จริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ว่าด้วยเรื่องจริยธรรม เป็นสิ่งที่ควรมีในทุกกิจกรรมงานในทุก ๆ ด้าน ไม่เว้นแม้แต่งานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ควรมีอยู่เป็นพื้นฐานแก่ผู้ประกอบอาชีพหรือผู้ที่เกี่ยวข้องด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
ภาพ จริยธรรมทางวิทยาศาสตร์
ที่มา https://pixabay.com/ , Clker-Free-Vector-Images , 3dman_eu
นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้องที่ต้องปฏิบัติงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีสิ่งที่ควรยึดถือและปฏิบัติคือหลักคุณธรรมจริยธรรมของวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจริยธรรมทางวิชาชีพ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตนปฏิบัติงานในทางที่ถูกต้องเหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการปฏิบัติงาน และดำเนินชีวิตประจำวัน อันเป็นประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง
ถึงแม้ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่ก็อาจนำมาซึ่งการทดลองและวิจัยที่อาจเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว ได้แก่เพื่อนร่วมงานร่วมอาชีพ ธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมรวมไปถึงสัตว์ทดลอง
ที่ผ่านมา ประเทศไทยให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่าด้วยจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาโดยตลอด จะเห็นได้จากมติเห็นชอบในปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) อันเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งที่ 4 ปี พ.ศ. 2548
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีข้อบังคับสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์์และเทคโนโลยี ว่าด้วยเรื่องจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล เป็นข้อบังคับใช้
ความตระหนักและมีความรับผิดชอบ ยังคงต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันและพร้อมที่จะเสนอแนะแนวทางป้องกัน แก้ไขหรือการจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยสร้างบรรทัดฐานทางจริยธรรมในประชาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย
ดังจะเห็นได้จากแนวคิดสนับสนุนโครงการสำคัญ 5 โครงการจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับประเทศไทย ดังนี้
1. โครงการ “การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย แนวทางการบริหารจัดการประเด็นทางกฎหมายและจริยธรรมที่เกิดจากเทคโนโลยีจีโนม”
2. โครงการ “การศึกษาเชิงลึกประเด็นจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์และ Big Data”
3. โครงการ “การวิจัยเพื่อพัฒนาจริยธรรมการวิจัยและระบบการประเมิน: ตอบสนองความท้าทายในการพัฒนาระบบการวิจัยของประเทศ”
4. โครงการ “การศึกษาเชิงลึกประเด็นจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับประเทศไทย กลุ่มจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” และ
5. โครงการ “การสื่อสาร การปรึกษา และการมีส่วนร่วมผ่านสื่อและศิลปะ: มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม”
และเป็นที่น่ายินดีที่หน่วยงานหลายหน่วยงาน ต่างก็ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ และพร้อมที่จะเผยแพร่แนวทางเพื่อให้เกิดเป็นข้อร่วมปฏิบัติที่ดีในประเทศ ตัวอย่างเช่น ประกาศสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโยลีแห่งชาติ เรื่อง นโยบายคุณภาพ สวทช. เกี่ยวกับ การบริหารคุณภาพและจริยธรรมการวิจัยจรรยาบรรณการใช้สัตว์ทดลองเพื่องงานทางวิทยาศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติ ที่เป็นแนวทางปฏิบัติสำคัญของศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ผ่านมาเราอาจเคยได้ยินแนวทางปฏิบัติสำคัญทางด้านจริยธรรมในการต่อต้าน การวิจัยทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาบ้าง เช่น งานวิจัยทางด้ามพันธุกรรม ในการโคลนมนุษย์ ซึ่งมีแนวคิดปฏิบัติมายาวนานเพื่อมุ่งหวังการแก้ไขปัญหาการทดแทนทางด้านอวัยวะ แต่ก็ยังมีการต่อต้านอยู่ซึ่งเนื่องมาจากเหตุผลทางด้านจริยธรรมนั่นเอง หรือแม้แต่เรื่องราวในภาพยนตร์ที่สะท้อนให้เห็นถึง จริยกธรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ อย่างภาพยนต์เรื่อง GATTACA นวัตกรรมที่มนุษย์คิดค้นขึ้นด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นไปเพื่อที่จะแสวงหาความสะดวกสบายให้กับตนเอง และเพื่อเอาชนะธรรมชาติ โดยแสวงหาวิธีที่มนุษย์สามารถดูแลตนเองโดยตัดต่อปรับปรุงพันธุกรรมเพื่อให้ได้มนุษย์ที่มีกายที่สมบูรณ์ แต่จะเห็นได้ชัดเจนในการสะท้อนถึงเรื่องราวที่ขัดต่อจริยธรรมทางศาสนา
จนถึงแนวโน้มในอนาคตที่เราอาจได้ข่าวความวิตกกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial intelligence) ซึ่งนำไปสู่แนวคิดการออกแบบ หุ่นยนต์ อย่างไรก็ตาม แนวโนมการเปลี่ยนแปลงและเกิดขึ้นของหุ่นยนต์ ก็นำมาซึ่งการพิจารณาเรื่อง ‘จริยธรรมของหุ่นยนต์’ เพื่อมุ่งหวังการออกแบบเทคโนโลยีที่เกิดผลเสียน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยการดำเนินงานแผนงานของคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (World Commission on Ethics of Scientific Knowledge and Technology) ภายใต้ ยูเนสโก ซึ่งจัดการประชุมเรื่องจริยธรรมหุ่นยนต์ขึ้น โดยมีนักปรัชญาเทคโนโลยีและนักปรัชญาที่ทำงานด้านจริยธรรมหุ่นยนต์คนสำคัญเข้าร่วม เช่น มาร์ค คูเคอร์เบิร์ก (Mark Coeckelbergh) ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาเกี่ยวกับสื่อและเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญประเด็นจริยธรรมหุ่นยนต์ จากมหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย
ทั้งหมดที่นำเสนอไปนั้น อาจทำให้ผู้อ่านเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เรื่องของจริยธรรมถือเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งตัวเราเองก็ควรให้ความสำคัญและนำไปปฏิบัติใช้เช่นเดียวกัน
แหล่งที่มา
พรนภา สวัสดี. กระทรวงวิทย์ฯ จัดเสวนา “เปิดประตู...จริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เดินหน้าสร้างความตระหนักด้านจริยธรรมแก่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์และผู้เกี่ยวข้องใช้ปฏิบัติงาน . สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561. http://www.most.go.th/main/th/34-news/news-gov/7395-2018-06-26-09-15-59
จากภาพยนตร์ SCI-FI ถึงความหมาย วทน. Gattaca พันธุกรรม = มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์? . สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561.จาก ost.thaiembdc.org/th1/2018/03/จากภาพยนตร์-sci-fi-ถึงความหมา-2/
MGR Online. ปฏิญญากรุงเทพ : ว่าด้วยจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561.จาก https://mgronline.com/science/detail/9480000042071
จริยธรรมการวิจัย Research Integrity. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561.จาก https://www.nstda.or.th/th/research-integrity
จรรยาบรรณการใช้สัตว์ทดลอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561.จาก http://www.nlac.mahidol.ac.th/acth/index.php/research/ethics
จรรยาบรรณการใช้สัตวเพื่องานทางวิทยาศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติ. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561.จาก http://www.op.mahidol.ac.th/orra/research_ethics/ANIMAL/ETHICS_ANIMAL_NRCT.pdf
คุยกับนักปรัชญา ‘จริยธรรมหุ่นยนต์’ ไม่ใช่แค่การเล่นคำ. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561.จาก https://themomentum.co/robot-ethics/
ข้อบังคับสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561.จาก http://www.cstp.or.th/upload/attachment/18.pdf
-
8675 จริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี /article-science/item/8675-2018-09-11-08-11-37เพิ่มในรายการโปรด