เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับลูกอม
ขนมหวานพวกลูกอมที่เรารับประทานกัน ใครเคยสงสัยกันบ้างไหม ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง มีส่วนประกอบสำคัญอะไรบ้าง วันนี้ผู้เขียนหาข้อมูลมาให้ได้อ่านกัน
ภาพ ลูกอม
ที่มา https://pixabay.com
ลูกอมหรือขนมหวานที่เรารู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ มีประวัติไม่แน่ชัดว่า บางแห่งก็ว่าเริ่มต้นมาจากชาวยุโรปยุคกลาง ที่นำวิวัฒนาการหลังจากมนุษย์สามารถปลูกอ้อยและทำให้น้ำตาลบริสุทธิ์ มาผลิตเป็นน้ำตาลแข็ง บ้างก็ว่ามาจากชาวอียิปต์ นำ ผลไม้ ถั่ว สมุนไพร และเครื่องเทศผสมกับนํ้าผึ้งปั้นเป็นก้อน การผลิตในยุคแรก ๆ ก็จะมีลักษณะคล้าย ๆ กันคือ มักทำลูกอมหรือขนามหวานอื่น ด้วยการให้ความร้อนแก่น้ำตาลจนเคี่ยวจนเป็นกลายของเหลว และเทลงในวัสดุที่เป็นแม่พิมพ์ ทิ้งไว้ให้เย็นตัวกลายเป็นของแข็ง จนกลายเป็นขนมหวานที่มีเอาไว้สำหรับอมและเคี้ยวเล่น เป็นที่ถูกอกถูกใจของคนทุกยุคทุกสมัยมาจนถึงปัจจุบัน
ในประเทศไทย คำนิยามตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงลูกอมโดยมีคำอธิยายโดยหลักการว่า ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้อมหรือเคี้ยว ที่มีการแต่งรสใด ๆ มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก และอาจมีส่วนประกอบอื่น ๆ เพื่อปรุงแต่งกลิ่นรสด้วยหรือไม่ก็ได้ (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 228) พ.ศ.2544 เรื่อง หมากฝรั่งและลูกอม)
ลูกอมซึ่งมีส่วนประกอบหลักจากน้ำตาล สารให้ความหวาน ที่ใช้เป็นส่วนผสมหลักมีอยู่หลายประเภท ได้แก่ น้ำตาลทราย (sucrose) น้ำเชื่อมกลูโคส (glucose syrup) น้ำเชื่อมฟรักโทส (fructose syrup) น้ำตาลอิน- เวิร์ต (invert sugar) หรือในสมัยที่คนเราเริ่มรักษาสุขภาพมากขึ้นก็มีสารให้ความหวานแทนน้ำตาลอย่าง น้ำตาลแอลกอฮอล์ (sugar alcohol) เช่น ซอร์บิ-ทอล (sorbitol) แมนนิทอล (mannitol) ทั้งนี้ยังเติมแต่งด้วยสารธรรมชาติแต่งรสหรือกลิ่นอย่าง น้ำมันยูคาลิปตัส น้ำมันจากเปลือกส้ม หรือจากการใช้สารเคมีผสมให้เกิดกลิ่นที่ต้องการ เช่น ครีมโซดา กลิ่นองุ่น กาแฟ อีกมากมายตามแต่เทคนิคของผู้ผลิตที่มีอยู่มากมายในตลาดขายลูกอม
นอกจากนี้ลูกอมยังมีส่วนประกอบของสารเคมีสกัดอื่น ๆ อีก เช่น กรดอินทรีย์ (organic acid) กรดที่นิยมใช้ในการผลิตลูกอม ได้แก่ กรดซิตริก (citric acid) สำหรับปรับรสเปรี้ยว กรดทาร์ทาริก (tartaric acid) และกรดมาลิก (malic acid) โดยใช้เพื่อควบคุมความหวาน แต่งรสและยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อดึงดูดให้ลูกอมที่ผลิตดูมีความน่าสนใจในรสชาติ กลิ่น สี การผสมและเคี่ยวให้เข้ากันตามลำดับขั้นตอน ส่วนจะใช้อะไรมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสูตรผสมของแต่ละยี่ห้อ
และด้วยคุณสมบัติในการละลายตัวช้าของลูกอม ก็ทำให้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์สำหรับผลิตลูกอมหรือยาชนิดอมเพื่อให้ตัวยาละลายช้า ซึ่งก็นับเป็นข้อดีที่มีประโยชน์อย่างมาก แต่ทั้งนี้การรับประทานลูกอมก็ต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่งั้นก็จะกลายเป็นผลร้ายต่อสุขภาพ เพราด้วยวัตถุดิบหลักที่ผลิตมาจากน้ำตาลนั่นเอง
แหล่งที่มา
ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์,ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นิธิยา รัตนาปนนท์. Candy / ลูกอม . สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2561, จาก
http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/1147/candy-ลูกอม
ลูกอม และลูกกวาด . สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2561, จาก
http://www.siamchemi.com/ลูกกวาด/
ลูกอมชนิดแข็ง. สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2561, จาก
http://www.sc.chula.ac.th/clubs/FoodClub/page_122.htm
ประวัติของลูกอม. สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2561, จาก
https://sites.google.com/site/ple5504041636121/prawati-lukxm
-
7834 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับลูกอม /article-science/item/7834-2018-01-11-01-30-31เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง