แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม
หากลูกหลานหรือเด็กที่คุณรู้จักตั้งแต่อายุประมาณ 3 ขวบขึ้นไป ปรากฏพฤติกรรมแปลก ๆ เช่น ชอบเล่นหรือทำกิจกรรมซ้ำ ๆ ไม่สนใจใครและไม่สบตาผู้อื่น อาจมีแนวโน้มความเป็นไปได้ที่เขากำลังจะอยู่ในภาวะบกพร่องทางพัฒนาการรูปแบบหนึ่ง ที่เราเรียกว่า แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger's Syndrome) ซึ่งเราจะมาทำความรู้จักกันว่าเป็นอย่างไร มีวิธีการแก้ไขและดูแลอย่างไรบ้าง
ภาพที่ 1 เด็กที่มีสมาธิหรือสนใจกิจกรรมใด ๆ ซ้ำ ๆ นิ่ง ๆ ไม่สบตาหรือสนใจกิจกรรมอื่น
ที่มา https://www.webmd.com/brain/autism/mental-health-aspergers-syndrome#1
คุณหมอ ฮานส์ แอสเพอร์เกอร์ (Hans Asperger) เป็นคุณหมอที่ค้นพบโรคนี้เป็นคนแรก เมื่อปี ค. ศ. 1940 ซึ่งค้นพบและรายงานความผิดปกติทางด้านพฤติกรรม และพัฒนาการของเด็ก โดยกล่าวว่าเป็นความผิดปกติของพัฒนาการด้านสังคม และการสื่อสาร มีลักษณะเฉพาะตัวจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับโรคออทิสติก (Autistic Disorder) พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชายที่มีความเฉลียวฉลาด และสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีพัฒนาการด้านการใช้ภาษาปกติ พูดและเรียนรู้ภาษาได้ตามปกติของเกณฑ์อายุ หรือพูดได้เหมือนคนปกติทั่วไป แต่อาจไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาคำพูดที่ยากหรือลึกซึ้งได้ เช่น มุขตลก คำเปรียบเปรย และมีปัญหามากในด้านทักษะการเข้าสังคม โดยเฉพาะการสื่อสารกับผู้อื่นให้เข้าใจ และการปฏิบัติตนร่วมกับคนอื่น ๆ ที่อาจแสดงความเป็นตัวของตนเองไม่สนใจคนรอบข้างออกมาโดยชัดเจน เป็นต้น ก่อนหน้านี้มีความเข้าใจผิดคิดว่าแอสเพอร์เกอร์ ก็คือเด็กที่เป็นออทิสติก แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เด็กที่เป็นโรคออทิสติกจะมีปัญหาเรื่องการพูดมากกว่า รวมทั้งอาการผิดปกติอย่างอื่นที่รุนแรงกว่า
ภาพที่ 2 คุณหมอ ฮานส์ แอสเพอร์เกอร์ (Hans Asperger)
ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Hans_Asperger
แม้ว่าการดำเนินชีวิตจะเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่า เมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีปัญหาในการเข้าสังคม โดยมักพบพฤติกรรมที่อาจจะไม่ค่อยสนใจในความรู้สึกของผู้อื่น ไม่ค่อยมีความเห็นอกเห็นใจหรือมีอารมณ์ร่วมกิจกรรมกับคนอื่น ๆ ทำให้มีปัญหาในการปฎิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน และคนรอบข้าง พบว่าปัญหาเหล่านี้ จะยังคงอยู่ไปตลอด แม้ว่าจะมีอายุมากขึ้น และมีวุฒิภาวะมากขึ้นตามวัยแล้วก็ตาม
มีการศึกษาวิจัยที่ได้กล่าวหาว่านักวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และ เซอร์ไอแซค นิวตัน ก็ป่วยเป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม จากพฤติกรรมในวัยเด็กที่มีลักษณะพูดซ้ำ ๆ และสื่อสารกับคนไม่ค่อยเข้าใจ แต่ก็มีนักจิตแพทย์ออกมาโต้แย้ง โดยให้เหตุผลทางหลักการจิตวิทยาว่าเพราะไอน์สไตน์เป็นบุคคลฉลาด สิ่งที่เขาพูดและสื่อสารออกมา ใช่ว่าคนทั่วไปจะเข้าใจได้ง่าย และอีกเหตุผลหนึ่งของพฤติกรรมความเป็นอัจฉริยะ ย่อมที่จะต้องหมกมุ่นครุ่นคิดในงาน เพื่อค้นหาทฤษฎีใหม่ๆ เพื่อเอาชนะตัวเอง การปฏิสัมพันธ์พูดคุยกับบุคคลอื่นอาจเป็นการเสียเวลางาน หรือแม้จะเข้าวงสังคม ก็คุยไม่รู้เรื่อง เพราะมีความฉลาดมากไป พอคนอื่นพูดคุยด้วย ก็ไม่สามารถคุยกันเข้าใจ เพราะคนพูดด้วยฉลาดน้อยไป จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเลือกการอยู่กับตัวเองอยู่กับงานมากกว่าอยู่กับบุคคลอื่น เพราะนั่นทำให้เขามีเวลาเพิ่มมากขึ้น สำหรับการได้คิดค้นอะไรใหม่ ๆ
การช่วยเหลือแก้ไขและดูแลเด็กที่มีพฤติกรรมที่มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม ต้องอาศัยการดูแลและช่วยเหลือจากคนในครอบครัวเป็นสำคัญดังนี้
- เล่นกับเด็กคนนั้นโดยให้ความสนใจกับเขาเป็นที่ตั้ง แล้วค่อย ๆ ปรับความสนใจไปทางอื่นแบบค่อยเป็นค่อยไป
- ใช้คำพูดง่าย ๆ ในการสื่อสาร อาจใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์เป็นตัวช่วยให้เห็นภาพ
- สร้างบรรยากาศสบาย ๆ อบอุ่น ไม่เครียด
- ควรจัดกิจกรรมให้เด็กเล่นเป็นกลุ่มเล็ก ๆ และเรียนรู้กฎระเบียบในกลุ่มเล็ก ๆ ก่อน
- การใช้คำสั่งกับเด็กกลุ่มนี้ต้องมีความสม่ำเสมอชัดเจน ไม่เปลี่ยนแปลง
- ส่งเสริมให้เด็กเล่นกิจกรรมหลากหลายแบบเพื่อเบนความสนใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากจนเกินไป
ดังนั้น การให้ความรักความเข้าใจและให้สนับสนุนอย่างถูกต้อง จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่เป็นโรคนี้
แหล่งที่มา
นายแพทย์จอม ชุมช่วย. แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger's Syndrome). สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2561, จาก
http://www.manarom.com/sara/07/7.pdf
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2561, จาก
http://www.happyhomeclinic.com/au28-aspergersyndrome.htm
รู้จักแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger syndrome) ลูกเราผิดปกติหรือเปล่า. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2561, จาก
http://www.rakluke.com/article/24/121/4667/รู้จักแอสเพอร์เกอร์-ซินโดรม-asperger-syndrome-ลูกเราผิดปกติหรือเปล่า
อัจฉริยะแอสเพอร์เกอร์. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2561, จาก
http://thaiasperger.blogspot.com/2008/07/blog-post_8020.html
-
7858 แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม /article-science/item/7858-2018-02-22-02-40-45เพิ่มในรายการโปรด