วิถีของมดงานในสังคมใหญ่
ในสังคมเมืองใหญ่หรือแม้แต่สังคมชนบท เรามักจะพบเห็นมดในทุกแห่งทุกหนตลอดปี มดมีความสามารถหลายด้านและมีพฤติกรรมต่างกันออกไป ทำให้มดกลายเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกที่ต้องการศึกษา โดยเฉพาะ“มดงาน”ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวรรณะของมดที่มีความสำคัญอย่างมาก มดงานหรือ worker เป็นมดตัวเมียที่เป็นหมันไม่มีปีก ทำหน้าที่คอยหาอาหารป้องกันศัตรู ดูแลตัวอ่อน, ไข่ และรังของมดรวมทั้งมดราชินี ในมดบางชนิดยังสามารถแบ่งมดงานออกเป็น “มดทหาร” ซึ่งมีขนาดลำตัวใหญ่แต่เล็กกว่ามดราชินี พบได้ภายในรังและบริเวณใกล้รังเพื่อป้องกันศัตรูต่างๆ อีกหนึ่งประเภทคือ “มดกรรมกร” มีขนาดเล็กกว่ามดทหาร พบได้ในบริเวณที่ห่างรังออกไปเนื่องจากต้องออกไปหาอาหาร
ภาพที่ 1 มดงาน
ที่มา https://pixabay.com, Snknjak
จะเห็นได้ว่ามดเป็นแมลงที่มีวิวัฒนาการสูง สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและสามารถอยู่รอดได้ดี เนื่องจากมดมีพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตพฤติกรรมเหล่านี้ประกอบด้วย
- พฤติกรรมการผสมพันธุ์และการสร้างรัง เมื่อประชากรภายในรังมีความหนาแน่นมากและต้องการขยายรัง สมาชิกมดในวรรณะสืบพันธุ์ทั้งเพศผู้และเพศเมียจะบินออกจากรังเดิม เพื่อจับคู่กับมดจากรังอื่น โดยมดงานจะช่วยขุดรูให้เป็นทางออกของมดในวรรณะสืบพันธุ์ดังกล่าว มดที่มีวิวัฒนาการสูงจะจับคู่และผสมพันธุ์บนที่สูง เช่น บนต้นไม้ ส่วนมดที่มีวิวัฒนาการต่ำจะผสมพันธุ์บนพื้นดิน หลังจากผสมพันธุ์แล้วเฉพาะมดเพศเมียจะหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างรัง ซึ่งจะแตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิดของมด แล้วเริ่มต้นสร้างรังใหม่ โดยจะสลัดปีกออกกลายเป็นมดราชินี และเริ่มต้นวางไข่ การวางไข่ครั้งแรกจะวางเป็นกลุ่มเล็ก ๆ มดรุ่นแรกนี้จะเป็นมดงานเพียงวรรณะเดียว โดยมดราชินีจะทำหน้าที่หาอาหารมาเลี้ยงดูตัวอ่อนชุดแรกเอง ซึ่งการให้กินไข่ชุดที่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์จนมดงานรุ่นแรกนี้เจริญเติบโตเป็นมดงานที่ทำหน้าที่ออกหาอาหารเองได้ และเมื่อมีมดงานตัวเต็มวัยมากขึ้น มดราชินีจะทำหน้าที่วางไข่และควบคุมพฤติกรรมภายในรังเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและสภาพอากาศ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของอาหารจะมีอิทธิพลต่อการผสมพันธุ์ เมื่อภายในรังมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น มดราชินีจะมีการผลิตมดวรรณะสืบพันธุ์เพศผู้และเพศเมียเพื่อทำหน้าที่ผสมพันธุ์ขยายรังต่อไป
- พฤติกรรมการหาอาหาร มดงานออกหาอาหารได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ส่วนใหญ่จะพบมากในเวลากลางวัน กินอาหารได้หลากหลาย อีกทั้งสามารถเป็นตัวห้ำกินสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ กินสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้วและกินได้ทั้งเมล็ดพืชหรือดูดกินอาหารที่เป็นของเหลว บางชนิดสามารถเก็บอาหารที่เป็นของเหลวไว้ในกระเพาะจนเต็มแล้วนำกลับไปแจกจ่ายให้กับสมาชิกตัวอื่น ๆ ภายในรังได้ โดยใช้วิธีสำรอกออกมาในเวลาประมาณไม่เกิน 20 ชั่วโมง
- พฤติกรรมการติดต่อสื่อสาร มดมีการติดต่อสื่อสารโดยปล่อยสารที่เรียกว่า ฟีโรโมน (pheromone) ที่มดตัวอื่นจะรับการติดต่อได้โดยอาศัยหนวดและขาคู่หน้า ฟีโรโมนมีหลายชนิดเช่น
3.1 ฟีโรโมนนำทาง (trail pheromone) โดยมดจะปล่อยไว้ตามทางที่มันเดินผ่านเพื่อให้สมาชิกตามไปยังแหล่งอาหารได้ถูกต้อง และเมื่อพบอาหารปริมาณมาก ๆ มดจะช่วยกันปล่อยฟีโรโมนทำให้มีมดเป็นจำนวนมากกรูมาที่อาหารอย่างรวดเร็วเพื่อนำอาหารกลับไปเลี้ยงสมาชิกตัวอื่น ๆ ภายในรัง
3.2 ฟีโรโมนเตือนภัย (alarm pheromone) พบว่าเป็นฟีโรโมนที่เมื่อปล่อยออกมาในปริมาณน้อย ๆ จะใช้สื่อสารด้านการเตือนภัย แต่ถ้าปล่อยออกมาในปริมาณมาก ๆ จะสามารถควบคุมพฤติกรรมบางอย่างของมดได้ด้วยเช่น ให้เข้าโจมตีศัตรู หรือขุดรูเพื่อหลบภัย และพบว่าฟีโรโมนชนิดนี้จะไม่จำเพาะเจาะจงกับชนิดของมดเหมือนกับฟีโรโมนนำทาง
3.3 ฟีโรโมนอื่น ๆ มดจะปล่อยออกมาในเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น มดตัวอ่อนสามารถปล่อยฟีโรโมนกระตุ้นให้มดงานป้อนอาหารให้เมื่อมันรู้สึกหิว หรือฟีโรโมนที่มดราชินีปล่อยออกมาเพื่อควบคุมกิจกรรมของประชากรภายในรัง
- พฤติกรรมการใช้เสียง มีรายงานว่ามดบางชนิดสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ โดยใช้เสียงเพื่อเป็นการเตือนภัยเรียกสมาชิกตัวอื่นๆ ให้มาอยู่รวมกันเมื่อพบศัตรู หรือเรียกมาช่วยเมื่อมีอันตรายเกิดขึ้น
ภาพที่ 2 มดงานขณะขนย้ายตัวอ่อน
ที่มา https://pixabay.com, AnishRoy
นอกจากนี้ พฤติกรรมต่าง ๆ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นความมหัศจรรย์ของมดที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติสร้างไว้ให้พวกมันคือ การเป็นนักพยากรณ์ธรรมชาติ สังเกตได้ว่าเมื่อพบว่ามดขนไข่ขึ้นสู่ที่สูงแสดงว่าฝนกำลังจะตกหนักระดับน้ำท่วมนอง เนื่องจากมดสามารถรับรู้ถึงความชื้นในอากาศและการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในดินได้ ก่อนฝนตกมักจะมีอากาศชื้นมดจะรับรู้ถึงความชื้นได้ดีกว่ามนุษย์ กลไกการปกป้องรังและลูกหลานจากน้ำท่วมก็คือการอพยพนั่นเอง
มดอพยพหนีร้อน เนื่องจากมดเป็นสัตว์ที่ไวต่ออุณหภูมิและความชื้น ในฤดูแล้งหากเห็นหมดอพยพจากดินขึ้นมาอยู่ในบริเวณที่เย็นชื้น แสดงว่าบริเวณนั้นร้อนและแห้งแล้ง เมื่อเราเข้าป่าในหน้านี้แล้วหากเห็นมดอพยพให้รีบอพยพตามมด เพราะอาจเกิดไฟป่าในบริเวณใกล้เคียงได้ เนื่องจากอากาศที่แห้งมาก มดแตกฮืออาจเกิดแผ่นดินไหวได้ มดอาศัยอยู่ใต้พื้นดินจะมีสัญชาติญาณรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ในดินมากกว่ามนุษย์ หากพบมดแตกฮือออกจากรังโดยไม่มีสัญญาณธรรมชาติอื่นใดว่าจะมีฝนตกหรือน้ำท่วม ให้คาดเดาไว้เลยว่าอาจเกิดแผ่นดินไหว
แหล่งที่มา
สุทัศน์ ยกล้าน และสมศรี ตั้งมงคลเลิศ. (2561, 27 สิงหาคม). มดศึกษา และมดจำทิศทางได้อย่างไร. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2561, จาก https://web.ku.ac.th/schoolnet/snet4/may11/ant.htm
บุษยมาศ แสงเงิน. (2561, 27 สิงหาคม). มดงาน. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2561, จาก https://www.gotoknow.org/posts/406349
บริษัท ซีแอนด์เค เซอร์วิสเซ็นเตอร์ จำกัด. (2561, 27 สิงหาคม). พฤติกรรมของมด. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2561, จาก http://www.cnkservicecenter.com/บริการ/มด/พฤติกรรมของมด/
คิงส์ เซอร์วิส เซ็นเตอร์. (2561, 27 สิงหาคม). มดนักพยากรณ์. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2561, จาก http://kingservice.co.th/resource/ants/
-
8642 วิถีของมดงานในสังคมใหญ่ /article-science/item/8642-2018-09-11-07-44-25เพิ่มในรายการโปรด