รู้จักคุณค่าของ “ตะโก” สมุนไพรไทย
ต้นตะโก เป็นต้นไม้มงคลพันธุ์ไทยแท้ สามารถเจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติ ทนทานได้ทุกสภาพอากาศ เมื่อครั้งงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตะโกถูกนำมาเป็นพรรณไม้หลักที่ใช้ในการประดับพระเมรุมาศเพื่อเสริมให้พระเมรุมาศสง่างามมากที่สุด และสื่อถึงแนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียง สมบัติอันล้ำค่าที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานไว้ให้คนไทยซึ่งจัดเป็นพรรณไม้ทรงคุณค่ามีชื่อเรียกทั่วไปว่า “ต้นตะโก”
ภาพที่ 1 เปลือกของต้นตะโก
ที่มา วรางรัตน์ เสนาสิงห์
ชื่อท้องถิ่นก็มีหลากหลาย ได้แก่ ตะโกนา นมงัว มะโก มะถ่านไฟผี โก ตองโก และพญาช้างดำ ส่วนชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า Ebony และชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros rhodocalyx Kurz และเป็นกลุ่มไม้ต้นยืนเนื้อเหนียวขนาดกลาง ต้นมีลักษณะเป็นทรงพุ่ม ขึ้นตามป่าเขาทั่วไป สูงสุดได้ถึง 15 เมตร ลำต้นเป็นสีดำมีเปลือกหนา ออกใบเดี่ยวสีเขียวเรียงสลับกัน ลักษณะใบคล้ายรูปไข่ ปลายใบแหลมโค้งเว้า ขอบใบเรียบ และกว้างประมาณ 7 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อตามก้านใบ มีผลมีประโยชน์มากเพราะนอกจากตอนสุกจะกินได้แล้ว ลูกอ่อนสามารถใช้เป็นสีย้อมผ้าเนื่องจากมีสารฝาดชื่อแทนนินอยู่สูง ช่วยทำให้สีติดเนื้อผ้าแน่น ทนทาน
วิธีปลูกและการดูแลรักษา
การขยายพันธุ์ต้นตะโกสามารถทำได้หลายวิธี เช่น เพาะเมล็ด ปักชำ และตอนกิ่ง ซึ่งการเพาะเมล็ดอาจจะต้องใช้เวลานานสักหน่อย แต่เป็นวิธีที่สามารถควบคุมคุณภาพของต้นได้ดี โดยการนำเมล็ดตะโกมาปลูกในกระถางเพาะกล้าที่มีดินร่วนผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เมื่อกล้าเจริญเติบโตแข็งแรงดีแล้วให้นำมาปลูกลงในหลุมดินร่วนที่ผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก หลุมต้องมีขนาด 50x50x50 เซนติเมตร ดูแลรดน้ำปานกลางให้ดินชื้นแต่อย่าแฉะ เป็นไม้กลางแจ้งที่ต้องการแสงปานกลางถึงจัด หมั่นบำรุงด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักปีละ 4-6 ครั้ง
ประโยชน์และสรรพคุณ
เนื่องจากเป็นไม้ที่ทนทุกสภาพอากาศ ปลูกง่าย เลี้ยงง่าย และโตไว คนโบราณจึงนิยมนำมาปลูกประดับไว้ในรั้ว ในวัง และวัดสำคัญหลายแห่ง ทั้งนี้ตะโกยังเป็นไม้เนื้อเหนียวที่นักเล่นบอนไซชื่นชอบ นิยมนำมาดัดเพื่อเลี้ยงเป็นไม้บอนไซให้ความสวยงาม มีสรรพคุณเป็นสมุนไพรช่วยทำให้เจริญอาหาร ใช้เป็นยาแก้กษัย แก้อาการคลื่นไส้ แก้ไข้ แก้พิษผิดสำแดง ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ และอื่น ๆ อีกมากมาย แถมเป็นไม้มงคลเหมาะแก่การนำมาปลูกไว้ทางทิศใต้ ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งและความอดทนอดกลั้นให้กับคนในบ้าน
นอกจากนี้ยังพบว่า เปลือกและเนื้อไม้ตะโกนา มีรสเฝื่อน ฝาด ขม มีสรรพคุณ ช่วยบำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร ทำให้เกิดกำลัง บำรุงความกำหนัด และมีวิธีการนำไปใช้โดยการปิ้ง ย่าง ฆ่าเชื้อ ฆ่าพิษเสียก่อน ให้เหลือง หอมแล้วจึงนำไปชงดื่มเป็นน้ำชาเพียงเล็กน้อย เพราะหากดื่มในปริมาณที่เข้มข้นและมากจนเกินไปอาจเกิดโทษเป็นยาพิษร้ายทำลายชีวิต และผลเสียต่อร่างกายได้ เช่น ระบบการย่อยอาหารไม่ทำงานส่งผลทำให้ไตทำงานหนักหรือหยุดการทำงานได้
ปัจจุบันคุณค่าของการเป็นยาสมุนไพรของตะโก ยังจัดเป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้คนมีอายุยืนยาว ซึ่งคนทั่วไปจะใช้เปลือกต้นตะโก ผสมเปลือกต้นทิ้งถ่อน หัวแห้วหมู เมล็ดข่อย เม็ดพริกไทยแห้ง เถาบอระเพ็ดอย่างละเท่า ๆ กันดองเหล้ากิน หรือต้มกินก็ได้ ส่วนเปลือกต้นตะโก ใช้ต้มกับเกลืออมแก้รำมะนาด แก้ปวดฟัน ทำให้ฟันทนทาน เปลือกผล เผาเป็นถ่าน แช่น้ำกินขับระดูขาว ขับปัสสาวะ และส่วนรากต้นตะโก ต้มน้ำกินแก้โรคเหน็บชา โรคกษัยไตพิการ น้ำเหลืองเสีย แก้ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ช่วยเจริญอาหาร แก้ร้อนใน
แหล่งที่มา
Kapook. (2560, 11 ตุลาคม). ต้นตะโกพรรณไม้หลักประดับพระเมรุมาศสัญลักษณ์แทนความพอเพียง. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://home.kapook.com/view170266.html
อัมพิกา (หาญพานิช) ศิริสุวัฒน์. (2556, 19 กุมภาพันธ์). บันทึกหมอแดง ตอน : ตะโกนา ช่วยบำรุงความกำหนัด. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://ac127.wordpress.com/2013/02/19/บันทึกหมอแดง-ตอน-ตะโกนา
PUI LAB. (2551, 30 ธันวาคม). ต้นตะโกนา. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://www.baanmaha.com/community/threads/16313-ต้นตะโกนา
-
9811 รู้จักคุณค่าของ “ตะโก” สมุนไพรไทย /article-science/item/9811-2019-02-21-07-46-35เพิ่มในรายการโปรด