ทำไม??เราถึงจำเหตุการณ์ในวัยเด็กไม่ได้
ทำไม??เราถึงจำเหตุการณ์ช่วงวัยเด็กเล็กไม่ได้เลย แต่พอโตขึ้นเราก็เริ่มจำรายละเอียดวัยต่างๆ ได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้เกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการระบบความจำของคนเรานั่นเอง
มีคนจำนวนน้อยมาก ที่จะจำเรื่องราวในวัยเด็กตอนอายุก่อน 4 ขวบได้ เพราะในวัยนี้ระบบความจำในสมองยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ยิ่งในช่วง 2 ปีแรก สมองส่วนฮิปโปแคมปัส (ส่วนที่สร้างความทรงจำระยะยาวและการเรียนรู้) และอะมิกดาลา(ส่วนที่สำคัญในการควบคุมระบบความจำ) เพิ่งเริ่มพัฒนาตามวัยค่ะ
- วันเกิดขวบแรก แทบจะไม่มีใครจำเหตุการณ์ได้เลยว่าตอนนั้นเป็นยังไง ทำอะไร นอนกี่โมง แม่อาบน้ำให้เรายังไง
- วันเกิดขวบที่สอง ช่วงนี้อาจจะจำรายละเอียดเล็กๆ ในด้านอารมณ์ความรู้สึกได้บ้าง แต่ความจำตรงนี้อยู่ได้ประมาณ 1-2 อาทิตย์หรือเดือนนึง จากนั้นก็จะค่อยๆ เลือนหายไป แล้วในที่สุดก็หายไปเลย กลายเป็นจำไม่ได้
ดังนั้นการที่จำอะไรในช่วงนั้นไม่ได้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เพราะสมองเราแทบจะบันทึกอะไรไว้ไม่ได้เลยนั่นเอง ทั้งความจำที่อาศัยประสบการณ์ (Episodic memory) และ การจำความหมาย (Semantic memory)
ช่วงที่เริ่มจดจำอะไรต่างๆ ได้บ้างแล้ว ก็คือ ตอนอายุประมาณ 4 ขวบ ระบบความจำจะพัฒนาอย่างเต็มที่ และนี่อาจเป็นเหตุผลด้วยว่าทำไมเราถึงต้องเริ่มเรียนกันในช่วงนี้ เราจะเริ่มจำเหตุการณ์ในห้องเรียนวัยอนุบาลได้บางเหตุการณ์ แต่ก็มีข้อแม้ว่า จำได้แค่ความทรงจำสั้นๆ เรื่องไม่ปะติดปะต่อ นึกได้เป็นเรื่องๆ ไป เช่น จำเพื่อนร่วมห้องได้ จำครูได้ จำวิธีไปโรงเรียนได้ จำได้ว่าเรียนแล้วได้นอนกลางวันด้วย แต่ประเภทที่ว่าจำรายละเอียดวันใดวันหนึ่งทั้งวันในวัยเด็ก หรือเรียงลำดับเหตุการณ์ ก็ยังเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้อยู่ดีค่ะ
ภาวะการจดจำได้ในเด็กทารก หมายถึง การจำได้ว่าเคยได้เห็นหรือเคยได้ยินอะไร ไม่ใช่แค่เคยทำแต่เพียงอย่างเดียว เมื่อเด็กอายุ 3-4 เดือน เด็กทารกจะสามารถจ้องมอง หรือเปล่งเสียง คล้ายกับว่าสนใจและมีความสนุกสนานเมื่อเราโชว์รูปหรือของต่างๆ รวมทั้งสามารถจำภาพดังกล่าวได้ในอีกหลายนาทีต่อมา ส่วนเด็กที่อายุ 5 เดือนขึ้นไปสามารถจำรูปภาพนั้นได้เกือบ 2 อาทิตย์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า การจำความได้ในทารกนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่สมองได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมใหม่ๆนั่นเอง ดังนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกมีความสนใจใฝ่รู้ในสิ่งใหม่ๆแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจจะเริ่มต้นโดยการลองเปลี่ยนที่วางของเล่นสลับไปสลับมาทุกๆ 2-3 อาทิตย์ เพราะของเล่นบางอย่างเมื่อเล่นนานๆเด็กอาจจะรู้สึกเบื่อ แต่เมื่อนำกลับมาเล่นอีกใน 2 อาทิตย์ต่อมา ก็อาจช่วยให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเล่นใหม่ได้
และมีความเชื่อที่ว่า เด็กจะจำความได้เมื่ออายุ 3 ปีขึ้นไป กลายเป็นสมมติฐานที่ผิดไปเสียแล้ว เมื่อมีนักประสาทชีววิทยาจาก Chicago Medical School ได้กล่าวไว้ในงานวิจัยเมื่อเกือบ 10 ปีก่อนว่า จริงๆแล้ว เด็กทารกมีความสามารถจะจดจำและนำข้อมูลกลับมาใช้ได้ประหนึ่งการเรียนรู้คือกลีบดอกกุหลาบ คือเป็นขั้นๆทีละชั้นและไม่ซับซ้อนมากนั่นเอง ซึ่งหมายความว่า กลีบกุหลาบชั้นในๆนั้นก็เหมือนความทรงจำที่ต้องใช้เวลาในการดึงกลับออกมานั่นเอง
ตัวอย่างเช่น เมื่อเด็กอายุ 2 เดือน เด็กสามารถจดจำจากจิตใต้สำนึกที่ว่า รางวัลจะมาพร้อมกับการกระทำบางอย่าง เด็กจะมีการลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆจนกระทั่งรู้อย่างแน่ชัดว่า การกระทำใดทำให้ได้รับรางวัลกันแน่ สมมติว่า ถ้าเราผูกเชือกที่ข้อเท้าเด็ก 2 เดือนไว้กับสายของลูกโป่ง เด็กจะรู้ได้เกือบจะทันทีว่าการถีบทำให้สายลูกโป่งนั้นเลื่อนออกจากข้อเท้าของตนเองได้ และยังคงจำได้ในวันหรือสองวันต่อมา เมื่อเด็กเห็นสายลูกโป่งซึ่งแม้จะไม่ได้ผูกไว้ที่ขา เด็กจะจำได้ทันทีว่าน่าจะต้องถีบขาตัวเอง ในขณะที่เด็ก 3 เดือนอาจจะจำทริกนี้ได้เป็นอาทิตย์ ส่วนเด็ก 6 เดือนสามารถจำได้ถึง 2 อาทิตย์เป็นต้น แต่ต้องเข้าใจว่า ความสามารถในการจดจำนี้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลและเฉพาะวิธีการ คือถ้าเปลี่ยนวิธีการผูกเชือกอาจทำให้เด็กลืมวิธีการในการแก้เชือกโดยเบื้องต้นได้
ความทรงจำในวัยเด็ก . . . อยู่ไหน
เจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ซิกมันด์ ฟรอยด์ เชื่อว่า การที่เราไม่สามารถจำเหตุการณ์ในวัยเด็กได้ เนื่องจากว่าความทรงจำในช่วงแรก ๆ ของเรานั้นโดนกดเอาไว้หรือไม่ก็ถูกแทนที่ด้วยความจำที่มากมายและซับซ้อนกว่า ในช่วงเวลาต่อมา และความทรงจำที่ถูกกดไว้นั้นก็ได้แสดงออกเป็นลักษณะตัวตนของเราเมื่อโตขึ้น
แต่มีการศึกษาเกี่ยวกับสมองที่พบว่าการที่เราไม่สามารถจดจำเรื่องราวในวัย ทารกได้เนื่องจากสมองที่เกี่ยวกับความทรงจำระยะยาวนั้นยังพัฒนาได้ไม่เต็ม ที่ แต่ทารกก็สามารถเรียนรู้และจดจำในช่วงเวลาสั้น ๆ ได้
การที่เราเรียนรู้และพัฒนาทักษะบางอย่างในช่วงวัยทารกไม่ว่าจะเป็นการนั่ง ยืน เดิน หรือส่งเสียงเพื่อการสื่อสารนั้น ต้องอาศัยความจำทั้งสิ้น นั่นคือจำว่าเดินอย่างไรหรือส่งเสียงอย่างไร ซึ่งเป็นเสมือนฐานที่ทำให้เราเติบโตและมีพัฒนาการต่อๆมาค่ะ
เราคงไม่สามารถจะจดจำเรื่องราวได้ทั้งหมด ดังนั้นหากได้เก็บความทรงจำที่ดีๆ ผ่านสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่าย หรือของที่ระลึกต่างๆ เมื่อย้อนกลับไป แม้จะจำเรื่องราวไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็จะทำให้เรื่องราวที่ผ่านมาเป็นความทรงจำที่ล้ำค่า และเป็นบทเรียนชีวิตที่ไม่อาจย้อนเวลากลับไปแก้ไขเรื่องราวได้
ขอขอบคุณข้อมุลจาก
http://women.kapook.com/view12266.html
https://doctorpariie.wordpress.com/2013/03/07/2/
http://www.il.mahidol.ac.th/e-media/nervous/4_2.htm
นิตยสาร Science Illustrated ฉบับ เดือนมกราคม 2557
(2557). จริงหรือที่ว่า...คนเราไม่สามารถจำเหตุการณ์ช่วงสี่ปีแรกของชีวิตได้. ไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด (Science Illustrated). 31, 25.
ขอขอบคุณรูปภาพจาก
ecmhc.org
http://taamkru.com/th/
-
4709 ทำไม??เราถึงจำเหตุการณ์ในวัยเด็กไม่ได้ /article-science/item/4709-2015-03-06-06-28-48เพิ่มในรายการโปรด