ถึงเวลาที่ต้องเลิกใช้ไม้พันสำลีปั่นหูแล้วหรือยัง?
หากคุณเป็นหนึ่งคนที่มีนิสัยชอบใช้ไม้พันสำลีทำความสะอาดภายในรูหู ควรหยุดพฤติกรรมเหล่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้หูของคุณเกิดความเสียหาย
ไม้พันสำลี หรือคัตตอนบัต (Cotton bud) ที่ถูกเรียกกันติดปากนั้น ถูกพัฒนาขึ้นในปี พ.ศ. 2466 โดย Leo Gerstenzang หลังจากที่เขาได้เห็นภรรยาใช้ผ้าฝ้ายพันกับไม้จิ้มฟันเพื่อทำความสะอาดรูหูของเด็กทารก เขาจึงได้พัฒนาไม้พันสำลีที่มีความปลอดภัยมากกว่าขึ้น โดยผลิตภัณฑ์แรกใช้ชื่อภายใต้ชื่อทางการค้าว่า Q-tips Baby Gays (Q หมายถึง quality) ซึ่ง Q-tips ก็เป็นที่รู้จักกันมาจนถึงปัจจุบัน แต่ต่อมาเริ่มมีความกังวลทางการแพทย์เกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ชนิดนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2515 เมื่อมีการรายงานพบผู้ป่วยเยื่อแก้วหูทะลุ (Tympanic membrane perforation) หูชั้นนอกอักเสบ (Otitis externa) และอาการขี้หูตัน (Cerumen impaction) จากการใช้ผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิตจึงได้มีการแนะนำให้ใช้แต่ในบริเวณช่องหูด้านนอก อย่างไรก็ตามการใช้ไม้พันสำลีก็ยังเป็นสาเหตุหลักของการบาดเจ็บที่หู
ภาพที่ 1 การโฆษณาผลิตภัณฑ์ Q-tips ในช่วงปี ค.ศ. 1980 โดยนักแสดง Betty White
ที่มา independent.co.uk
หูของมนุษย์ทุกคนได้รับการออกแบบมาให้สามารถทำความสะอาดตัวเองได้จากการกระบวนการต่างๆ เช่น การเคี้ยว การเคลื่อนไหวของขากรรไกร และการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนัง ที่จะช่วยให้ขี้หูค่อยๆ เคลื่อนที่ออกมา ก่อนจะแห้งแข็ง แล้วหลุดออกจากหู แต่อย่างไรก็ตามบางครั้งกระบวนการเหล่านั้นอาจไม่ได้ผลสำหรับคนที่มีพฤติกรรมชอบปั่นหูด้วยไม้พันสำลี เพราะแทนที่มันจะหลุดออกมาเองโดยธรรมชาติ เรากลับดันขี้หูกลับเข้าไปจนสร้างความเสียหายภายใน
ภาพที่ 2 โครงสร้างภายในช่องหู
ที่มา American Academy of Otolaryngology
ขี้หู ไม่ใช่สิ่งสวยงามที่น่านึกถึง แต่การรักษาหูก็เป็นเรื่องสำคัญ สารที่คนเราคิดว่าไม่มีความจำเป็น ทั้งยังจ้องจะกำจัดออกจากหูนั้น ที่จริงแล้วมีประโยชน์ในการช่วยให้ภายในรูหูไม่แห้งจนเกินไป และยังคงชุ่มชื้นอย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งยังช่วยป้องกันสิ่งสกปรกไม่ให้สามารถเข้าไปภายในหูชั้นในได้ด้วย
เรามักคิดว่า การกำจัดขี้หูนั้นเป็นการป้องกันสิ่งที่จะมารบกวนการได้ยิน จึงทำความสะอาดด้วยคัตตอนบัต ชายเสื้อ คลิปหนีบกระดาษ ขนนก หรือแม้กระทั่งบุหรี่ และอีกหลากหลายสิ่งที่คนจะสามารถนำมันเข้าไปในรูหูได้ ปัญหาคือการทำความสะอาดด้วยอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านั้นสร้างปัญหาขี้หูอุดตันรูหู และอาจติดเชื้อจนสร้างความเสียหายให้กับช่องหูและแก้วหูได้ทั้งในแบบชั่วคราวคือ อาการหูอักเสบหรือหูอื้อ จนกระทั่งอาจทำให้หูบอดได้ ดังนั้นหากมีปัญหาจากการสูญเสียการได้ยิน ควรพบแพทย์เพื่อรักษาอาการได้อย่างถูกต้องแทนการใช้คัตตอนบัตสอดเข้าไปในรูหูจะเป็นการดีกว่า
แน่นอนว่าคัตตอนบัตต้องมีประโยชน์ในตัวมัน แต่ไม่ใช่ประโยชน์เพื่อการกำจัดขี้หูแน่นอน ซึ่งเราสามารถใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้เช่น ใช้ทำความสะอาดคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ ทำความสะอาดไดร์เป่าผม ทำความสะอาดฟันสัตว์เลี้ยงเช่น สุนัข แมว เป็นต้น
แหล่งที่มา
Jonathan C Hobson and Jeremy A Lavy (2005). Use and abuse of cotton buds. J R Soc Med. 98(8). 360 -361.
David Nield. 2017. Seriously Guys, It's Time to Stop Cleaning Your Ears With Cotton Buds.[Online]. [Cited 4 Jan 2017]. Available from : www.sciencealert.com/here-s-why-it-s-a-bad-idea-to-clean-your-ears-with-cotton-buds
Roberto A Ferdman. 2016. Cotton bud in ears: Why can’t we resist the temptation despite the warnings? [Cited 13 June 2002]. Available from : www.independent.co.uk/life-style/health-and-families/features/the-dangers-of-putting-cotton-buds-in-your-ear-why-cant-we-resist-the-temptation-despite-warnings-on-a6840251.html
-
7375 ถึงเวลาที่ต้องเลิกใช้ไม้พันสำลีปั่นหูแล้วหรือยัง? /article-science/item/7375-2017-07-20-07-05-02เพิ่มในรายการโปรด