คิดสร้างสรรค์กับการทำงานของสมอง
หากเรามองสิ่งที่อยู่รอบตัวเราอย่างพิจารณา จะสังเกตได้ว่าทุกสิ่งที่เรามองเห็นอยู่นั้นล้วนแล้วแต่มีที่มาที่ไป การมีอยู่ซึ่งเกิดขึ้นจากการสร้างหรือทำขึ้นมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกิดมาจากความคิด อันที่จริงแล้วส่วนใหญ่การที่มนุษย์เราสร้างหรือทำอะไรขึ้นมานั้น ก็ล้วนแล้วแต่เพื่อตอบสนองความต้องการของตน หรือมีที่มาจากการคิดเพื่อที่จะแก้ปัญหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่าที่จะสามารถทำได้ และความคิดเหล่านั้นก็มักจะเกิดขึ้นจากความคิดที่เรียกว่า ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)และทราบหรือไม่ว่าความคิดสร้างสรรค์ มีกระบวนการทางความคิดที่เกิดจากการทำงานของสมองหรือไม่อย่างไร
ภาพ ความคิดกับสมอง
ที่มา https://pixabay.com/
นักคิดสร้างสรรค์มีบุคลิกภาพและคุณสมบัติที่มีลักษณะการคิดในหลายรูปแบบ เช่น เป็นคนที่มักมีความคิดคิดริเริ่มแปลกใหม่ (Originality) มีความคิดหลากหลายมุมมองหลายด้าน (Flexibility) มีความเร็วในการคิด (Fluency) มีความคิดที่ละเอียดรอบคอบ (Elaboration)
เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงมีความรู้มาระดับหนึ่งว่าสมองของคนเราที่มีสองซีก สมองซีกซ้ายทำงานเกี่ยวกับด้านการคำนวณ และสมองซีกขวาทำงานเกี่ยวกับด้านศิลปะ แน่นอนว่าจากข้อมูลนี้ก็อาจทำให้เราเดาได้ไม่ยากว่าความคิดสร้างสรรค์ที่ออกมาจากบุคคลที่มีจินตนาการสูง มาจากการทำงานของสมองซีกขวานั่นเอง แต่มันจริงแค่ไหนลองอ่านได้จากข้อมูลต่อไปนี้
ข้อมูลสำคัญที่เป็นที่น่าสนใจให้ชวนคิดจากการทดลองของ ลิซ่า อาซีส์-ซาเดห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประสาทวิทยาของมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ทดลองสแกนภาพสมองของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษาที่เรียนเกี่ยวกับการออกแบบด้านสถาปัตยกรรม ด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก (Functional Magnetic Resonance Imaging หรือ fMRI) เพื่อดูการทำงานของระบบประสาทและสมองในช่วงที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มาก ๆ รายงานสรุปผลการทดลองนี้จากผลลัพธ์ของภาพที่แสกนออกมาได้แสดงให้เห็นว่า สมองทั้งสองซีกต่างช่วยกันทำงานในยามที่คนเรากำลังคิดอ่านเชิงสร้างสรรค์ และที่น่าแปลกใจก็คือ สมองซีกซ้ายที่เราเข้าใจว่าทำงานเกี่ยวกับด้านการคำนวณกลับมีภาพการทำงานของสมองที่ดูจะทำงานหนักกว่าสมองซีกขวาเสียอีก
และเมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานของคณะนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบการทำงานของสมองกับกลุ่มตัวอย่างในกลุ่มผู้ที่มีแนวโน้มเป็นนักคิดนักสร้างสรรค์อย่าง จิตรกร นักดนตรี ศิลปิน และนักวิทยาศาสตร์ โดยการใช้อุปกรณ์สแกนการทำงานสมองด้วยเช่นกัน แต่การทดลองครั้งนี้มีข้อบ่งชี้รายละเอียดในหลาย ๆ ด้านโดยมีข้อมูลสรุปไว้ว่า ในขณะที่คนเราใช้สมองในการคิดอ่านเชิงสร้างสรรค์ สมองส่วนต่าง ๆ จะมีการทำงานเชื่อมโยงกันเป็นแบบแผนเฉพาะรูปแบบหนึ่งในทุกครั้ง โดยมีลักษณะการทำงานใน 3 แบบแผนหลักที่ประกอบด้วยสมองหลายส่วน คือ
แบบที่ 1 เครือข่ายอัตโนมัติที่ทำงานเมื่อร่างกายพักผ่อน (Default-Mode Network-DMN) เชื่อมโยงกับการคิดแบบฉับพลันและการปล่อยวางทางจิตใจ
แบบที่ 2 เครือข่ายการควบคุมให้มีสมาธิกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
แบบที่ 3 เครือข่ายความคิดแบบไหลลื่น ซึ่งใช้ตัดสินใจว่าเรื่องใดมีความสำคัญมาเป็นลำดับก่อนหรือหลัง
โดยปกติการทำงานของสองแบบแรกจะมีความขัดแย้งกัน แต่สำหรับผู้ทีมีจินตนาการสูงหรือมีความคิดสร้างสรรค์กลับพบว่าการทำงานของทั้งสองเครือข่ายมีการทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งกลุ่มคนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ เรามักจะเรียกพวกเขาว่าคนที่มีความอัจฉริยะเช่นเดียวกัน มีความสามารถทางด้านความคิด มีจินตนาการล้ำเลิศ จนหลายครั้งที่เรามักจะเห็นผู้คนแหล่านี้คิดหรือทำในสิ่งที่หลายคนต้องอุทานออกมาว่า “คิดได้ไงอะ”
แหล่งที่มา
นักวิทยาศาสตร์พบแบบแผนการทำงานของ “สมองสร้างสรรค์. สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2561, จาก
http://www.bbc.com/thai/international-42770783
มล.นิพาดา เทวกุล. ความคิดสร้างสรรค์(Creative Thinking). สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561, จาก
https://pirun.ku.ac.th/~agrpct/lesson1/creative_thinking.html
ถอดรหัสการทำงานด้านครีเอทีพของสมองมนุษย์. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561, จาก
http://smartbrainbytyrosine.com/article_detail.php?id=3
-
7865 คิดสร้างสรรค์กับการทำงานของสมอง /article-science/item/7865-2018-02-22-02-50-43เพิ่มในรายการโปรด