ผู้ผลิตวัคซีนโปลิโอคนแรกของโลก
“โรคโปลิโอ” (Poliomyelitis) โรคติดต่อร้ายแรงจากเชื้อไวรัสโปลิโอ (Poliovirus) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Picornaviridae และในกลุ่ม Enterovirus ทำให้เกิดอันตรายต่อระบบประสาทไขสันหลัง หากไม่ได้รับการรักษาอาจกลายเป็นอัมพาต พิการ และเสียชีวิตได้ในที่สุด การระบาดและแพร่กระจายของโรคนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วในอดีต จนเมื่อกระทั่ง ได้มีผู้ค้นพบแนวทางพัฒนาวัคซีนโรคโปลิโอสำเร็จเป็นครั้งแรก โรคนี้ก็ค่อย ๆ เลือนหายไปและสามารถควบคุมการแพร่ขยายของโรคได้ในที่สุด เรามาทำความรู้จักกับ โจนัส ซอล์ก (Jonas Salk) แพทย์ชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งได้รับการยกย่อยให้เป็นวีรบุรุษของชาติในประเทศสหรัฐอเมริกาอันเนื่องมาจากการค้นพบวัคซีนโปลิโอนี้
ในอดีตเกิดโรคโปลิโอระบาดอย่างหนักในสหรัฐอเมริกา ทำให้ซอล์กพยามคิดค้นหาวิธีที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้นในคนให้ได้ และเขาก็ทำสำเร็จวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1914 ซอล์กได้ตั้งชื่อวัคซีนรักษาโรคโปลิโอนี้ว่า วัคซีนของซอล์ก (Salk’s vaccine) และยังได้จัดตั้งสถาบันวิจัย Salk institute ศูนย์วิจัยด้านชีวภาพในรัฐแคลิฟอร์เนียอีกด้วย
โจนัส ซอล์ก" (Jonas Salk)
ที่มา https://et.wikipedia.org/wiki/Jonas_Salk
ทำความรู้จักโรคโปลิโอ
โปลิโอเกิดจากเชื้อไวรัสที่เข้าไปทำลายระบบประสาทจนทำให้ผู้ติดเชื้อมีภาวะอัมพาต หายใจลำบาก หรือถึงแก่ความตายได้ โดยส่วนใหญ่เชื้อโปลิโอจะแพร่กระจายจากคนไปสู่คนผ่านการรับเชื้อที่ถูกขับถ่ายออกมาพร้อมกับอุจจาระเข้าสู่ทางปาก ก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ทั้งระบบทางเดินอาหารและระบบประสาทส่วนกลาง แนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดจึงจำเป็นต้องใช้วัคซีนในการป้องกัน ซึ่งในประเทศไทยเอง วัคซีนโปลิโอก็จัดอยู่ในกลุ่มวัคซีนพื้นฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เด็กไทยทุกคนต้องได้รับ
วัคซีนโปลิโอ
การประสบความสำเร็จในการค้นพบวัคซีนอันมีที่มาจากแนวทางการทำลายไวรัสซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ถึง 3 สายพันธุ์ เพราะในปกติแล้วอย่างที่เรารู้กันดีว่า ถ้าร่างกายมีแอนติบอดี้หรือภูมิต้านทานนั้นแล้ว เมื่อร่างกายได้รับเชื้อนั้นมาก็จะไม่ทำอันตรายใด ๆ ต่อร่างกายของเราได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราต้องสร้างแอนติบอดี้หรือภูมิต้านทานโรคนี้ด้วยการใช้วัคซีนจากไวรัสที่ถูกทำลายแล้ว โดยใช้ตัวอย่างไวรัสที่มีชีวิตและฆ่ามันด้วยฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) จากนั้นจึงฉีดเชื้อไวรัสที่ตายนี้เข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ขึ้นในระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์
ในช่วงเวลาต่อมา อัลเบิร์ต ซาบิน (Albert Sabin) ก็ได้พัฒนาวัคซีนรักษาโรคโปลิโอสำเร็จเช่นกัน โดยใช้เชื้อไวรัสที่มีชีวิตนำมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลง ด้วยวิธีหยอดใส่ทางปาก เป็นวัคซีนที่เตรียมจากเชื้อโปลิโอที่ยังมีชีวิตอยู่แต่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง รวม 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์เซบิน 1, 2 และ 3 ซึ่งเป็นวัคซีนในลักษณะของการเลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะที่บริเวณเยื่อบุลำคอและลำไส้อย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันองค์การอนามัยโลกได้ประกาศยกเลิกการใช้วัคซีนโปลิโอชนิดหยอด 3 สายพันธุ์ และให้นำวัคซีนโปลิโอชนิดหยอดพ่วงกับแบบฉีดแทน
เชื้อไวรัสโปลิโอติดต่อกันได้ง่าย และมักจะแพร่ระบาดในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ เพราะเป็นวัยที่ยังไม่มีภูมิต้านของโรคนี้อยู่ การแพร่เชื้อโรคก็มีสาเหตุอันเนื่องจากไวรัสนี้เจริญเติบโตอยู่ในลำไส้ของผู้ป่วย เชื้อจึงถูกขับออกจากร่างกายมากับอุจจาระ ในวัยเด็กซึ่งเป็นวัยที่ยังไม่ค่อยรู้ภาษา ไม่รู้สุขลักษณะที่ดีก็อาจทำให้ได้รับเชื้อโดยง่ายจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระของผู้ป่วย การไม่ล้างมือก่อนการหยิบจับอาหาร ก็เป็นช่องทางหนึ่งในการได้รับเชื้ออันตรายนี้ ผู้ปกครองจึงควรคอยดูแลระมัดระวังลูกหลานของท่านเป็นอย่างยิ่งไม่ให้ได้รับเชื้อนี้
ถึงแม้ว่าโรคโปลิโอจะเป็นโรคที่ไม่พบการแพร่ระบาดแล้วในประเทศไทย แต่การฉีดวัคซีนก็ยังคงดำเนินต่อไปตามนโยบายที่สอดคล้องกับแผนจัดการกวาดล้างโปลิโอ ตามมติของการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก และแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กตามนโยบายของประเทศ
แหล่งที่มา
โจนัส ซอล์ก . สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2561, จาก http://www.atom.rmutphysics.com/charud/PDF-learning/6/picscientist/4/Jonas-salk.pdf
โจนัส ซอล์ก . สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2561, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/โจนัส_ซอล์ก
mata. มารู้จักวัคซีนโรคโปลิโอ ที่ผู้อ่านทุกคนต้องได้รับ. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2561, จาก https://board.postjung.com/642715.html
ไทยรัฐฉบับพิมพ์ . (2558, 8 สิงหาคม). ยุทธการกวาดล้าง "โปลิโอ" สิ้นโลก ปิดฉาก "วัคซีน" ชนิดหยอด. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2561, จาก https://www.thairath.co.th/content/516767
รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.มะลิ วิโรจน์แสงทอง. วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ: ปัจจุบันและอนาคต.สืบค้นเมื่อ สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2561, จาก http://ccpe.pharmacycouncil.org/index.php?option=article_detail&subpage=article_detail&id=341
-
8404 ผู้ผลิตวัคซีนโปลิโอคนแรกของโลก /article-science/item/8404-2018-06-01-02-57-17เพิ่มในรายการโปรด