรค (ถ้ามีไข้ 7 วัน)
ต่อมาผู้ป่วยจะเริ่มแย่ลง เริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบา เร็ว ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกส่วนใหญ่จะมีความรู้สติ พูดรู้เรื่อง อาจบ่นกระหายน้ำ บางรายอาจมีอาการปวดท้องเกิดขึ้นอย่างกะทันหันก่อนเข้าสู่ภาวะช็อก ซึ่งบางครั้งอาจทำให้วินิจฉัยโรคผิดเป็นภาวะทางศัลยกรรม ภาวะช็อกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการแย่ลง รอบปากเขียว ผิวสีม่วง ตัวเย็นชืด จับชีพจรและวัดความดันไม่ได้ และจะเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมงหลังเริ่มมีภาวะช็อก
ขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะสำหรับเชื้อไข้เลือดออก การรักษาโรคนี้เป็นการรักษาตามอาการและประคับประคอง ซึ่งได้ผลดีถ้าให้การวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะแรก แพทย์ผู้รักษาจะต้องเข้าใจธรรมชาติของโรคและให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
พื้นที่ระบาดโรคไข้เลือดออก(Dengue Cluster Locations)
การดูแลรักษาผู้ป่วย
1. ในระยะไข้สูง บางรายอาจมีการชักได้ถ้าไข้สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีประวัติเคยชัก หรือในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน จำเป็นต้องให้ยาลดไข้ ควรใช้ยาพวกพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาพวกแอสไพริน เพราะจะทำให้เกร็ดเลือดเสียการทำงาน จะระคายกระเพาะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญอาจทำให้เกิด Reye syndrome ควรให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราวเวลาที่ไข้สูงเท่านั้น (เพื่อให้ไข้ที่สูงมากลดลงเหลือน้อยกว่า 39 องศาเซลเซียส) การใช้ยาลดไข้มากไปจะมีภาวะเป็นพิษต่อตับได้ ควรจะใช้การเช็ดตัวช่วยลดไข้ด้วย
2. ให้ผู้ป่วยได้น้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ทำให้ขาดน้ำและเกลือโซเดียมด้วย ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำผลไม้หรือ สารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) ในรายที่อาเจียนควรให้ดื่มครั้งละน้อยๆ และดื่มบ่อยๆ
3. จะต้องติดตามดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ตรวจพบและป้องกันภาวะช็อกได้ทันเวลา ช็อกมักจะเกิดพร้อมกับไข้ลดลงประมาณตั้งแต่วันที่ 3 ของการป่วยเป็นต้นไป ทั้งนี้แล้วแต่ระยะเวลาที่เป็นไข้ ถ้าไข้ 7 วันก็อาจช็อกวันที่ 8 ได้ ควรแนะนำให้พ่อแม่ทราบอาการนำของช็อก ซึ่งอาจจะมีอาการเบื่ออาหารมากขึ้น ไม่รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำเลย หรือมีอาการถ่ายปัสสาวะน้อยลง มีอาการปวดท้องอย่างกะทันหัน กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ควรแนะนำให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันทีที่มีอาการเหล่านี้
4. เมื่อผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ให้การรักษาได้ แพทย์จะตรวจเลือดดูปริมาณเกร็ดเลือดและ hematocrit และอาจนัดมาตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของเกร็ดเลือดและ hematocrit เป็นระยะๆ เพราะถ้าปริมาณเกร็ดเลือดเริ่มลดลงและ hematocrit เริ่มสูงขึ้น เป็นเครื่องชี้บ่งว่าน้ำเลือดรั่วออกจากเส้นเลือด และอาจจะช็อกได้ จำเป็นต้องให้สารน้ำชดเชย
5. โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องรับผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรกที่ยังมีไข้ สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยให้ยาไปรับประทาน และแนะนำให้ผู้ปกครองเฝ้าสังเกตอาการตามข้อ 3 หรือแพทย์นัดให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลเป็นระยะๆ โดยตรวจดูการเปลี่ยนแปลงตามข้อ 4 ถ้าผู้ป่วยมีอาการแสดงอาการช็อก ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลทุกราย และถือเป็นเรื่องรีบด่วนในการรักษา
การป้องกันโรคไข้เลือดออก
จนกระทั่งทุกวันนี้ยังไม่ยาที่ใช้รักษาไข้เลือดออก หรือวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดโดยป้องกันการแพร่ของยุง เท่าที่ผ่านมาการควบคุมยังได้ผลไม่ดี เนื่องจากเน้นเรื่องการทำลายยุงซึ่งสิ้นเปลืองงบประมาณ และการควบคุมยุงต้องทำเป็นบริเวณกว้าง การควบคุมที่จะให้ผลยั่งยืน ควรจะเน้นที่การควบคุมลูกน้ำ การควบคุมสามารถร่วมหน่วยงานราชการอื่น องค์กรเอกชน ท้องถิ่น ดังนั้นการควบคุมที่ดีต้องบูรณาการเอาหน่วยงานที่มีอยู่ และวิธีการต่างๆ (การควบคุมสิ่งแวดล้อม การใช้ทางชีวภาพ การใช้สารเคมี)
การควบคุมสิ่งแวดล้อม Environmental management
การควบคุมสิ่งแวดล้อมเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ยุงมีการขยายพันธุ์
- แทงค์ บ่อ กะละมัง ที่เก็บกักน้ำจะเป็นแหล่งที่ยุงออกไข่และกลายเป็นยุง ต้องมีฝาปิดและหมั่นตรวจสอบว่ามีลูกน้ำหรือไม่ - ให้ตรวจรอยรั่วของท่อน้ำ แทงค์น้ำหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับน้ำว่ารั่วหรือไม่ โดยเฉพาะฤดูฝน
- ตรวจสอบแจกัน ถ้วยรองขาโต๊ะ ต้องเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ สำหรับแจกันอาจจะใส่ทรายผสมลงไป ส่วยถ้วยรองขาโต๊ะให้ใส่เกลือเพื่อป้องกันลูกน้ำ
- มั่นตรวจสอบถาดรองน้ำที่ตู้เย็น หรือเครื่องปรับอากาศเพราะเป็นที่แพร่พันธ์ของยุง โดยเฉพาะถาดระบายน้ำของเครื่องปรับอากาศ ซึ่งออกแบบไม่ดี โดยรูระบายน้ำอยู่เหนือก้นถาดหลายเซ็นติเมตร ทำให้มีน้ำขังซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุง
- ตรวจรอบๆบ้านว่าแหล่งน้ำขังหรือไม่ ท่อระบายน้ำบนบนหลังคามีแองขังน้ำหรือไม่หากมีต้องจัดการ
- ขวดน้ำ กระป๋อง หรือภาชนะอื่นที่อาจจะเก็บขังน้ำ หากไม่ใช้ให้ใส่ถุงหรือฝังดินเพื่อไม่ให้น้ำขัง
- ยางเก่าที่ไม่ใช้ก็เป็นแหล่งขังน้ำได้เช่นกัน
- หากใครมีรัวไม้ หรือต้นไม้ที่มีรูกลวง ให้นำคอนกรีตเทใส่ปิดรู ต้นไผ่ต้องตัดตรงข้อและให้เทคอนกรีตปิแอ่งน้ำ
การป้องกันส่วนบุคคล
- ใส่เสื้อผ้าที่หนาพอสมควร ควรจะใส่เสื้อแขนขาว และการเกงขายาว เด็ดนักเรียนหญิงก็ควรใส่กางเกง
- การใช้ยาฆ่ายุง เช่น pyrethrum ก้อนสารเคมี
- การใช้กลิ่นกันยุงเช่น ตะไคร้ หรือสารเคมีอื่นๆ
- นอนในมุ้งลวด หรือมุ้ง
การควบคุมยุงโดยทางชีวะ
- เลี้ยงปลาในอ่างที่ปลูกต้นไม้ หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
- ใช้แบคทีเรียที่ผลิตสาร toxin ฆ่ายุงได้แก่เชื้อ Bacillus thuringiensis serotype H-14 (Bt.H-14) and Bacillus sphaericus (Bs)
- การใช้เครื่องมือดัดจับลูกน้ำซึ่งเคยใช้ได้ผลที่สนาบบินของสิงคโป แต่สำหรับกรณีประเทศไทยยังได้ผลไม่ดีเนื่องจากไม่สามารถควบคุมแหล่งน้ำธรรมชาติจึงยังมีการแพร่พันธ์ของยุง
การใช้สารเคมีในการควบคุม
- การใช้ยาฆ่าลูกน้ำ วิธีการนี้จะสิ้นเปลืองและไม่เหมาะที่จะใช้อย่างต่อเนื่อง วิธีการนี้จะเหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดและได้มีการสำรวจพบว่ามีความชุกของยุงมากกว่าปกติ
- Temephos 1% sand granules โดยการใส่ทรายที่มีสารเคมีนี้ตามอัตราส่วนที่กำหนดซึ่งไม่อัตรายต่อคน
- การใช้สารเคมีพ่นตามบ้านเพื่อฆ่ายุง วิธีการนี้ใช้ในประเทศเอเซียหลายประเทศมามากกว่า 20 ปี แต่จากสถิติของการระบาดไม่ได้ลดลงเลย การพ่นหมอกควันเป็นรูปอธรรมที่มองเห็นว่ารัฐบาลได้ทำอะไรเกี่ยวกับการระบาด แต่การพ่นหมอกควันไม่ได้ลดจำนวนประชากรของยุง ข้อเสียคือทำให้คนละเลยความปลอดภัย การพ่นหมอกควันจะมีประโยชน์ในกรณีที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก
การปฏิบัติเมื่อมีคนในบ้าน/ข้างบ้านเป็นไข้เลือดออก
- เนื่องจากไข้เลือดออกระบาดโดยมียุงเป็นตัวแพร่พันธ์ ดังนั้นเมื่อมีคนในบ้านหรือข้างบ้านเป็นไข้เลือดออก ควรจะบอกคนในบ้านหรือข้างบ้านว่ามีไข้เลือดออก
- แจ้งสาธารณสุขให้มาฉีดยาหมอกควันเพื่อฆ่ายุง
- ให้สมาชิกในครอบครัว ป้องกันการถูกยุงกัดโดยการป้องกันส่วนบุคคลดังกล่าวข้างต้น
- สำรวจภายในบ้าน รอบบ้าน รวมทั้งเพื่อนบ้านว่ามีแหล่งแพร่พันธ์ยุงหรือไม่ หากมีให้จัดการเสีย
- เฝ้าดูอาการของสมาชิกในบ้านหรือข้างบ้านว่ามีไข้หรือไม่ หากมีไข้ให้ระวังว่าอาจจะเป็นไข้เลือดออก
- ให้ผู้ป่วยนอนในมุ้งเพื่อป้องกันยุงกัด
ที่มา : สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
-
3695 ไข้เลือดออก โรคร้ายฤดูฝน /article-science/item/3695-2013-08-16-04-05-24เพิ่มในรายการโปรด