สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเสียบสายชาร์จไว้กับแหล่งจ่ายไฟ แต่ไม่ได้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์
อุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าที่ยังคงเสียบคาอยู่ที่ปลั๊กไฟติดผนังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าภายในครัวเรือน และอาจรวมถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งาน
ภาพที่ 1 การเสียบสายชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้า
ที่มา https://pixabay.com , StockSnap
บ่อยครั้งที่เรามักจะลืมถอดอุปกรณ์ชาร์จพลังงานไฟฟ้าออกจากแหล่งจ่ายไฟหลัก (Main power supply) นั่นทำให้อุปกรณ์ชาร์จพลังงานยังคงเชื่อมต่อกับแหล่งจ่ายไฟโดยที่ไม่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าเชื่อมต่อกับสายชาร์จ ดังนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ พลังงานไฟฟ้าที่สูญเสียไปและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่อุปกรณ์ถูกเชื่อมต่อกับแหล่งจ่ายไฟเป็นเวลานาน
โดยทั่วไปแล้วระบบไฟฟ้าที่ใช้ในครัวเรือนจะมีแรงดันไฟฟ้าอยู่ที่ 100 - 240 โวลต์ ความถี่ 50 - 60 เฮิรตซ์ ขึ้นอยู่กับระบบไฟฟ้าของแต่ละประเทศ ซึ่งในประเทศไทยจะใช้ไฟฟ้าที่แรงดัน 220 โวลต์ ความถี่ 50 เฮิรตซ์ อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเป็นลำดับแรกก็คือ อุปกรณ์ชาร์จพลังงานไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่แปลงไฟฟ้ากระแสสลับ (Alternating current หรือ AC) จากแหล่งจ่ายไฟหลักมาเป็นไฟฟ้ากระแสตรง (Direct current หรือ DC) เพื่อให้ได้แรงดันไฟฟ้าที่ต่ำลงมาเท่ากับความต้องการของอุปกรณ์ไฟฟ้า
ภาพที่ 2 แท่นชาร์จผนัง (Wall charger)
ที่มา https://pixabay.com , pagefact
สำหรับแท่นชาร์จผนัง (Wall charger) ที่เป็นอุปกรณ์ชาร์จพลังงานไฟฟ้าในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างสมาร์ตโฟนนั้น จะประกอบด้วย 3 ส่วนได้แก่ วงจรแปลงไฟฟ้า AC-DC (AC-DC convertor) หม้อแปลงไฟฟ้าแบบลดแรงดันไฟฟ้า (Step-down transformer) และอุปกรณ์รักษาระดับแรงดันไฟฟ้า (Regulator) ทั้งนี้แม้ว่าในปัจจุบันอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าจะมีการออกแบบที่แตกต่างกันออกไปแต่โดยกลไกพื้นฐานยังคงเป็นเช่นเดิม
ด้วยแรงดันไฟฟ้าในครัวเรือนที่มีแรงดันสูงถึง 220 โวลต์ แรงดันไฟฟ้าสูงเช่นนี้ไม่สามารถใช้ในเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ ดังนั้นหม้อแปลงไฟฟ้าแบบลดแรงดันไฟฟ้าในแท่นชาร์จผนัง จะช่วยลดแรงดันไฟฟ้าขาเข้าจากแหล่งจ่ายไฟหลักเป็นแรงดันไฟฟ้าขาออกที่ต่ำลงเพื่อให้สามารถใช้ในอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ได้ เมื่อหม้อแปลงไฟฟ้าแบบลดแรงดันไฟฟ้าลดแรงดันไฟฟ้าลงเหลือ 5 โวลต์ซึ่งเป็นแรงดันไฟฟ้าที่ถูกใช้เพื่อชาร์จแบตเตอรี่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ วงจรแปลงไฟฟ้า AC-DC จะแปลงไฟฟ้ากระแสสลับเป็นไฟฟ้ากระแสตรง จากนั้นอุปกรณ์รักษาระดับแรงดันไฟฟ้าจะทำหน้าที่ในการควบคุมการไหลของกระแสไฟฟ้าเพื่อรักษาแรงดันที่จ่ายให้กับโหลดให้มีค่าคงที่
โหลด (Load) หรือภาระทางไฟฟ้า เป็นกำลังไฟฟ้าที่ถูกใช้โดยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือวงจรไฟฟ้าต่างๆ ที่ต่ออยู่กับระบบจำหน่ายไฟฟ้า มีหน่วยเป็นวัตต์ (Watt)
ภาพที่ 3 สมาร์ตโฟนจะใช้แรงดันไฟฟ้าประมาณ 5 โวลต์ ในการชาร์จแบตเตอรี่
ที่มา https://pixabay.com , StockSnap
ในกรณีที่มีการดึงสายชาร์จอุปกรณ์ออกจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เมื่อแบตเตอรี่แสดงการชาร์จ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้ถอดอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าออกจากปลั๊กไฟ อุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าจะยังคงดึงกระแสไฟฟ้าที่น้อยที่สุดจากแหล่งจ่ายไฟหลัก ซึ่งนั่นทำให้เกิดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าโดยเปล่าประโยชน์ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะสูญเสียพลังงานไฟฟ้า แต่ก็เป็นจำนวนเงินในอัตราที่น้อยมากต่อใบเสร็จค่าไฟฟ้ารายเดือน สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงมากกว่าเงินที่ต้องเสียไป ในกรณีที่มีการเสียบอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าไว้เป็นเวลานาน ควรจะเป็นเรื่องของความปลอดภัย เนื่องด้วยพฤติกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดไฟไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรได้ ดังนั้นอย่าปล่อยให้เรื่องเล็ก ๆ อย่างการถอดอุปกรณ์ชาร์จพลังงานไฟฟ้ากลายเป็นเรื่องยุ่งยากที่เราละเลย อย่างน้อยที่สุดที่ควรตระหนักถึงก็คือ ความคุ้มค่าที่จะไม่เสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตหรือทรัพย์สินจากอัคคีภัย
แหล่งที่มา
Ashish. (2018, March 30). What Happens If A Charger Is Plugged Into A Power Supply, But Not Connected To Any Device?. Retrieved May 2, 2018, From https://www.scienceabc.com/innovation/what-happens-if-a-charger-is-plugged-in-a-power-supply-but-not-connected-to-any-device.html
Alternating current. Retrieved May 2, 2018, From https://en.wikipedia.org/wiki/Alternating_current
Power Adapters. Retrieved May 2, 2018, From http://physics.highpoint.edu/~jregester/potl/Electronics/ACAdapter/ACAdapters.html
ผศ. ชายชาญ โพธิสาร. (31 พฤษภาคม 2560). บทที่ 1 พื้นฐานระบบไฟฟ้า. สืบค้นวันที่ 2 พฤษภาคม 2561. จาก http://www.temcathai.com/iframe/download/2017-05-31/02/data-file-01.pdf
-
8468 สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเสียบสายชาร์จไว้กับแหล่งจ่ายไฟ แต่ไม่ได้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ /article-science/item/8468-2018-07-18-03-58-12เพิ่มในรายการโปรด