อันตรายจากยาที่ไม่ควรทานคู่กัน
เราคงเคยได้ยินเรื่องการกินยาตีกัน กินยาหลายชนิดด้วยกัน หรือกินเครื่องดื่มผิดประเภท ขึ้นชื่อว่ายาแล้วก็เป็นอันตรายทั้งสิ้น ก่อนรับประทานต้องศึกษาให้ดีเป็นอย่างยิ่ง วันนี้มีข้อมูลมาฝากให้อ่านเตือนกันไว้นะครับ
อันตรายจากการรับประทานยาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกผู้คน แต่กลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือกลุ่มที่มีโรคประจำตัวที่มีความจำเป็นต้องรับประทานยาอยู่เป็นประจำเช่น กลุ่มผู้ป่วยเรื้องรังประเภทต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเอดส์ เป็นต้น หรืออาจเกิดกับผู้ป่วยที่เลือกการรักษากับสถานพยาบาลมากกว่าหนึ่งแห่งด้วยเช่นกัน
ภาพ ยา
ที่มา https://pixabay.com
ลักษณะอาการหนึ่งที่อาจเรียกฤทธิ์ของยาตัวหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเมื่อได้รับยาอีกตัวหนึ่งร่วมด้วย มักเรียกกันว่า ยาตีกัน ซึ่งอาจเกิดอันตรายจากการทานยาคู่กันดังกล่าวได้เช่น ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรืออาจจะทำให้ผลการรักษาลดลง และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตก็เป็นได้
กลุ่มยาที่มักพบเกิดปัญหาตีกัน
ยาลดความดันโลหิตสูงกับยาแก้ปวด
แน่นอนว่ากลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจำเป็นต้องทานยาเป็นประจำในช่วงเวลาหลังอาหาร เพื่อควบคุมความดันโลหิต แต่ด้วยที่ว่ากลุ่มผู้ป่วยโรคนี้ก็มักมีอาการปวดเมื่อยตามข้อ ก็มักจะทานยาแก้ปวดเพื่อช่วยบรรเทาอาหารปวดเมื่อด้วยเช่นกัน แต่ยาแก้ปวดเองก็มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว เมื่อทานยาทั้งสองชนิดเข้าไปในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน หรือติดต่อกันเป็นระยะเวลานานก็อาจมีผลทำให้ไปกดฤทธิ์ยาลดความดันโลหิต ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถลดความดันโลหิตได้
ยาลดความดันโลหิตสูงกับยาแก้แพ้อากาศ
เช่นเคยที่ว่ายาลดความดันโลหิตสูงที่มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ในขณะที่ยาลดอาการแพ้หรือแก้แพ้ที่เราคุ้นเคยกันดีในการแก้อาการแพ้ จาม น้ำมูกไหล เป็นหวัด คัดจมูก มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว ซึ่งหากรับประทานคู่กันไประยะเวลานานก็มีผลเสียทำให้ยาตีกันและทำให้ควบคุมความดันไม่ได้
ยารักษาโรคเบาหวานกับยาแก้แพ้อากาศ
ผู้ป่วยเบาหวานมีความจำเป็นที่ต้องกินยาควบคุมไว้ตลอด ซึ่งตามปกติก็อาจเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยก็อาจมีภาวะอาการป่วยแทรกซ้อนเช่น การเป็นหวัดคัดจมูก ก็จำเป็นต้องใช้ยาแก้แพ้เพื่อรักษาอาการ ทั้งนี้ยาแก้แพ้มีผลต่อการเพิ่มระดับอุณหภูมิในเลือด โดยอาจจะส่งผลให้ยาที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานรับประทานอยู่นั้นซึ่งมีการการออกฤทธิ์ของยาลดน้ำตาลในเลือดมีประสิทธิภาพลดลง
ยาแก้ท้องเสียชนิดคาร์บอนกับยาเบาหวานและยาลดความดันโลหิตสูง
ยาแก้ท้องเสียชนิดคาร์บอนมีฤทธิ์ช่วยดูดสารพิษ และเมื่อทานยาลดความดันโลหิตหรือยาลดระดับน้ำตาลในเลือด คาร์บอนจะเข้าไปดูดซับยาชนิดที่กล่าวไป ซึ่งมีผลต่อการทำงานของตัวยาคือประสิทธิภาพของยาทำงานได้น้อยลง
ยาปฏิชีวนะกลุ่มฆ่าเชื้อบางชนิดกับยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาจมีความจำเป็นที่ต้องทานยาลดกรดเป็นประจำ ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีภาวะอาการท้องเสียจึงต้องทานยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ แต่เนื่องด้วยยาลดกรดจะมีแร่ธาตุพวกแคลเซียม อลูมิเนียม ซึ่งแร่ธาตุเหล่านี้อาจไปจับกลุ่มยาฆ่าเชื้อ ทำให้ยาฆ่าเชื้อมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง
ยาแก้ปวดไมเกรนกับยาต้านไวรัสเอดส์บางกลุ่ม
ผู้ป่วยที่มีเชื้อ HIV อยู่ในร่างกาย หรือผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเป็นโรคเอดส์ ซึ่งมีความจำเป็นต้องทานยาต้านไวรัสอยู่เป็นประจำทุกวัน เช่น กลุ่มยาต้านไวรัสสูตรที่มียา เอฟฟาไวเรนซ์ ( Efavirenze) หรือมียากลุ่มพีไอ (PIs) เช่น โลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ (Lopinavir/ritonavir), อทาสนาเวียร์ (Atasnavir), ดารุนาเวียร์ (Darunavir) เป็นต้น มีข้อห้ามที่ควรรู้ไว้เป็นอย่างยิ่งคือ ห้ามรับประทานยารักษาอาการไมเกรนกลุ่มเออร์กอต (Ergot) เช่น คาเฟอร์กอต (Cafergot), เออร์โกมาร์ (Ergomar) โดยเด็ดขาด เพราะตัวยามีผลตีกันอย่างรุนแรงทำให้เกิดอาการชาปลายมือปลายเท้า อาการแขนขาอ่อนแรง ผิวหนังบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้าจะมีสีม่วงคล้ำขึ้นจนเปลี่ยนเป็นสีดำที่เรียกว่า เกิดเนื้อตาย ซึ่งมีความจำเป็นต้องตัดแขนตัดขาทิ้งในที่สุด
นอกจากนี้เรายังพบการตีกันระหว่างกลุ่มสารอาหารประเภทต่าง ๆ กับยาชนิดต่าง ๆ ยกตัวอย่างดังต่อไปนี้
น้ำมันปลากับยาแอสไพริน
น้ำมันปลาซึ่งมีฤทธิ์ช่วยให้เลือดใส ส่วนแอสไพรินยากลุ่มต้านการอักเสบ ทั้งสองชนิดมีฤทธิ์ในการยับยั้งการแข็งตัวของเกล็ดเลือด ซึ่งอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง
แคลเซียมในธรรมชาติกับแคลเซียมชนิดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ถ้าเรารับประทานอาหารที่มีสารอาหารชนิดแคลเซียมเพียงพออยู่แล้ว หรือเกินที่ปริมาณที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ หากเราทานแคลเซียมชนิดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อาจอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์ชนิดเม็ดนั้น ก็จะทำให้ร่างกายอาจได้รับแคลเซียมมากเกินไป และไปจับกับหลอดเลือดทำให้ตับแข็งได้
ธาตุเหล็กกับเลือดจางธาลัสซีเมีย(ยาบำรุงเลือด)
ความเชื่อที่ว่าถ้าเลือดจางต้องกินธาตุเหล็กอาจใช้ไม่ได้ผลเสมอไป เพราะหากผู้ป่วยโรคเลือดจางชนิดธาลัสซีเมียทานอาหารเสริมที่เป็นธาตุเหล็กเพิ่มเข้าไปในร่างกาย ซึ่งเป็นปริมาณที่มากเกินไปสำหรับร่างกายและมีผลร้ายกับอวัยวะภายในร่างกายอย่างหัวใจและตับได้
การแพ้ยา
การแพ้ยาเกิดจากกระบวนการในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอย่างเฉียบพลันหลังจากได้รับยา เป็นการเกิดเฉพาะรายเฉพาะบุคคล จึงมีโอกาสในการเกิดและระดับความรุนแรงของอาการแตกต่างกันไป ซึ่งเป็นผลมากจากฤทธิ์ของยาที่รับประทาน กับการไม่ตอบสนองจนเกิดอาการแพ้ตั้งแต่เล็กน้อยถึงขั้นรุนแรง และไม่สามารถทราบได้ล่วงหน้า อาการที่ควรสังเกตที่อาจเกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากใช้ยา ประกอบด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งคือ ผื่นลมพิษ เปลือกตาบวม หน้าบวม หายใจมีเสียงผิดปกติ (เสียงหวีดหวิว) หายใจลำบาก หน้ามืดเป็นลม ความดันโลหิตต่ำ มีผื่นหรือผิวหนังลอกบริเวณปาก เป็นต้น
ดังนั้นท่านผู้อ่านทุกท่านควรตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ควรสอบถามและศึกษาข้อมูลชนิดของยาที่ใช้อยู่เป็นประจำว่ามีข้อปฏิบัติและข้อห้ามอย่างไรบ้าง การรับการรักษาจากหลายสถานพยาบาลก็ควรแจ้งแก่แพทย์ผู้รักษาว่าเราทานยาอะไรอยู่บ้าง แพ้ยาอะไรบ้าง และไม่ควรซื้อยาและอาหารเสริมมากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
แหล่งที่มา
นพ.กฤษดา ศิรามพุช. ยาที่ไม่ควรกินคู่กัน. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
http://medinfo2.psu.ac.th/shf/data/pr55_MayJun.pdf
ยาตีกัน...ยาตัวไหน ห้ามกินกับตัวไหน???. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
http://oknation.nationtv.tv/blog/DIVING/2013/03/26/entry-1
เภสัชกรหญิงทิพวรรณ วงเวียน. อันตราย...จากยาตีกัน. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
http://www.somdej.or.th/index.php/2016-01-18-07-17-40
ยาต้านไวรัส HIV ที่ห้ามกินร่วมกับยาไมเกรน. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
http://www.fortkawila.com/home/?p=1577
-
7949 อันตรายจากยาที่ไม่ควรทานคู่กัน /article-science/item/7949-2018-03-20-08-21-06เพิ่มในรายการโปรด