ใคร ๆ ก็อยากได้โอโซน
16 กันยายน วันโอโซนสากล ร่วมรณรงค์ปกป้องพิทักษ์ชั้นบรรยากาศโอโซน โดยการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นโอโซน โอโซน ถูกค้นพบเมื่อ ค.ศ. 1840 โดยนักเคมีชาวเยอรมันชื่อ คริสเตียน เฟเดอริก ชอนไบน์ โดยตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า OZEIN ที่แปลว่า “ดม” ก๊าซโอโซนคืออะตอมของออกซิเจน 3 อะตอมรวมกันเป็น 1 โมเลกุลของโอโซน (O3) ตามปรกติออกซิเจนจะประกอบกันในลักษณะ 2 อะตอม เป็น 1 โมเลกุล (O2) ซึ่งมีคุณสมบัติต่างกันมากคือ O2 จะสามารถคงสภาพอยู่ได้หลายสภาวะ หรือ กล่าวได้ว่ามีความเสถียร (Stable) นั่นเอง แต่ก๊าซโอโซน (O3) จะไม่คงตัวหรือไม่เสถียร (Ustable) เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความร้อน ความดันและการสัมผัสกับสารที่มีพลังงานต่ำกว่าจะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) อย่างรวดเร็ว ซึ่ง O3 มีปฏิกิริยาสูงถึง 2.07 Volt (Oxidation Potential)
ภาพที่ 1 เขตพื้นที่โอโซน
ที่มา http://www.zmescience.com ,nh.gov
ภาพที่ 2 ภาพกระบวนการเกิดโอโซน
ที่มา http://www.ozoneinter.com
เชื่อว่าโอโซนในความเข้าใจของหลาย ๆ คน คงเข้าใจว่า โอโซน (O3) มีประโยชน์ต่อคนเราเป็นอย่างมาก ในความเป็นจริงแล้ว โอโซนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยโอโซนตามธรรมชาติในบรรยากาศสูง ๆ ระดับสูงกว่าพื้นดินมากกว่า 40 กิโลเมตรขึ้นไปจะเป็นโอโซนที่ดี ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันอันตรายจากรังสีอุลตร้าไวโอเลตซึ่งไม่เป็นพิษ ส่วนโอโซนที่ระดับอากาศที่เราหายใจ หรือสูงกว่าพื้นดินไม่เกิน 2 กิโลเมตรจะเป็น โอโซนที่ไม่ดี สิ่งที่ก่อให้เกิดโอโซนในระดับต่ำได้แก่ควันของรถยนต์ เป็นต้น
มาทำความรู้จักกับโอโซนที่ดี
โอโซนที่ดีหรือโอโซน ตามธรรมชาติ (Good Ozone) เป็นโมเลกุลที่ประกอบจากออกซิเจน 3 อะตอม ใคร ๆ ก็รู้จักโอโซนแน่นอน เรามักจะได้ยินคำว่า “ไปสูดโอโซนกันเถอะ” โอโซนที่ดีจะปรากฏอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก จะจับตัวกันเป็นก้อนโอโซนปกคลุมทั่วโลก ในบางแห่งจะหนา และบางในบางแห่งชั้นโอโซนจะทำหน้าที่ปกป้องโลกจากรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ ด้วยคุณสมบัติที่ดีแบบนี้ของโอโซน จึงทำให้โลกของเรามีนวัตกรรมการผลิต “เครื่องผลิตโอโซน” ในรูปแบบของเครื่องฟอกอากาศ
มาทำความรู้จักกับโอโซนที่ไม่ดี
เช่นเดียวกันในความเป็นจริงแล้ว “เครื่องผลิตโอโซน” เป็นการสร้างโอโซนในระดับต่ำ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าประโยชน์เนื่องจากโอโซนจะทำปฏิกิริยาต่อ ๆ ไป เกิดเป็นอนุมูลอิสระที่ว่องไวสำหรับปฏิกิริยาอื่น ๆ เช่น photochemical smog การเกิดฝนกรดและยังทำลายเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอีกด้วยหรือ เครื่องผลิตโอโซนที่เราเห็นกันอยู่บ่อย ๆ มักจะผลิตโอโซนได้ในความเข้มข้นที่ไม่สูงมากพอที่จะฆ่าเชื้อโรคได้ เพียงแต่กำจัดกลิ่นและควันมากกว่า แต่ถ้าความเข้มข้นที่สูงมากพอเช่นความเข้มข้นสูงถึง 0.25 ppm ก็จะสามารถฆ่าเชื้อโรคเชื้อราตายได้ แต่นั่นก็หมายถึงก็ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวได้ด้วย เช่น เกิดความระคายเคืองต่อ ตา จมูก และจะทำลายเนื้อเยื่อปอด เกิดความระคายเคืองเมื่อหายใจเข้าไป ถ้าได้รับในปริมาณมากจะทำให้ตายได้ การนำมาใช้ควรระมัดระวัง เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ดังนั้นในการใช้เครื่องผลิตโอโซนควรที่จะเปิดในขณะที่เราไม่อยู่ในห้องและควรจะปิดเครื่องก่อนที่เราจะเข้าสู่ห้องนั้นเป็นระยะเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง
ปัญหาโอโซนในประเทศไทย
กรุงเทพมหานคร ซึ่งติดอันดับโลกทั้งด้านความหนาแน่นประชากร และสภาวะการจราจรติดขัด ก็พบปัญหาค่าโอโซนในบรรยากาศทั่วไปสูงเกินมาตรฐาน แล้วจะทำอย่างไรต่อออกไป สูดโอโซนกันเสียให้เต็มปอด เพื่อจะได้รับรู้ถึงความจริง แล้วลองเริ่มต้นคิดกันดีไหมว่าจะป้องกันอย่างไร
แหล่งที่มา
Climate change could add twice as many smog days in the United States.สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560. จาก http://www.zmescience.com/ecology/environmental-issues/climate-change-smog/.
ความรู้เกี่ยวกับโอโซน.สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560. จาก http://www.ozoneinter.com/knowlage.html.
โอโซน.สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560. จาก http://www.il.mahidol.ac.th/e-media/ecology/chapter2/chapter2_airpolution8.htm.
-
7425 ใคร ๆ ก็อยากได้โอโซน /article-science/item/7425-2017-08-08-08-02-38เพิ่มในรายการโปรด