วิทยาศาสตร์เบื้องหลังผู้คนที่ชื่นชอบความกลัว
ความกลัว เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการรับรู้อันตรายหรือภัยคุกคามในสิ่งมีชีวิตบางชนิด ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบเผาผลาญ หน้าที่ของอวัยวะต่าง ๆ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ภาพที่ 1 ความกลัว
ที่มา Anemone123/Pixabay
เราจะตกใจและสะดุ้งเมื่อเห็นสายตาของงูพิษ วิตกกังวลต่อความปลอดภัยของเงินสดที่เพิ่งกดออกจากตู้เอทีเอ็ม หรือรู้สึกหลอนเมื่อต้องอาบน้ำคนเดียวในห้องน้ำของโรงแรม ในขณะเดียวกันบางคนมีการตอบสนองต่อสภาวะทางอารมณ์ในเชิงบวก โดยมีความสุขหรือสนุกสนานกับความกลัวได้ เช่น ในช่วงเทศกาลฮาโลวีน ซึ่งจากผลการศึกษาของนักจิตวิทยาจากสาขาจิตเวชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเวย์นสเตต ในรัฐมิชิแกนชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวนั้นขึ้นอยู่กับบริบทรอบตัว
เมื่อเรารับรู้ว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่ปลอดภัย เราสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติตัวในสภาวะตื่นตัวสูง เพื่อเปลี่ยนจากความหวาดกลัวไปเป็นความสนุกสนานหรือความตื่นเต้นได้ เช่น เมื่อคาดหวังว่าจะมีกบกระโดดออกมาให้เราตกใจในบ้านผีสิง ซึ่งเมื่อเห็นกบดังกล่าวแล้ว และรับรู้ว่านั่นไม่ใช่ภัยคุกคามที่แท้จริง เราก็สามารถเปลี่ยนความเข้าใจใหม่ได้อย่างรวดเร็วและตื่นเต้นกับสถานการณ์ตรงนั้น ในทางตรงกันข้าม หากกำลังเดินอยู่ในซอยทางลัดกลับบ้านในเวลากลางคืนและพบคนแปลกหน้าเดินตาม สมองจะรับรู้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสถานการณ์อันตราย นำไปสู่การตอบสนองในการหลบหนี
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องการคำอธิบายคือ สมองทำงานอย่างไรเพื่อตัดสินใจว่าควรวิ่งด้วยความเร่งรีบหรือวิ่งหนีจากการถูกคุกคาม?
ความรู้สึกกลัวเกิดขึ้นได้อย่างไร?
โครงสร้างของสมองที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกกลัวคือ สมองส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) ซึ่งเป็นนิวเคลียสรูปอัลมอลด์ที่อยู่ภายในสมองส่วนกลีบขมับ (temperal lobe) ในกรณีที่มีสิ่งเร้ามากระตุ้นให้รู้สึกหวาดกลัว สมองส่วนนี้จะกลั่นกรองผ่านประสาทสัมผัสทั้งการมองเห็น การรับกลิ่น และการสัมผัส เพื่อตรวจจับความรู้สึก และตอบสนองต่อการรับรู้อันตรายด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือการตอบสนองที่เรียกว่า การตอบสนองในลักษณะของการเผชิญหน้าหรือหลบหนี (fight-or-flight response) นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนและระบบซิมพาเทติกนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในสถานการณ์อันตรายนั้นๆ
ภาพที่ 2 ภาพสมองที่แสดงสมองส่วนอะมิกดาลา (Amygdala)
ที่มา wikipedia.org
สมองส่วนอะมิกดาลาจะกลายเป็นสัญญาณเตือนภัยของมนุษย์ รูม่านตาขยาย หลอดลมขยาย หายใจถี่ขึ้น อัตตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตสูงขึ้น มีการไหลเวียนของเลือดและกลูโคสไปสู่กล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีการทำงานที่ช้าลงของอวัยวะที่ไม่มีความจำเป็นต่อสถานการณ์อันตรายเหล่านั้น เช่น ระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีสมองสองส่วนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสมองส่วนอะมิกดาลาอย่างสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) และสมองส่วนคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า (Prefrontal cortex) ที่ช่วยให้สมองสามารถตีความการรับรู้การมาถึงของภัยคุกคามได้ดีขึ้น
โดยทั้งสองส่วนมีส่วนร่วมในการประมวลผลข้อมูลตามบริบทเพื่อทราบว่า การรับรู้ต่อภัยคุกคามนั้นเป็นของจริง เช่น การได้เห็นจระเข้ในแหล่งน้ำกระตุ้นให้เกิดความหวาดกลัวได้ ในขณะที่จระเข้ในสวนสัตว์กลับทำให้รู้สึกตื่นเต้น อยากรู้อยากเห็น และคิดว่านั่นคือสัตว์โลกผู้น่ารัก
มนุษย์เรียนรู้ความแตกต่างได้อย่างไร?
ภาพที่ 3 สิ่งที่ก่อให้เกิดความกลัว
ที่มา Aimee Vogelsang/unsplash
เช่นเดียวกับสัตว์อื่น ๆ ที่เรียนรู้ความกลัวได้จากประสบการณ์ส่วนตัว เช่น การถูกโจมตีจากสุนัขที่ดุร้าย หรือการเห็นผู้อื่นถูกโจมตีด้วยสุนัขที่ก้าวร้าว อย่างไรก็ตาม มนุษย์มีวิวัฒนาการที่ไม่เหมือนใครและการเรียนรู้ที่น่าสนใจอย่างเช่น การเรียนการสอน เราจึงสามารถเรียนรู้ได้จากคำพูดหรือการบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น หากมีป้ายปักไว้ว่า ห้ามเข้า! สุนัขดุ การรับรู้นั้นจะทำให้เกิดการตอบสนองต่อความกลัว
ทั้งนี้ มนุษย์เรียนรู้ในเรื่องของความปลอดภัยในรูปแบบเดียวกัน เช่น การเล่นกับสุนัขเลี้ยงที่มีความเชื่อง จะสังเกตเห็นการโต้ตอบที่ปลอดภัยของคนกับสุนัขตัวนั้น รวมทั้งการรับรู้ผ่านการอ่านเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่า สุนัขเป็นมิตร
ทำไมมนุษย์สามารถรับมือได้กับความกลัว?
ความหวาดกลัวทำให้เสียสมาธิ แต่ก็อาจนำไปสู่ประสบการณ์ที่ดีได้
ภาพที่ 4 ความกลัว
ที่มา Caleb Woods/Unsplash
เมื่อมีบางสิ่งที่น่ากลัวเกิดขึ้น ในขณะนั้น มนุษย์จะตกอยู่ในสภาวะที่มีความตื่นตัวสูงและไม่จดจ่ออยู่กับสิ่งอื่นใดที่อาจเกิดขึ้นภายในจิตใจอย่างปัญหาเรื่องงานหรือความวิตกกังวลต่อการเข้าสอบในช่วงก่อนปิดภาคเรียน ซึ่งนั่นจะทำให้เราสามารถอยู่กับสถานการณ์ตรงหน้าได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ เมื่อเราต้องพบเจอกับสิ่งที่น่ากลัวร่วมกับบุคคลในชีวิต เรามักจะพบว่า อารมณ์สามารถเป็นโรคติดต่อได้ในเชิงบวก เนื่องด้วยมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่สามารถเรียนรู้จากผู้อื่นได้ ดังนั้นการมองเห็นเพื่อนที่นำหน้าเข้าไปในบ้านผีสิงและหายไปอย่างรวดเร็วพร้อมกับเสียงกรีดร้อง ไม่นานหลังจากนั้นเพื่อนของคุณก็หัวเราะออกมาได้ ซึ่งนั่นทำให้เราสามารถรับรู้สภาวะทางอารมณ์ของเธอที่ส่งผ่านมายังตัวเราได้
แม้ว่าในแต่ละปัจจัยทั้งในเรื่องของบริบทรอบตัว สิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้เสียสมาธิ หรือการเรียนรู้ทางสังคมจะมีอิทธิพลต่อการรับรู้สถานการณ์อันตรายที่น่ากลัว แต่ประเด็นหลักที่เชื่อมโยงปัจจัยเหล่านั้นได้คือ การรับรู้ต่อความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ ซึ่งเมื่อเรารับรู้ได้ว่า อะไรเป็นอะไร และไม่ใช่ภัยคุกคามที่แท้จริง นั่นจะช่วยเปลี่ยนความเข้าใจใหม่ และในท้ายที่สุดแล้ว เราจะรู้สึกปลอดภัยในสถานการณ์นั้น ๆ มากขึ้น ซึ่งการรับรู้ความสามารถในการควบคุมนั้นมีความสำคัญต่อวิธีการจัดการกับสิ่งที่เราต้องประสบพบเจอและการตอบสนองต่อความกลัว และแม้ว่าเราจะรู้สึกผิดหวังในครั้งแรกที่เอาชนะความกลัวได้ แต่ในครั้งต่อไปที่ต้องเผชิญหน้ากับความกลัว เราจะรู้สึกมั่นใจมากขึ้น
สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกถึงคือ การรับมือต่อสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความกังวลใจในแต่ละบุคคลนั้นไม่เท่ากัน ในขณะที่หลายคนสามารถจัดการกับความตกใจได้เป็นอย่างดี บางคนอาจไม่ชอบหรือรู้สึกเกลียดได้
ความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากความกลัว
ภาพที่ 5 ความเจ็บปวดจากเหตุการณ์สะเทือนใจ
ที่มา Ben White/Unsplash
แม้ว่าบางคนสามารถรับมือกับความกลัวได้จนอาจกลายเป็นเรื่องสนุกสนานก็ตาม แต่จริง ๆ แล้ว ความกลัวและความกังวลในระดับที่ผิดปกติอาจก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานและความผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกายได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนั่นอาจเป็นข้อจำกัดต่อความสามารถที่จะนำไปสู่ความสำเร็จและความสุขในชีวิตของคนบางคนได้
เกือบ 1 ใน 4 ของประชากรอาจประสบกับความกลัวที่ไม่สมจริงในรูปแบบของโรควิตกกังวล (Anxiety disorder) ในช่วงชีวิตของเขา นอกจากนี้อีกเกือบร้อยละ 8 มีอาการที่เรียกว่า ภาวะความเครียดที่ผิดปกติหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-traumatic Stress Disorder หรือที่มีชื่อย่ออย่างเป็นสากลว่า PTSD)
ความผิดปกติเกี่ยวกับความวิตกกังวลและความกลัว รวมถึงโรคกลัวหรืออาการกลัวที่เรียกว่า โฟเบีย (Phobia) โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia) โรคกังวลทั่วไป (Generalized anxiety disorder) ความวิตกกังวลต่อการแยกจาก (Separation anxiety) โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive compulsive disorder) และ PTSD ความเจ็บป่วยเหล่านี้มักจะเริ่มต้นเกิดขึ้นในวัยเด็ก และหากไม่มีการรักษาที่เหมาะสม อาจกลายเป็นโรคเรื้อรังและทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมได้ ทั้งนี้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของบุคคลเหล่านั้นด้วย แต่อย่างไรก็ดี รูปแบบของการรักษาในแง่ของจิตบำบัดและยาที่มีประสิทธิภาพจะสามารถช่วยเยียวยาผู้ป่วยได้
แหล่งที่มา
Arash Javanbakht and Linda Saab. (2017, 27 October) .The science of fright: Why we love to be scared.
Retrieved December 15, 2017,
from https://theconversation.com/the-science-of-fright-why-we-love-to-be-scared-85885
Amygdala.
Retrieved December 15, 2017,
from https://en.wikipedia.org/wiki/Amygdala
Halloween and the science behind why we love being scared.
Retrieved December 15, 2017,
from http://www.nzherald.co.nz/lifestyle/news/article.cfm?c_id=6&objectid=11937397
-
7829 วิทยาศาสตร์เบื้องหลังผู้คนที่ชื่นชอบความกลัว /article-science/item/7829-2018-01-10-09-00-11เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง