ภัยพิบัติ! การระบาดของหนอนหลอดหอม
กรมวิชาการเกษตรแนะเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงเป็นพืชเศรษฐกิจในเขตจังหวัดศรีสะเกษ ยโสธรและอุบลราชธานี ให้เฝ้าระวังหนอนกระทู้หอม! โดยเฉพาะช่วงเวลากลางวันมีแดดแรง และเวลากลางคืนที่มีอากาศเย็น ๆ ที่สามารถพบหนอนดังกล่าวได้ในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตหอมแดง ซึ่งมักพบตัวหนอนกระทู้หอมเจาะเข้าไปอาศัยและกัดกินเนื้อเยื่อใบหอม ทำให้ใบหอมแดงมีสีขาว จากนั้นหนอนกระทู้หอมจะกัดกินจากใบหอมลงไปถึงหัวหอมแดง ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บผลผลิตหอมแดงได้
หนอนกระทู้หอมหรือหนอนหลอดหอม (Beet armyworm : Spodoptera exigua Hubner) เป็นศัตรูสำคัญของหอมแดงและข้าวโพดในระยะ 7-30 วัน กัดกินใบและต้นทำให้เกิดความเสียหายมาก ถ้าปล่อยให้เข้าทำลายโดยไม่มีการป้องกันกำจัด จะทำให้พืชปลูกตายในที่สุด หนอนกระทู้หอมตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนสีน้ำตาลเข้มปนเทา เมื่อกางปีกเต็มที่กว้าง 20-25 มิลลิเมตร มีจุดสีน้ำตาลอ่อนที่กลางปีกคู่หน้า 2 จุด อายุตัวเต็มวัย 7-10 วัน ตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 20-25 ฟอง ปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลอ่อน ระยะไข่ 2-3 วัน หนอนที่ฟักจากไข่ใหม่ ๆ จะอยู่รวมเป็นกลุ่ม กัดกินผิวใบ 1-2 วัน จึงจะกระจายไปยังใบอื่นหรือต้นใกล้เคียง ลักษณะหนอนมีผิวเรียบมันหลายสี ขึ้นกับอาหารและระยะการลอกคราบ คือ เขียวอ่อน เทาปนดำ น้ำตาลอ่อน และน้ำตาลดำ ชอบออกทำลายพืชในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันชอบหลบตามซอกใบและยอดข้าวโพด ขนาดโตเต็มที่ 2x20 มิลลิเมตร ระยะหนอน 15-18 วัน หนอนเข้าดักแด้ใต้ดินใกล้ต้นพืช ระยะดักแด้ 5-7 วัน
ภาพที่ 1 หนอนหลอดหอมในใบหอมแดง
ที่มา วรางรัตน์ เสนาสิงห์
ดังนั้นเกษตรกรควรหมั่นตรวจเก็บกลุ่มไข่และตัวหนอนกระทู้หอมในแปลงมาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อช่วยลดการระบาด สำหรับในระยะที่ตัวหนอนมีขนาดเล็กและพบการระบาดน้อย ให้เกษตรกรพ่นด้วยเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเยนซิส (Bacillus thuringiensis) อัตราส่วน 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร กรณีพบการระบาดรุนแรง ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด อาทิ สารคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสแอล อัตราส่วน 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตราส่วน 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอฟีนาเพอร์ 10% เอสซี อัตราส่วน 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโทลเฟนไพแร็ด 16% อีซี อัตราส่วน 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอินดอกซาคาร์บ 15% เอสซี อัตราส่วน 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารสไปนีโทแรม 12% เอสซี อัตราส่วน 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
นอกจากนี้ จากการที่เกษตรกรได้รับการแจ้งข่าวสารให้เฝ้าระวังและติดตามการระบาดของหนอนกระทู้หอมศัตรูพืชเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และประกอบกับเกษตรกรมีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดักผีเสื้อหนอนกระทู้หอมด้วยวิธีการใช้ไฟล่อแมลง ใช้สารชีวภาพ เช่น เชื้อบีที หรือสมุนไพรพื้นบ้าน เช่น ขมิ้นชัน และสะเดา เป็นต้น จึงทำให้สามารถบริหารจัดการศัตรูพืชได้ทันสถานการณ์ และในบางพื้นที่เกษตรกรได้ให้ความสนใจในการปลูกหอมแดงอินทรีย์มากขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมแหล่งเพาะพันธุ์ของหนอนกระทู้หอมที่ต่างออกไปส่งผลให้มีปริมาณลดลงในบางพื้นที่
ภาพที่ 2 การใช้กับดักแสงไฟล่อผีเสื้อหนอนหลอดหอม ณ จังหวัดยโสธร
ที่มา วรางรัตน์ เสนาสิงห์
แหล่งที่มา
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2562, 01 กุมภาพันธ์). กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงให้เฝ้าระวังหนอนกระทู้หอม ที่สามารถพบได้ในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตหอมแดง. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://www.moac.go.th/news-preview-411991791813
ทัศนีย์ เมืองแก้ว. (2562, 21 มกราคม). สำรวจหอมแดง ศรีสะเกษ-ยโสธร เผย เกษตรกรหันปลูกอินทรีย์มากขึ้น แนะสังเกตแปลง เฝ้าระวังหนอนกระทู้. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2562, จากhttps://www.moac.go.th/news-preview-411991791812
มนตรี ตรี บุญจรัส. (2562, 21 มกราคม). ฤดูกาลที่เปลี่ยนไปย่อมทำให้สถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปรผันไปตามกฎของธรรมชาติเช่นกันไม่เว้นแม้แต่โรคแมลงศัตรูพืช. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2562, จากhttps://www.gotoknow.org/posts/290266
-
9816 ภัยพิบัติ! การระบาดของหนอนหลอดหอม /article-science/item/9816-2019-02-21-08-02-27เพิ่มในรายการโปรด