เกลือ...เค็มดีมีประโยชน์
ในประเทศไทยมีการทำนาเกลือกันมาตั้งแต่อดีตโดยทำกันตลอดแนวที่ราบชายฝั่งทะเล แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าทำกันมานานเท่าไร บนบกก็มีการตักน้ำเกลือจากแหล่งต่าง ๆ ที่มีเกลือสะสมอยู่ใต้ดินขึ้นมาต้มให้น้ำระเหย เหลือผลึกเกลืออยู่ วิธีนี้มีการทำมานานโดยมีหลักฐานว่ามีการเก็บภาษีเกลือในสมัยพระเจ้าติโลก ราช เมืองเชียงใหม่เมื่อประมาณพ.ศ. 1990 มาแล้ว ปัจจุบันก็ยังมีการต้มน้ำเกลือกันอยู่ เช่นที่บ้านบ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เป็นต้นแต่เกลือเหล่านี้ จะไม่มีส่วนประกอบของไอโอดีนซึ่งต่างจากเกลือสมุทร
ประโยชน์ที่แตกต่าง
ดีเกลือ เป็นของที่ใช้เป็นยาได้ อย่างดีเกลือฝรั่งหรือ “แมกนีเซียมซัลเฟต (Epsom salt)” นั้นมีฤทธิ์ช่วยระบายได้ เพราะมีแร่แมกนีเซียมเป็นตัวช่วย จึงใช้ในกระบวนการล้างพิษตับ แต่ไม่ควรกินเองในท่านที่มีปัญหาลำไส้นะครับเพราะมันอาจทำให้ถ่ายมากจนอันตรายได้ นอกจากนั้นบางท่านยังใช้ในการแช่น้ำอาบโดยใส่ดีเกลือที่ว่านี้ลงไปในอ่างอาบน้ำ
เกลือสมุทร เป็นเกลือทะเลที่ได้มาจากการระเหยเป็นไอของน้ำทะเล (น้ำเกลือธรรมชาติ) ซึ่งเกลือนี้มักมีราคาแพงกว่าเกลือแกงทั่วไป โดยเกลือที่ว่ามีที่มานอกจากสมุทรสาครยังมีแถวบ้านแหลมจังหวัดเพชรบุรีอีกด้วย โดยในน้ำทะเลนั้นมีแร่ธาตุธรรมชาติปนอยู่อย่างแมกนีเซียม, แคลเซียม,โพแทสเซียม,โบรไมด์, สตรอนเชียม และที่สำคัญคือ “ไอโอดีน” ซึ่งจำเป็นต่อต่อมไร้ท่อที่คอของเรามาก ซึ่งความมากน้อยของไอโอดีนที่ว่าขึ้นกับแหล่งที่มาของเกลือทะเลด้วย
เกลือสินเธาว์ ผลิตมาจาก “เกลือหิน (Rock salt)” ซึ่งเป็นเกลือที่อยู่บนผืนพิภพบนดินเรานี่เอง ชั่วแต่ครั้งหนึ่งนับล้านปีมาผืนดินที่ว่าเคยเป็นก้นทะเลมาก่อน จึงยังคงมีฟอสซิลเกลือซึมซาบอยู่ในเนื้อดิน พบได้แถบภาคอีสานที่ครั้งหนึ่งเคยมีผืนมหาสมุทรโบราณหลากอยู่ซึ่งกระบวนการผลิตเกลือสินเธาว์นั้น มีกรรมวิธีในการแยกมันออกมาจากเพื่อนของมันที่ชื่อเกลือโพแทส ส่วนการใช้ประโยชน์นั้นเกลือหินมักไม่ใช้กับของกิน (ส่วนหนึ่งเพราะมันไม่มีไอโอดีนเหมือนเกลือสมุทรด้วย) แต่ใช้กับกระบวนการอุตสาหกรรมเช่นทำโซดาไฟ (NaOH) รวมถึงการใช้ละลายหิมะบนทางเท้าในต่างประเทศด้วย
ดอกเกลือ จัดอยู่ในกลุ่ม “เกลือสมุทร (Sea salt)” ซึ่งเกลือชนิดนี้เป็นเกลือพิเศษ ได้ชื่อเล่นว่า “คาเวียร์ (Caviar of sea salt)” โดยมันมาจากการอิ่มตัวยิ่งยวดจนลอยฉาบหน้าอยู่บนนาเกลือ หน้าตาคล้ายดอกไม้บานที่ลอยอยู่ (Fleur de Sel) ยิ่งถิ่นใดมีธาตุเหล็กปนอยู่แยะจะให้ดอกเกลือสีชมพูสวย ดอกเกลือจะให้รสชาติเค็มนวลๆ ที่กลมกล่อมและสุขุม
เกลือใช้ดอง เกลือชนิดนี้ฝรั่งเรียกตรงๆว่า “พิกกลิ้ง ซอลต์ (Pickling Salt)” ซึ่งเป็นเกลือที่เหมาะกับ “คนดี” เพราะมันรักษาความเค็มได้ดียิ่งด้วยเกลือดองให้รสเค็มจัดเข้มข้นมากดังนั้นการใช้จึงต้องระวังปริมาณให้ดี ซึ่งในท่านที่มีโรคต้องจำกัดเค็มอย่างโรคไตจึงควรให้จำกัดปริมาณเกลือชนิดนี้และของหมักดองในน้ำเกลือ (Brine) ไว้ เพราะมันมีผลทำให้ “ไตเสื่อม” ลงเร็วได้ เกลือดองก็ไม่เหมาะที่จะเป็นตัวเลือกเพราะมันไม่มีไอโอดีน
เกลือตัวผู้ คือ “เกลือเม็ด” หมอแผนไทยเรียกว่า “เกลือตัวผู้” ในการทำประคบหม้อเกลือซึ่งเกลือตัวผู้ก็คือ เกลือเม็ดยาวที่มีปลายแหลม แท้จริงแล้วคือ โซเดียมคลอไรด์เหมือนกับสหายเกลือชนิดอื่น แต่ด้วยรูปร่างที่หล่อเหลามีเหลี่ยมมุมนี้เองที่ทำให้มันพิเศษ โดยเกลือตัวผู้นี้ทางแพทย์ไทยท่านใช้แทรกยาในตำรับบำบัดโรคต่างๆ อย่างท้องมาน, แก้ดีพิการไปจนถึงใช้กรีดฝีเย็บทำคลอดแทนมีดหมอ (Scalpel) ในสมัยก่อนโดยหมอตำแยจะเลือกเกลือตัวผู้ที่มีแง่งคมที่สุดครับ
เทคนิคแก้เกลือจับเป็นก้อน (Anticaking) ฝากไว้โดยให้ใส่เมล็ดข้าวสารลงไปสักเล็กน้อยจะช่วยได้
จะเห็นว่าเกลือเป็นตัวให้รสชาติที่สำคัญ แต่ก็ควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะพอดี เพราะถ้าทานเค็มมากเกินไปก็มีผลกับไตและอาจจะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ ก็ควรปรุงรสแบบพอดีด้วยนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
www.tsc.co.th
www.agri.kmitl.ac.th
http://fieldtrip.ipst.ac.th/intro_sub_content.php?content_id=7&content_folder_id=83
http://www.manager.co.th/
http://www.thailovehealth.com/
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
-
6661 เกลือ...เค็มดีมีประโยชน์ /article-science/item/6661-2016-09-15-08-46-37เพิ่มในรายการโปรด