ภัยแฮมเบอร์เกอร์
แฮมเบอร์เกอร์ ฟาสต์ฟู้ด (Fast Food) อร่อย ทำง่าย ทานง่าย ขายได้เร็ว ต่างก็เป็นที่ถูกอกถูกใจของเหล่าบรรดาผู้ต้องการความเร่งด่วนทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย วันนี้คงไม่ได้มาบอกวิธีการทำ เพราะคงสามารถหาได้ตามสื่อช่องทางต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมาย แต่สาระสำคัญที่อยากจะนำเสนอก็คือ ภัยอันตรายที่แฝงมากับเมนูด่วนชนิดนี้
ภาพแฮมเบอร์เกอร์ (hamburger)
ที่มา https://pixabay.com, Clker-Free-Vector-Images
แฮมเบอร์เกอร์ (hamburger) อาหารเมนูด่วนชนิดนี้มีต้นกำเนิดที่เชื่อกันว่ามาจากประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นชื่อเมืองหนึ่งที่ชื่อว่า ฮัมบวร์ค (Hamburg) มีลักษณะคล้ายแซนวิช คือเป็นการประกบกันระหว่าง เนื้อสัตว์ ผัก เครื่องปรุงประเภทซอส ประกบบนล่างด้วยขนมปังแผ่นกลมนูนด้านหนึ่ง เนื้อสัตว์ที่นิยมก็ได้แก่ เนื้อประเภทต่าง ๆ ที่หาได้ตามท้องตลาด เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อปลา ตามแต่ที่ผู้รับประทานจะเลือก สอดเป็นไส้อยู่ตรงกลางด้วยผักแกล้ม เช่น มะเขือเทศ ผักกาดหอม หอมหัวใหญ่ ชีสและเครื่องปรุงรสอื่น เช่น มัสตาร์ด มายองเนส ชีส ซอสมะเขือเทศ เป็นต้น
แต่ในขณะที่เป็นเมนูยอดนิยมสำหรับคนยุคใหม่ แฮมเบอร์เกอร์ก็มีชื่อเรียกในทางไม่ค่อยดีนักคือ อาหารขยะ (Junk food) ซึ่งจัดเป็นเมนูอาหารอันตราย และภัยใกล้ตัวที่เหล่านักโภชนาทางด้านอาหารและสุขภาพ ต่างให้ความสำคัญ และย้ำว่าควรทานในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป
ทำไมถึงจัดแฮมเบอร์เกอร์ให้เป็นเมนูอาหารขยะ ก็คงเป็นเพราะว่าด้วยสารอาหารที่ได้จากแฮมเบอร์เกอร์ เป็นสารอาหารที่ให้พลังงานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นสารอาหารที่ไม่ได้ส่งเสริมทางด้านสุขภาพมากหลักโภชนาการตามที่นักโภชนาการแนะนำไว้นั่นเอง
แน่นอนว่าการรับประทานแฮมเบอร์เกอร์บ่อย ๆ ก็จะได้รับสารอาหารประเภทพลังงานอย่างเดียว ไม่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์อย่างโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ ซึ่งเหล่านี้จะสร้างผลดีมากกว่าโทษให้แก่ร่างกาย ทั้งยังส่งผลเสียเสี่ยงให้เกิดอันตรายจากภาวะทางด้านสุขภาพต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคคอเลสเตอรอลสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคทางกระดูและไขข้อ โรคตับ โรคเบาหวาน และโรคที่เกี่ยวข้องที่อาจทำให้มีผลเสียต่อระบประสาทและการทำงานของสมอง เช่น โรคความจำเสื่อม
หากยังจำกันได้ กระแสช่วงหนึ่งที่ผ่านมาเกี่ยวกับเรื่องของไขมันทรานส์ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย โดยมีรายละเอียดประกาศโดยสรุปได้ว่า
โดยปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) ส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (8) แห่ง พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย
ข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (13 กรกฎาคม 2561)
ซึ่งก็แน่นอนว่า กรดไขมันทรานส์ก็พบได้ในแฮมเบอร์เกอร์ด้วยเช่นเดียวกัน
การรับประทานแฮมเบอร์เกอร์ไม่ใช่เรื่องไม่ถูกต้อง แต่เป็นเรื่องที่ผู้รับประทานต้องทำความเข้าใจในโภชนาการว่า ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม เลือกรับประทานเท่าที่จำเป็นไม่บ่อยจนเกินไป พร้อมกับดูแลสุขภาพโดยทั่วไปด้วยการรับประทานอาหารที่สะอาดถูกหลักโภชนาการ ออกกำลังกาย และผักผ่อนให้เพียงพอ
แหล่งที่มา
แฮมเบอร์เกอร์. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2561. จาก https://th.wikipedia.org/wiki/แฮมเบอร์เกอร์
ฮัมบวร์ค. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2561. จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ฮัมบวร์ค
อาหารขยะ (Junk food) อาหารอันตราย ภัยใกล้ตัว. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2561. จาก realmetro.com/อาหารขยะjunk-foodอาหารอันตราย/
กระทรวงสาธารณสุข ประกาศห้ามผลิต - นำเข้าไขมันทรานส์ มีผลอีก 180 วัน. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2561. จาก https://health.kapook.com/view196449.html
-
9577 ภัยแฮมเบอร์เกอร์ /article-science/item/9577-2018-12-13-07-36-46เพิ่มในรายการโปรด