เหงื่อออกแบบไหน! ถือเป็นสัญญาณเตือน
เหงื่อออกแบบไหน!! ถือเป็นสัญญาเตือน
เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงมีประสบการณ์อาการเหงื่อออก ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นอุณภูมิที่สูงเกินไปหรืออาจเป็นเพราะปัจจัยต่างๆ อาการเหงื่อออกนั้น เป็นเรื่องปกติของกระบวนการในร่างกายคนเราที่ขับของเสียออกมาในรูปแบบของ เหงื่อ ดังนั้น เราควรจะต้องมาทำความรู้จักกับเหงื่อกันก่อน
เหงื่อ (Sweat gland) มี 2 ชนิดด้วยกัน คือ
1. ชนิดที่สร้างจากต่อม Eccrine (Eccrine sweat gland) ซึ่งนอกจากจะไม่สร้างเหงื่อที่ก่อให้เกิดกลิ่นกายแล้ว ต่อมนี้ยังกระจายอยู่มากมายทั่วทั้งร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือ และฝ่าเท้า ยกเว้นที่ริมฝีปาก ปลายอวัยวะเพศชาย และบริเวณปุ่มกระสัน(Clitoris) ของอวัยวะเพศหญิง
2. ชนิดสร้างจากต่อม Apocrine(Apocrine sweat gland) ซึ่งทำให้เกิดกลิ่นตัว และต่อมนี้จะเริ่มทำงานในช่วงเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น อีกทั้งมีอยู่เฉพาะจุด ได้แก่ บริเวณรักแร้ อวัยวะเพศภายนอก และบริเวณรอบ ๆ ทวารหนัก
อย่างไรก็ตามปัจจุบันพบต่อมเหงื่ออีกชนิดที่เรียกว่า ต่อม Apoeccrine (Apoeccrine sweat gland) เป็นต่อมมีเฉพาะที่รักแร้ และเริ่มทำงาน เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นเช่นกัน มีลักษณะคล้ายทั้ง ๒ ต่อมที่กล่าวไปแล้ว แต่จะสร้างเหงื่อได้คล้ายกับต่อม Eccrine แต่มีปริมาณมากกว่าถึง 10 เท่า และพบจำนวนต่อมได้มากกว่าคนทั่วไปมากเมื่อมีภาวะหลั่งเหงื่อมากในบริเวณรักแร้
เหงื่อภาวะปกติ สามารถพบได้ในช่วงมีการออกกำลังกาย อากาศร้อน/อบอ้าว กินอาหารเผ็ด/อาหารร้อน ตื่นเต้น เครียด หรือมีไข้ และภาวะหลั่งเหงื่อมาก ก็เป็นภาวะที่พบได้บ่อย แม้จะไม่มีสถิติรองรับ แต่ได้มีการประมาณว่า ประชากรทั้งหมดสามารถพบภาวะนี้ได้ประมาณ 0.6 – 1% ได้ทุกเพศทุกวัยเท่าๆ กัน หากแบ่งลักษณะเหงื่อออกได้เป็น2 ประเภท ดังนี้
1.เหงื่อออกทั้งตัว
เหงื่อออกทั้งตัวหรือที่เรามักเรียกกันว่า “เหงื่อแตก” นั้น อาจจะมีปัจจัยมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะมาจากความร้อนที่เข้าไปทำร้ายร่างกาย เมตาโบลิซึมที่สูงขึ้น หรืออารมณ์ตื่นเต้น ก็อาจทำให้มีเหงื่อออกได้เช่นกัน
โรคบางโรคก็ทำให้เหงื่อออกทั้งตัวได้ เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ ไฮเปอร์ โรคเบาหวาน แม้กระทั่งโรคที่สาวๆ มักจะกลัวกันคือโรควัยทอง
2.เหงื่อเฉพาะที่
เหงื่อออกเฉพาะที่ ตามหลักแพทย์ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดจากอะไร อาจจะเกิดจากต่อมเหงื่อบริเวณนั้นทำงานผิดปกติ แต่ตามหลักแพทย์แผนจีนนั้น เราแบ่งออกได้ดังนี้
1.เหงื่อออกตอนกลางวัน
อยู่ดีๆ ไม่ได้ทำอะไรเลยเหงื่อก็ไหลเอง เหงื่อแบบนี้มาจากม้ามที่อยู่ในร่างกายเราพร่อง หรืออ่อนแอ การบำรุงม้ามจะช่วยหยุดเหงื่อได้หน่อย จากนั้นแล้วอาการก็จะดีขึ้นตามลำดับ
2.เหงื่อออกตอนกลางคืน
เป็นเหงื่อที่ออกตอนนอน ตื่นเช้ามาก็ไม่มีแล้ว ทางแพทย์จีนคืออาการของหยินพร่อง หมายถึงหยินน้อย ซึ่งต้องบำรุงหยิน โดยทางที่ดีให้ไปปรึกษากับหมอผู้เชี่ยวชาญ
3.เหงื่อออกที่รักแร้มากเกินไป
เหงื่อออกที่รักแร้เป็นปัญหาสำหรับเราอย่างมาก ถ้ามีกลิ่นด้วยจะทำให้ยิ่งเสียความมั่นใจ เหงื่อบริเวณรักแร้มากผิดปกตินั้นอาจเกิดมาจากต่อมเหงื่อผลิตเหงื่อมากเกิน ไป หรือว่าเรารับประทานอาหารมากเกินไป อันนี้มีวิธีแก้ ก็คือ อาจจะงดอาหารที่รสจัดเกิดไป เช่น กระเทียม เครื่องเทศต่างๆ แต่ตามหลักแพทย์แผนจีนอาจจะมีสาเหตุมาจากหัวใจร้อน หรือหัวใจพร่อง เพราะเส้นลมปราณจุดแรกของหัวใจก็มาจากรักแร้นั้นเอง ความเครียดก็เป็นผลทำให้เหงื่อออกเยอะเช่นกัน อย่างเช่น ตอนเข้าห้องสอบ หรือสัมภาษณ์งาน เป็นต้น เพราะหมอก็เคยเป็นเช่นกัน
4.เหงื่อออกบริเวณรอบอวัยวะเพศ
หลายคนมีอาการนี้ เหงื่อออกบริเวณอวัยวะเพศมากเกินไปนั้นจะทำให้เกิดการหมักหมนและมีกลิ่น เกิดมาจากความร้อนชื้นอยู่ด้านล่าง ทำให้มีอาการหลายอย่างตามมา เช่น คันบริเวณอวัยวะเพศ อวัยวะเพศมีกลิ่นแรงไม่พึงประสงค์ ทางที่ดีควรมาพบแพทย์ดีกว่าครับ เพราะการรักษาความชื้นค่อนข้างยากหน่อย บางคนอาจจะมีอาการของต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากอักเสบ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็เป็นสาเหตุ ทำให้เกิดเหงื่อออกที่อวัยวะเพศได้เช่นกัน
5.เหงื่อออกที่มือเท้า
หลายคนถามผมว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ แต่ไปตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ก็ไม่เห็นมีอะไรเลย หมอบอกว่าปกติ แต่ตามหลักแพทย์จีนนั้นมาจากหลายสาเหตุ เช่น กระเพาะและม้ามร้อนชื้น จากการรักษาทางคลินิกที่หมอพบเจอ อาจจะเกิดจากภายในมีความร้อนชื้นสูงก็ทำให้เหงื่อโดนขับออกตามมือตามเท้าได้ และอีกอย่างคือ ม้ามพร่องก็อาจจะทำให้เหงื่อออกตามมือตามเท้าได้เช่นกัน เพราะม้ามควบคุมกล้ามเนื้อมือและเท้า
ทั้งหมดนี้ เป็นอาการเกี่ยวกับเหงื่อบอกโรคเบื้องต้น ซึ่งหมอหวังให้ประชาชนหรือผู้ที่สนใจ มีความรู้เกี่ยวกับด้านเหงื่อมากขึ้น และไม่ต้องกระวนกระวายคิดว่าฉันจะเป็นโรคอะไร สุดท้ายไม่ว่าเราจะมีอาการแปลกๆ อย่างไร จงอย่านิ่งนอนใจ ควรไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และทำการรักษาต่อไปจะดีกว่า
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.tartoh.com/
http://www.thaijobsgov.com/jobs/61544
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
-
6721 เหงื่อออกแบบไหน! ถือเป็นสัญญาณเตือน /article-science/item/6721-2017-03-03-09-29-18เพิ่มในรายการโปรด