อันตรายจากบุ้งขน
หนอนคัน บุ้งคัน หรือบุ้งขน อยู่ในวงศ์ (Family) Eupterotidae ของอันดับ (Order) Lepidoptera มักจะกินใบพืชตระกูลหญ้า และพืชตระกูลไม้ผลโดยไม่จำเพาะเจาะจงนัก มีขนาดตัวแตกต่างกันออกไปตามแต่ละชนิดสายพันธุ์ มักพบเกาะกัดกินใบเป็นกลุ่ม ๆ เมื่อโตขึ้นกระจายกันไปหลบซ่อนออกหากินในเวลากลางคืน จนกระทั่งเข้าดักแด้ ในซอกกาบใบ โดยมีรูปร่างลักษณะคือ ตัวเต็มวัย (Adult) เป็นผีเสื้อกลางคืนสีเหลืองอมน้ำตาล มีลายเส้นขวางปีกสีน้ำตาลเข้ม ปีกบางกว้างทั้งปีกหน้าและปีกหลัง ตัวเมียหนวดเรียว ตัวผู้หนวดแบบหวี 2 แถว มีขนาดเล็กกว่าตัวเมียเล็กน้อย ไข่ (Eggs) เม็ดกลม ๆ เรียงกันเป็นแถว มี 6 - 10 แถว รวม 55 - 240 ฟอง ไข่ใหม่ ๆ จะมีสีเหลืองต่อมาเป็นเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำขึ้นเรื่อย ๆ จนฟักเป็นตัวหนอน (Larva) ในช่วงเวลา 10 - 15 วัน หนอนวัยแรกสีเหลือง ขนค่อนข้างยาว เมื่อลอกคราบโตขึ้น ๆ ตัวจะมีสีเข้มขึ้นวัยแรก ๆ ตัวจะลายเป็นปล้อง ๆ ทางขวาง 12 ปล้อง เมื่อโตขึ้นลายทางขวางค่อย ๆ หายไป เป็นแถบน้ำตาลอ่อนทางข้างลำตัว ส่วนด้านบนเป็นสีน้ำตาลดำ ขนตามตัวไม่ยาวฟูเหมือนวัยแรก ๆ เป็นตัวหนอนนานหลายเดือน ผ่านการลอกคราบ 6 ครั้ง จึงเข้าดักแด้ (Pupa) ระยะเป็นดักแด้นาน 50 วัน จึงออกเป็นตัวเต็มวัย
ภาพที่ 1 หนอนบุ้งมะม่วง
ที่มา วรางรัตน์ เสนาสิงห์
ลักษณะหนอนบุ้ง
เป็นแมลงในกลุ่มผีเสื้อที่เป็นอันตรายกับคนส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มของผีเสื้อกลางคืน ซึ่งทั้งตัวอ่อนที่เป็นตัวหนอนชนิดที่เราเรียก ว่าหนอนบุ้ง หรือหนอนโบ้ง หรือหนอนร่าน ตัวหนอนบุ้งหรือหนอนร่าน จะมีสีสันสดใส และขนที่ปกคลุมจะมีลักษณะเป็นขนแข็ง มักจะพบหนอนบุ้งหากินอยู่ตามพืชชนิดต่างๆ เนื่องจากต้องอาศัยกินใบพืชเหล่านี้เป็นอาหาร จึงถือได้ว่าหนอนบุ้งเป็นศัตรูพืช และพบที่สวนยางของเกษตรกรจนเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ส่วนของขนที่อยู่บริเวณลำตัวของตัวหนอนบุ้งมีสารพิษหลายประเภทที่เป็นอันตรายกับคน เมื่อไปสัมผัสถูกขนพิษเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการแสบร้อนได้ทันที เกิดผื่นแพ้ขึ้นที่ผิวหนัง หลังจากนั้นจะเกิดอาการบวม ชา และพิษจะสามารถแพร่ไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่อยู่ใกล้เคียงได้ สำหรับเด็ก หากขนพิษของมันเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้ หรือผู้ที่มีอาการแพ้มากมากๆ อาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ชา เป็นอัมพาตได้ สามารถป้องกันโดยควรมีความระมัดระวังไม่เข้าไปสัมผัสกับหนอนบุ้ง เนื่องจากขนพิษอาจปลิวมาถูก ผิวหนังของเราได้ ส่วนการรักษาอาการพิษ ทำได้โดยการดึง เอาขนพิษออกจากผิวหนังด้วยเทปกาว ใช้น้ำ แข็งประคบ บริเวณที่ถูกขนพิษ รักษาความสะอาด ทาด้วยแอมโมเนียหรือ ครีมประเภทรักษาอาการแสบร้อน ให้กินยาแก้แพ้และยาระงับอาการปวด หากมีการแพ้รุนแรงให้รีบไปพบแพทย์
ภาพที่ 2 หนอนบุ้งชมพู่แดง
ที่มา วรางรัตน์ เสนาสิงห์
แหล่งที่มา
ณัฐสิมา โทขันธ์. หนอนบุ้งดำ หนอนร่าน หนอนโบ้ง ขนพิษปุกปุยเดินอุ้ยอ้าย ลักษณะหนอนบุ้ง. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2561, จาก http://www.natsima.com/this-is-thailand/หนอนบุ้งดำ-หนอนร่าน-หนอน/
รักบ้านเกิด. หนอนบุ้ง (Hairy caterpillar). สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2561, จาก https://www.rakbankerd.com/agriculture/page.php?id=8018&s=tblplant
sw-eden.net. หนอนร่าน บุ้ง หนอนบุ้ง พิษของบุ้ง และ วิธีรักษา. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2561, จาก https://sw-eden.net/2011/08/26/order-lepidoptera-poisonous-caterpillars/
-
9100 อันตรายจากบุ้งขน /article-science/item/9100-2018-10-18-08-32-45เพิ่มในรายการโปรด