ทำไมเราจึงมักคิดไปเองว่าโทรศัพท์มือถือสั่นเตือน?
เคยไหม? ที่จู่ๆ ก็รู้สึกว่าโทรศัพท์มือถือที่ใส่ไว้ในกระเป๋าสั่นเหมือนใครโทรหาหรือมีข้อความแจ้งเตือน แต่พอหยิบออกมาดูปรากฏว่านิ่งสนิท ไม่มีเสียง ไม่สั่น ไม่มีใครติดต่อเข้ามา แล้วก็บอกตัวเองว่า สงสัยจะมโนไปเอง
ถ้าคุณเคย โปรดจงรู้ว่าคุณไม่ได้รู้สึกไปเองแค่คนเดียวหรอก มีคนจำนวนมากในโลกนี้ที่มีประสบการณ์คิดไปเองว่าโทรศัพท์สั่นเตือน
วิทยานิพนธ์ของ David Laramie ในปี 2007 เป็นงานวิจัยแรกๆ ที่มีการสำรวจและศึกษาพบว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ เคยมีอาการคิดไปเองว่าโทรศัพท์สั่นเตือนอย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งสร้างความฉงนสงสัย และจุดประกายให้ศึกษาประเด็นนี้กันมากขึ้น
ในปี 2012 ดิคชันนารี่ของ Macquarie ได้ประกาศให้คำว่า "Phantom Vibration Syndrome" ซึ่งเป็นศัพท์บัญญัติขึ้นมาเพื่อเรียกอาการนี้โดยเฉพาะ เป็นคำแห่งปี (Word of the Year)
มันสะท้อนให้เห็นว่าใครๆ ก็มีอาการนี้กันทั้งนั้น แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่รู้สักว่าเป็นปัญหากับการดำเนินชีวิต แต่ก็ชวนให้สงสัยว่า อะไรที่ทำให้คนที่มีสุขภาพจิตปกตีดีจำนวนมากมีอาการเหมือนกับ "ประสาทหลอน" (hallucination) เหมือนๆ กัน
Laramie อธิบายว่าปรากฏการณ์นี้ไม่เชิงว่าเป็นอาการประสาทหลอนเสียทีเดียว เพราะสมองของคุณเพียงแค่แปลความหมายสัญญาณบางอย่างผิดเพี้ยนไป สิ่งที่ทำให้คิดไปเองว่าโทรศัพท์สั่นเตือนเกิดจากปัจจัยภายนอก ต่างจากอาการประสาทหลอนที่ความรู้สึกและสัมผัสต่างๆ ถูกสร้างชึ้นมาในสมองล้วนๆ
เขาเสนอว่า Phantom Vibration Syndrome คือรูปแบบหนึ่งของปรากฏการณ์ "Pareidolia" หรือปรากฏการณ์ทางจิตที่เกิดขึ้นเมื่อเราได้รับรู้สิ่งเร้าที่ไม่ชัดเจน ไม่มีรูปแบบ แล้วสมองพยายามแปลความ ให้สัมพันธ์กับรูปแบบที่เคยมีประสบการณ์รับรู้มาก่อน ตัวอย่างของ pareidolia ที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น ภาพกระต่ายบนดวงจันทร์ ภาพใบหน้าคนจากภาพถ่ายพื้นผิวดาวอังคาร หรือแม้กระทั่งการเห็นใบหน้าคนจากแสงวูบวาบในภาพติดวิญญาณทั้งหลาย เป็นต้น สมองประมวลภาพหลุมบ่อบนพื้นผิวดาวที่ไม่มีรูปแบบแล้วจับคู่เข้ากับสิ่งที่เราคุ้นเคยเช่นหน้าคนหรือกระต่าย ทำให้เราเห็นภาพลวงตาว่าเป็นภาพกระต่ายบนดวงจันทร์
Pareidolia แบบเดียวกันนี้ สามารถเกิดขึ้นกับการรับรู้แรงสั่นสะเทือนที่ผิวหนังเช่นกัน พูดง่ายๆ คือ การที่เราคิดไปเองว่าโทรศัพท์สั่นเตือน เป็นเหมือนภาพลวงตาที่เกิดกับผิวหนัง สมองพยายามประมวลผลการรับรู้แรงสั่นสะเทือน การเสียดสีจากเสื้อผ้า ฯลฯ จากผิวหนังให้เข้ากับรูปแบบของประสบการณ์ที่คุ้นเคย ซึ่งก็คือเวลาที่โทรศัพท์สั่นแจ้งเตือนนั่นเอง
สำหรับคำอธิบายกลไกทางประสาทที่ละเอียดมากขึ้น Sliman Bensmaia นักประสาทวิทยาอธิบายว่า ที่ผิวหนังของเรามีประสาทตัวรับรู้แรงสั่นสะเทือนอยู่ 2 ชนิด เพื่อรับแรงสั่นสะเทือนในระดับที่ต่างกัน คือ Meissner’s corpuscles ทำหน้าทีรับแรงสั่นสะเทือความถี่ต่ำๆ และ Pacinian corpuscles รับแรงสั่นสะเทือนความถี่สูงๆ
การสั่นเตือนของโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่มีความถี่ประ 130-180 ครั้ง/วินาที ซึ่งอยู่ระหว่างจุดที่กระตุ้นตัวรับรู้แรงสั่นสะเทือน 2 ชนิดได้พอดี ดังนั้นการสั่นเตือนของมือถือจึงกระตุ้นตัวรับรู้แรงสั่นสะเทือนทั้ง 2 ชนิดพร้อมๆ กัน แต่กระตุ้น Pacinian corpuscles ในระดับที่มากกว่า ร่างกายและสมองของเราจะคุ้นเคยและจดจำ "รูปแบบ" ของการสั่นสะเทือนนี้ว่าเป็น "การแจ้งเตือนของโทรศัพท์"
ขณะที่คุณใส่โทรศัพท์มือถือไว้ในกระเป๋าและแนบติดกับตัว ในบางจังหวะที่เสื้อผ้าเสียดสี ถูไถไปกับผิวหนัง หรือมีแรงสั่นสะเทือนจากเสียง จากการสั่นของรถที่เรานั่งนั่ง มากระตุ้นตัวรับผิวหนังถูกด้วยแรงสั่นสะเทือนในลักษณะที่คล้ายคลึงกับรูปแบบที่คุ้นเคยมากพอ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงและสมองตีความว่ามันคือการสั่นแจ้งเตือนของโทรศัพท์ เป็นที่มาของการคิดไปเอง
นอกจากนี้ ในงานวิจัยของ Laramie ยังพบแนวโน้มที่ชี้ถึงปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเกิด Phantom Vibration Syndrome คืออายุ ดูเหมือนว่าคนที่อายุค่อนข้างน้อยจะพบประสบการณ์คิดไปเองว่าโทรศัพท์สั่นเตือนมากกว่า ซึ่งอาจอนุมานได้ว่าคนที่ใช้ชีวิตประจำวันอิงอยู่กับโทรศัพท์มือถือ ใช้โทรศัพท์หรือสังคมเครื่อข่ายในโทรศัพท์เป็นที่พึ่งทางใจมากกว่า มีแนวโน้มที่จะคิดไปเองว่าโทรศัพท์สั่นเตือนมากกว่า เพราะสมองคุ้นเคยและคาดหวังกับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว ซึ่งคนในช่วงอายุน้อยๆ (20-30 ปี) คือคนที่เติบโตขึ้นมาในยุคที่โทรศัพท์มือถือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันพอดี
ตอนนี้เราพอจะรู้เหตุผลที่ทำให้เราคิดไปเองแล้ว สำหรับคนรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาในชีวิตประจำวัน (มีอยู่ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็น) ข้อมูลเหล่านี้น่าจะช่วยให้จัดการกับอาการ Phantom Vibration Syndrome ได้ไม่ยาก เพราะหากคำอธิบายข้างต้นเป็นจริง เราน่าจะรู้สึกเหมือนว่าโทรศัพท์สั่นเตือนเฉพาะบริเวณที่เราใส่โทรศัพท์เอาไว้ และจะเป็นมากขึ้นถ้าเก็บไว้ในตำแหน่งที่มีการสั่นสะเทือนมากๆ เช่นกระเป๋ากางเกงที่จะมีการขยับเสียดสีจากการก้าวเดินมากกว่า ดังนั้นหากปิดระบบสั่นหรือย้ายไปไว้ที่เก็บโทรศัพท์มือถือไปไว้บริเวณอื่น สมองก็น่าจะเรียนรู้และหยุดการตรวจจับรูปแบบการสั่นสะเทือนลวงในระยะเวลาไม่นาน
อ้างอิง+เพิ่มเติม
http://www.wired.com/2014/09/whats-phantom-cellphone-vibrations/
http://en.wikipedia.org/wiki/Pareidolia
http://www.bmj.com/content/341/bmj.c6914
http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0747563212000799
http://www.npr.org/blogs/alltechconsidered/2013/09/30/226820044/phantom-phone-vibrations-so-common-they-ve-changed-our-brains
-
4402 ทำไมเราจึงมักคิดไปเองว่าโทรศัพท์มือถือสั่นเตือน? /article-science/item/4402-2014-10-12-15-12-56เพิ่มในรายการโปรด