ซ่อนตัวหรือวิ่งหนี? เมื่อระเบิดนิวเคลียร์ลงกลางเมือง
สงครามเย็นสิ้นสุดลงในปี 1991 แต่ภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์ยังคงมีอยู่กว่า 14,900 นัดใน 9 ประเทศที่ครอบครอง ทั้งยังสถานการณ์สงครามที่ถูกรายงานให้เห็นตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้เกิดการแข่งขันด้านอาวุธของประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ การกระทำเข้าข่ายการละเมิดสนธิสัญญาอาวุธในการอัพเกรดคลังแสงนิวเคลียร์ของรัสเซีย รวมไปถึงการพัฒนาขีปนาวุธระยะไกลและการฝึกซ้อมรบอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ซึ่งต่างก็เป็นสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ
ในขณะเดียวกันทุกคนต่างทราบดีอยู่แล้วว่า การก่อการร้ายด้วยอาวุธและระเบิดนิวเคลียร์นั้นเป็นภัยคุกคามที่รุนแรง และแม้ว่าเหตุการณ์การโต้ตอบของประเทศมหาอำนาจที่มีอาวุธร้ายแรงครอบครองทั้งหลาย จะไม่น่ากระตุ้นให้เกิดการใช้ตัวเลือกสุดท้ายอย่างระเบิดนิวเคลียร์ได้ก็ตาม แต่หลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่า หากเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากการโจมตีด้วยระเบิดนิวเคลียร์แล้วจะต้องปฏิบัติตัวตัวอย่างไร?
ภาพที่ 1 เหตุการณ์ระเบิดนิวเคลียร์
ที่มา WikiImages/pixabay
- ผู้ที่รอดชีวิตจากการระเบิดนิวเคลียร์อาจต้องสัมผัสกับขี้เถ้าปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีและฝุ่นกัมมันตรังสีหลังนิวเคลียร์ระเบิด (fallout)
- การหาที่พักพิงที่ดีโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และการเข้าพักอาศัยเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการรอดชีวิตจากฝุ่นกัมมันตรังสี
- นักวิทยาศาสตร์จึงได้คิดแผนการเกี่ยวกับวิธีการในการเคลื่อนย้ายไปยังที่หลบภัยที่เป็นเป็นผลดีและปลอดภัยที่สุด
หลีกเลี่ยงฝุ่นกัมมันตรังสี
แม้ว่าคุณจะเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์ ถึงอย่างไรเสียก็ไม่ได้หมายความว่าจะรอดจากผลกระทบที่น่ากลัวอย่างขี้เถ้าปนเปื้อนกัมมันตรังสีหรือฝุ่นกัมมันตรังสีหลังการระเบิดของนิวเคลียร์ที่มีแรงระเบิดตั้งแต่ 0.1-10 กิโลตัน
ฝุ่นกัมมันตรังสี (Nuclear fallout) เป็นสารกัมมันตรังสีที่ตกค้างอยู่ในชั้นบรรยากาศหลังการระเบิดของระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดจากการแยกตัวของนิวเคลียสของอะตอมอย่างรวดเร็วในปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน (Nuclear fission reaction) โดยจะปลดปล่อยพลังงานในรูปของรังสีแกมมาและรังสีอื่น ๆ รวมทั้งพลังงานความร้อนสูง และการได้รับรังสีปริมาณมากในช่วงเวลาสั้นๆ อาจทำให้เซลล์ภายในร่างกายและความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองเสียหายได้ หรืออาจเรียกอาการดังกล่าวว่า "ความผิดปกติจากการได้รับรังสีสูงแบบเฉียบพลัน" (Acute Radiation Sickness, ARS) ซึ่งมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันและความสามารถในการต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ของร่างกายด้วย
ลูกไฟจากแรงระเบิดราว 10 กิโลตันที่มีความร้อนสูงจะพุ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากกว่า 100 ไมล์ต่อชั่วโมง (หรือประมาณ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) โดยผลของแรงระเบิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน (Fission product) หลอมรวมทั้งสิ่งสกปรก และเศษขยะต่างๆ จะถูกดึงเข้าไปในชั้นบรรยากาศจากลูกไฟดังกล่าว สิ่งที่พยายามจะบอกก็คือ จะมีสิ่งสกปรกมากกว่า 8,000 ตัน ถูกวางอยู่ในก้อนเมฆ
รังสีแกมมาสามารถพุ่งขึ้นไปได้มากกว่า 5 ไมล์ในอากาศ อนุภาคของชิ้นส่วนที่มีขนาดใหญ่จะตกลงมาบริเวณดังกล่าวได้ราวเม็ดฝน ส่วนอนุภาคที่มีขนาดเบากว่าจะตกลงสู่พื้นที่ซึ่งไกลออกไป
วิ่งหนีหรือซ่อนตัว?
สิ่งที่ควรทำมากที่สุดในการอยู่รอดหลังจากภัยพิบัติทางนิวเคลียร์คือ การเข้าไปหลบยังโครงสร้างที่แข็งแรงรวมทั้งสามารถป้องกันตัวเราจากภายนอกทันทีและอยู่ที่นั่น และหากสามารถเข้าไปยังส่วนล่างของโครงสร้างนั้นได้ให้เข้าไปยังส่วนของชั้นใต้ดิน เนื่องจากดินเป็นโล่ที่ดีที่สุดในการป้องกันอันตรายจากรังสี จากนั้นรอจนกว่าเจ้าหน้าที่กู้ชีพจะสามารถหาทางช่วยเหลือคุณได้
สถานที่สำหรับเป็นที่หลบภัยควรเป็นอาคารที่สร้างจากอิฐหรือคอนกรีตที่มีหน้าต่างน้อย หรือไม่มีเลย บ้านเรือนหรือรถยนต์ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีในลำดับต้นๆ เนื่องจากไม่ได้สร้างขึ้นด้วยวัสดุที่สามารถป้องกันรังสีได้ ทั้งยังไม่มีชั้นใต้ดิน ดังนั้นจึงควรเข้าไปหลบในอาคารของโรงเรียนหรือสำนักงานน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ภาพที่ 2 ระดับการป้องกันผลกระทบจากกัมมันภาพรังสีของระเบิดนิวเคลียร์ภายในอาคารหรือสถานที่ตั้งภายในอาคาร
ที่มา Lawrence Livermore National Laboratory
ซ่อนตัวอยู่ภายในอาคารราว 12-24 ชั่วโมง เหตุผลที่ต้องรอก็เพื่อให้ระดับรังสีแกมมาและรังสีชนิดอื่น ๆ ที่หลุดออกมาหลังจากการระเบิด ซึ่งเป็นไอโซโทปรังสี (Radioisotopes) ร้อน สลายตัวเป็นกลายเป็นอะตอมที่เสถียรเสียก่อน เป็นช่วยจำกัดโซนอันตรายให้แคบลง เนื่องด้วยพื้นที่ที่มีกระแสลมในระดับสูงมากจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากแรงระเบิดได้ จากนั้นพยายามฟังข่าวสารจากวิทยุเพื่อเตรียมตัวต่อสถานการณ์ต่างๆ อย่างถูกต้องและปลอดภัย
ภาพที่ 3 พื้นที่อันตราย (สีม่วงเข้ม) จะแคบลงอย่างรวดเร็วในเวลาไม่นาน ในขณะที่พื้นที่มีความร้อน (สีม่วงอ่อน) ซึ่งมีอันตรายน้อยกว่าจะขยายตัวมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
ที่มา Lawrence Livermore National Laboratory
สำนักจัดการภาวะฉุกเฉินส่วนกลาง (FEMA - Federal Emergency Management Agency) สหรัฐอเมริกา แนะนำรายการสิ่งของจำเป็นที่ควรมีไว้สำหรับตนเองในยามฉุกเฉิน
- น้ำ 1 แกลลอนต่อคนต่อวัน อย่างน้อย 3 วัน สำหรับการดื่มและการสุขาภิบาล
- อาหารอย่างน้อย 3 วัน ควรเป็นอาหารที่ไม่เสียหรือบูดง่าย
- วิทยุที่ใช้งานได้ด้วยแบตเตอรี่หรือวิทยุมือหมุน และวิทยุรายงานสภาพอากาศ NOAA พร้อมการแจ้งเตือนด้วยเสียง รวมทั้งแบตเตอรี่เสริม
- ไฟฉายและแบตเตอรี่เสริม
- ชุดปฐมพยาบาล
- นกหวีด สำหรับเป่าเพื่อขอความช่วยเหลือ
- หน้ากากป้องกันฝุ่นเพื่อช่วยกรองอากาศที่ปนเปื้อนและแผ่นพลาสติกและเทปพันท่อสำหรับใช้ในสถานที่หลบภัย
- ผ้าเช็ดตัวที่เปียกชื้น ถุงขยะ และถุงพลาสติกเพื่อการสุขาภิบาลส่วนบุคคล
- ประแจหรือคีมเพื่อปิดระบบสาธารณูปโภค
- เครื่องมือเปิดอาหาร (สำหรับอาหารกระป๋อง)
- แผนที่ท้องถิ่น
แหล่งที่มา
Dave Mosher. (2017, 11 June). If a nuclear bomb goes off, this is the most important thing you can do to survive
Retrieved July 18, 2017,
From http://www.businessinsider.com/how-survive-nuclear-attack-fallout-radiation-2017-6
Dave Mosher. (2017, 19 Mar). If A Nuclear Bomb Is Dropped On Your City, Here's Where You Should Run And Hide
Retrieved July 18, 2017,
from http://www.iflscience.com/chemistry/if-a-nuclear-bomb-is-dropped-on-your-city-heres-where-you-should-run-and-hide/all/
Nuclear fallout . สืบค้นวันที่ 18 กรกฎาคม 2560. จาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Nuclear_fallout
Acute Radiation Syndrome
Retrieved July 18, 2017,
from https://emergency.cdc.gov/radiation/arsphysicianfactsheet.asp
-
7476 ซ่อนตัวหรือวิ่งหนี? เมื่อระเบิดนิวเคลียร์ลงกลางเมือง /article-science/item/7476-2017-09-08-03-50-05เพิ่มในรายการโปรด