คุณค่าของ “หอยเชอรี่” ศัตรูร้ายในนาข้าว
หอยเชอรี่ หอยโข่งอเมริกาใต้ หรือหอยเป๋าฮื้อน้ำจืด มีลักษณะเหมือนหอยโข่งแต่ตัวโตกว่า จากการดูด้วยตาเปล่าสามารถแบ่งหอยเชอรี่ ได้ 2 พวก คือ พวกที่มีเปลือกสีเหลืองปนน้ำตาล เนื้อและหนวดสีเหลือง และพวกมีเปลือกสีเขียวเข็มปนดำและมีสีดำจาง ๆ พาดตามความยาว เนื้อและหนวดสีน้ำตาลอ่อน เจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ลูกหอยอายุเพียง 2-3 เดือน จะจับคู่ผสมพันธุ์ได้ตลอดเวลา หลังจากผสมพันธุ์ได้ 1-2 วัน ตัวเมียจะวางไข่ในเวลากลางคืน โดยคลานไปวางไข่ตามที่แห้งเหนือน้ำ เช่นตามกิ่งไม้ ต้นหญ้าริมน้ำ โคนต้นไม้ริมน้ำข้าง ๆ คันนา และตามต้นข้าวในนา ไข่มีสีชมพูเกาะติดกันเป็นกลุ่มยาว 2-3 นิ้ว แต่ละกลุ่มประกอบด้วยไข่เป็นฟองเล็ก ๆ เรียงตัวเป็นระเบียบสวยงามประมาณ 388-3,000 ฟอง ไข่จะฟักออกเป็นตัวหอยภายใน 7-12 วัน หลังวางไข่
ภาพ หอยเชอรี่
ที่มา วรางรัตน์ เสนาสิงห์
หอยเชอรี่กินพืชที่มีลักษณะนุ่มได้เกือบทุกชนิด เช่นสาหร่าย ผักบุ้ง ผักกระเฉด แหน ตัวกล้าข้าว ซากพืชน้ำ และซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยในน้ำ โดยเฉพาะต้นข้าวในระยะกล้าและที่ปักดำใหม่ ๆ ไปจนถึงระยะแตกกอ หอยเชอรี่จะชอบกินต้นข้าวในระยะกล้าที่มีอายุประมาณ 10 วัน มากที่สุด โดยเริ่มกินส่วนโคนต้นที่อยู่ใต้น้ำเหนือจากพื้นดิน 1-5.5 นิ้ว จากนั้นกินส่วนใบที่ลอยน้ำจนหมดใช้เวลากินทั้งต้นทั้งใบนานประมาณ 1-2 นาที
ประโยชน์ของหอยเชอรี่โดยที่ส่วนเนื้อมีโปรตีนสูงถึง 34-53 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 1.66 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ขายหอยเชอรี่ต้มสุก สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน หอยเชอรี่ต้มสุกราคาจะสูงขึ้นเป็นกิโลกรัม ละ 40 บาท เมื่อคำนวณแล้วจะขายได้เที่ยวละ 70,000-80,000 บาท อาทิตย์หนึ่งส่งหอยไปขาย 3 เที่ยว ดังนั้นเมื่อคิดรวมแล้วหนึ่งเดือนจะสร้างเงินสร้างรายได้กว่า 850,000 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้เกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาหอยเชอรี่กัดกินต้นข้าวหลังฤดูกาลปักดำทุกปี ในแต่ละปีหอยเชอรี่ทำลายต้นข้าวไปนับพันๆ ไร่ จนเกษตรกรต้องช่วยกันจับมาทิ้งทำลายนานนับสิบปี แต่ปัจจุบันสามารถนำมาขายสร้างรายได้เข้าสู่หมู่บ้านเล็ก ๆ นับแสนบาทต่อเดือน หรือใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง หรือทำน้ำปลาจากเนื้อหอยเชอรี่ ใช้ทำเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง เช่น เป็ด ไก่ สุกร เปลือกก็สามารถปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินได้ ตัวหอยทั้งเปลือกถ้านำไปฝังบริเวณทรงพุ่มไม้ผล เมื่อเน่าเปื่อยก็จะเป็นปุ๋ยทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตเร็ว และได้ผลผลิตดี
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยนำเอาเปลือกหอยเชอรี่มาเป็นส่วนประกอบสำคัญในครีมกันแดด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ผงเปลือกหอยเชอรี่เมื่อนำมาตากแห้งและบด และนำมาผสมกับครีมบำรุงสามารถเพิ่มค่า sun protection factor (SFP) โดยเมื่อผสมมากยิ่งทำให้แสงย่าน UV ผ่านได้น้อยลง โดยเมื่อเติมผงเปลือกหอยนี้ 5% จะมีความสามารถเทียบเท่ากับครีมกันแดด SPF 30 ที่จำหน่ายในท้องตลาด อย่างไรก็ดีผงเปลือกหอยยังคงมีขนาดใหญ่ เมื่อผสมในปริมาณมากจะทำให้เนื้อครีมสากไม่เนียนได้
แหล่งที่มา
นิรนาม. หอยเชอรี่และการป้องกันกำจัด. สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2561, จาก http://niah.dld.go.th/th/Section/aquatic/naroo/hoychery.htm
เกษตรบ้านอะลาง. เลี้ยงหอยเชอรี่ขาย. สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2561, จาก http://alangcity.blogspot.com/2014/01/blog-post.html
ณฐนนท์ ตราชู และคณะ. รายงานฉบับสมบูรณ์ คลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม. การพัฒนาครีมกันแดดจากเปลือกหอยเชอรี่, 4 (23), 4.
-
8680 คุณค่าของ “หอยเชอรี่” ศัตรูร้ายในนาข้าว /article-science/item/8680-2018-09-11-08-15-16เพิ่มในรายการโปรด