ความแตกต่างของความเศร้ากับความซึมเศร้า
ในขอบเขตของอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ที่ค่อนข้างกว้าง ความเศร้าเป็นหนึ่งในอารมณ์ที่รับมือได้ยาก ทั้งเรื่องของตอบสนองต่อเหตุการณ์สำคัญในชีวิต การค้นพบบางสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจ หรือผลลัพธ์ที่ไม่เป็นที่น่าพอใจในหน้าที่ของตนเอง อย่างไรก็ดีแม้ความเศร้าจะเจ็บปวดและคงอยู่ได้เป็นเวลานาน แต่ปัญหาก็คือ ความสับสนระหว่างความเศร้าและความซึมเศร้าที่ดูเหมือนว่าผู้คนในปัจจุบัน จะใช้คำว่า “ความซึมเศร้า” บ่อยครั้งมากขึ้นโดยกล่าวสลับกับความเศร้า
ภาพ ความเศร้า
ที่มา tobbo/Pixabay
ความเศร้า (Sadness) กับความซึมเศร้า (Depression) ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน และการที่ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างของทั้งสองสภาวะได้นั่นหมายความว่า มีหลายคนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือในช่วงเวลาที่พวกเขาต้องการ ขณะที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานจากภาวะซึมเศร้าที่แท้จริง ซึ่งเป็นสภาวะที่สามารถรักษาได้ อย่างไรก็ตามความเศร้าเป็นอารมณ์ปกติของมนุษย์ ในขณะที่ภาวะซึมเศร้าเป็นลักษณะอาการทางจิตเวชที่มีความผิดปกติอย่างหนึ่ง และการทำความเข้าใจถึงความแตกต่างของอาการทั้งสองแบบนั้นเป็นเรื่องสำคัญ
เรื่องของความเศร้า
ความเศร้า (Sadness) เป็นอารมณ์ปกติของมนุษย์ เราทุกคนต่างประสบกับความเศร้าครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งความเศร้ามักเกิดขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับจากความยากลำบาก ความเจ็บปวด สถานการณ์ที่ท้าทาย ความผิดหวัง ประสบการณ์ที่ไม่น่าประทับใจ หรือสถานการณ์ที่เลวร้ายบางสถานการณ์ โดยมากความโศกเศร้าเหล่านั้นจะแสดงออกในรูปแบบของความเหงา ความเสียใจ และความอ่อนแอ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง การปรับตัว หรือใช้ความเข้าใจต่อบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นได้ อารมณ์เศร้าก็จะจางหายไปได้ตามกาลเวลา
ถึงเป็นเช่นนั้นก็ไม่ได้บอกว่าความเศร้าไม่เจ็บปวด บ่อยครั้งที่ความเศร้าเปลี่ยนแปลงวิถีทางในชีวิต แต่นั่นก็ยังไม่ใช่อาการถาวรหรือเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษา หากคุณเป็นหนึ่งคนที่รู้สึกเศร้า คุณสามารถดึงตัวเองออกจากสถานการณ์ที่ไม่สบายใจได้ โดยการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่คุณชอบ ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวและเพื่อน หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้ตัวเองหลุดออกจากสิ่งที่ทำให้ความสมดุลของความสุขลดลง
อันตรายจากภาวะซึมเศร้า
ความซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้า (Depression) เป็นความเจ็บป่วยทางจิตที่ส่งผลต่อความคิด อารมณ์ การรับรู้ และพฤติกรรมในรูปแบบที่แพร่หลายและเรื้อรัง ซึ่งมีอิทธิพลในทุกแง่มุมของชีวิต ทั้งทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดความน่าสนใจน้อยลง สนุกน้อยลง ลดความสำคัญและความรัก นอกจากนี้ภาวะซึมเศร้ายังบั่นทอนพลังงาน แรงจูงใจ และความสามารถที่จะสัมผัสกับความสุข ความยินดี ความพึงพอใจ ความตื่นเต้น ความคาดหวัง ความสัมพันธ์ ตลอดจนการมีคุณค่าและมีความหมาย
แนวคิดเกี่ยวกับสาเหตุของโรคซึมเศร้าเชื่อว่า มีความสัมพันธ์กับปัจจัยในหลาย ๆ ด้าน โดยปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้านั้นได้แก่ กรรมพันธุ์ ลักษณะนิสัย รวมทั้งความไม่สมดุลของสารเคมีและความบกพร่องในการควบคุมประสานงานของระบบต่าง ๆ ภายในสมอง อย่างไรก็ดีภาวะซึมเศร้าไม่ได้มีสาเหตุมาจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง และการให้ความสำคัญกับความรุนแรงของอาการที่บ่งชี้ถึงโรคและการรักษาเป็นเรื่องที่ควรให้ความสนใจมากกว่าการพิจารณาถึงสาเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า
ภาวะซึมเศร้าไม่จำเป็นต้องมีเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ยากลำบาก ความสูญเสีย หรือการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้น และไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ทำให้เกิดอาการซึมเศร้าเพียงสิ่งเดียว เราอาจใช้ชีวิตไปกับวันดี ๆ ที่สมบูรณ์แบบแต่แล้วเมื่อมีเมฆดำปรากฏขึ้นเหนือศีรษะ โลกที่เคยสดใสก็กลับหม่นหมองและขาดสีสันแห่งความสุขลงได้ หรือในบางครั้งคุณอาจจะเหนื่อยล้า ขาดแรงจูงใจแม้เพียงงานที่สามารถทำได้ง่าย ๆ จนในสุดท้ายแล้วร่างกายก็เกิดอาการเจ็บปวดขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว และแม้ว่ามีหลายคนที่เพิกเฉยต่อภาวะซึมเศร้ากล่าวอ้างถึง “เวลาที่สามารถเยียวยาทุกอย่างได้” หรือว่าจะเป็นคำพูดที่ว่า “ความสุขอยู่ที่ใจ” หรือข้อความที่เป็นประโยคเตือนใจต่าง ๆ อีกมากมาย ประโยคคำพูดที่ซ้ำซากเหล่านั้นไร้ประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังทุกข์ทรมานจากภาวะซึมเศร้า ทั้งยังเป็นการแสดงความโง่เขลาอย่างมากในแง่ของความเข้าใจในเรื่องของความแตกต่างระหว่างความเศร้าและความซึมเศร้า
เมื่อรู้สึกเศร้า นั่นเป็นผลมาจากเหตุผลสำคัญบางประการ ในขณะที่เมื่อรู้สึกหดหู่หรือสิ้นหวัง ทุกสิ่งทุกอย่างจะทำให้คุณเศร้าและเฉื่อยชาลง แม้สิ่งที่ทำให้รู้สึกสนุกก็กลับกลายเป็นความหม่นหมองและน่าเบื่อ ซึ่งความเศร้าที่ไม่มีที่สิ้นสุดนี้ประกอบไปด้วยช่วงที่ยากลำบากของอาการที่ทำให้ภาวะซึมเศร้ายิ่งเลวร้ายลง ในความเป็นจริงแล้วมีอาการของภาวะซึมเศร้าที่เป็นมาตรฐาน 9 ข้อที่เกิดขึ้นแตกต่างกันในแต่ละบุคคล โดยผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่พิจารณาว่าบุคคลใดก็ตามที่แสดงอาการ 5 ใน 9 อาการเหล่านี้ถือว่าเป็น โรคซึมเศร้า
อาการบ่งชี้ถึงโรคซึมเศร้า
อาการเหล่านี้เป็นอาการที่รุนแรงและพบมากที่สุดของภาวะซึมเศร้า อย่างไรก็ดีผู้เป็นโรคซึมเศร้าจะต้องแสดงอาการเหล่านี้ต่อเนื่องตลอดเวลานานเป็นเวลา 2 สัปดาห์ขึ้นไป
- มีอาการซึมเศร้า หรือในบางคนอาจเป็นอารมณ์หดหู่หรือหงุดหงิดง่าย
- น้ำหนักลดลงและเบื่ออาหาร
- นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป
- การสูญเสียความสุขในการทำกิจกรรมต่างๆ แม้ว่ากิจกรรมเหล่านั้นช่วยให้เกิดความสนุกเพลิดเพลิน
- เคลื่อนไหวช้า และกระวนกระวาย
- อ่อนเพลียและไร้เรี่ยวแรง
- รู้สึกไร้ค่าและลดความนับถือต่อตนเอง
- ไม่มีสมาธิ หรือมีความคิดสร้างสรรค์ลดลง
- มีความคิดอยากฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง
ภาวะซึมเศร้าไม่เพียงแต่เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและแพร่กระจายได้มากกว่าความเศร้า แต่ยังเป็นเรื่องที่ยากต่อการวินิจฉัย หลายครั้งที่เรามองเห็นความรู้สึกเศร้าจากคนที่นั่งร้องไห้ แต่เราไม่สามารถรับรู้ได้ว่าความเศร้าเหล่านั้นมีเหตุผลหรือเกิดจากความทุกข์ทรมานจากภาวะซึมเศร้า และยิ่งเป็นเรื่องยากเข้าไปอีกที่จะให้ผู้คนเหล่านั้นจะเปิดใจและเปิดเผยถึงความทุกข์ทรมานทางจิตใจให้ผู้อื่นรับรู้ ในหลายกรณีที่ภาวะซึมเศร้าไม่ได้รับการวินิจฉัย เช่นข้อสุดท้ายใน 9 เกณฑ์มาตรฐานของอาการบ่งชี้ของโรค ผู้ที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงทีมักพบกับผลลัพธ์ที่น่าเศร้า ดังนั้นหากพบว่า มีคนที่รู้จักกำลังเผชิญกับทุกข์ทรมานจากภาวะซึมเศร้าอยู่ และเขาต้องการความช่วยเหลือ พยายามช่วยเหลือและใช้เวลารับฟังสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขา ทั้งนี้มีหลายวิธีที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถลดภาวะซึมเศร้าลงได้ ทั้งการบําบัดทางความคิดและพฤติกรรม รวมถึงการรักษาด้วยยา
แม้ว่ามนุษย์จะมีหลากหลายอารมณ์ที่พัฒนาเป็นความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ สิ่งหนึ่งที่ควรตระหนักก็คือ เราควรทำความเข้าใจว่าความสุข ความเศร้า ความเจ็บปวด ความหิวโหย ความอ่อนแอ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องยอมรับและอยู่กับมันอย่างเข้าใจในธรรมชาติของชีวิต ดังนั้นการปิดกั้นความรู้สึก ความคับข้องใจ และการทำร้ายตัวเองไม่ใช่ทางออกของปัญหา แต่การพูดคุยกับใครสักคนที่พร้อมจะเข้าใจควรเป็นตัวเลือกในลำดับต้น ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ที่กำลังเผชิญกับความทุกข์ทรมานจากภาวะซึมเศร้าสามารถก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากเหล่านั้นไปได้อย่างสวยงาม
แหล่งที่มา
John Staughton. (2015, ). What’s The Difference Between Sadness And Depression?
Retrieved March 5, 2018,
from https://www.scienceabc.com/eyeopeners/whats-difference-sadness-depression-human-emotions.html
Guy Winch. (2015, 2 October). The Important Difference Between Sadness and Depression.
Retrieved March 5, 2018,
from https://www.psychologytoday.com/blog/the-squeaky-wheel/201510/the-important-difference-between-sadness-and-depression
ศาสตราจารย์นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล. (2015). โรคซึมเศร้าโดยละเอียด (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2561, จาก
https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1017
-
7931 ความแตกต่างของความเศร้ากับความซึมเศร้า /article-science/item/7931-2018-03-19-04-03-54เพิ่มในรายการโปรด