วัฒนธรรมการเกษตรในแอ่งสกล
ภูมิประเทศโดยทั่วไปของภาคอีสานเป็นแอ่งที่ราบขนาดใหญ่ มีทิวเขากั้นเป็นขอบสูงชันทางทิศตะวันตกและทิศใต้ แล้วตะแคงลาดไปทางทิศตะวันออกลงสู่แม่น้ำโขง การมีทิวเขาเป็นขอบสูงทางทิศตะวันตกและทิศใต้นี้เอง ทำให้คนเรียกชื่อภูมิประเทศของภาคอีสานว่า “ที่ราบสูงโคราช” (Khorat Plateau) แนวทิวเขาทางด้านตะวันตกของภาคอีสาน ประกอบด้วยทิวเขาเพชรบูรณ์และทิวเขาดงพญาเย็น ส่วนแนวทิวเขาด้านใต้ประกอบด้วยทิวเขาสันกำแพงและทิวเขาพนมดงรัก นอกจากนี้ยังมี “ทิวเขาภูพาน” ซึ่งเป็นทิวเขาเตี้ย ๆ ทอดผ่านทางตอนในของภาคตามแนวทิศตะวันออกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้ทิวเขาภูพานแบ่งภาคอีสานออกเป็น 2 ส่วน คือ “แอ่งสกลนคร” (Sakon Nakhon Basin) อยู่ทางตอนเหนือ และ “แอ่งโคราช” (Khorat Basin) อยู่ทางตอนใต้บริเวณแอ่งสกลนคร เป็นบริเวณที่ราบอยู่ระหว่างทางด้านเหนือของเทือกเขาภูพานกับแม่น้ำโขง เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “อีสานเหนือ” ประกอบด้วย 7 จังหวัด คือ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร หนองคาย อุดรธานี เลย และหนองบัวลำภู ลำน้ำส่วนใหญ่ไหลจากเขตที่สูงของทิวเขาภูพานไปยังด้านทิศเหนือ และด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือแล้วไหลลงสู่แม่น้ำโขง เช่น ลำน้ำโมง ลำน้ำห้วยหลง ลำน้ำก่ำ ลำน้ำพุง ลำน้ำเลย ลำน้ำเหือง ฯลฯ ลำน้ำสำคัญของแอ่งกลนครคือ “ลำน้ำสงคราม”
ภาพสภาพนาข้าวหลังการเก็บเกี่ยวในพื้นที่แอ่งสกลนคร
ที่มา วรางรัตน์ เสนาสิงห์
และจากที่ยอดเขาที่มีที่ราบกว้างใหญ่อยู่ด้านบน ขณะบริเวณที่อยู่ที่ต่ำลงมาเป็นที่ราบลูกคลื่น (Rolling Plain) และมีที่ราบที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่รอบ ๆ “ทุ่งกุลาร้องไห้” ซึ่งเป็นที่ราบต่ำบริเวณก้นแอ่งโคราชรวมทั้งบริเวณที่ราบรอบ ๆ หนองหาน จังหวัดสกลนคร ที่เป็นบริเวณที่ราบต่ำบริเวณก้นแอ่งสกลนคร บริเวณที่ราบเหล่านี้จะเป็นท้องนา ทุ่งข้าว และพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้ประชากรที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่ทำไร่ทำนามาตั้งแต่โบราณจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่งจากสภาพทั่วไป และสภาพทางภูมิศาสตร์ดังกล่าวเห็นได้ว่า ภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากมีขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรมีขนาดใหญ่ 1 ใน 3 ของประเทศแล้ว ภาคอีสานยังมีลักษณะภูมิสัณฐานที่มีความแปลกตาไปจากภูมิภาคอื่น มีทิวเขาหินทรายที่มีลักษณะเป็นภูเขายอดตัด มีพื้นที่ราบกว้างใหญ่ ที่เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ นอกจากนี้ภาคอีสานยังเป็นแหล่งสำคัญทางธรณีวิทยา พบฟอสซิลไดโนเสาร์หลายชนิด และเป็นแหล่งอารยธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมอีกด้วย
แหล่งที่มา
webmaster: รายวิชาวัฒนธรรมแอ่งสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร. (2552, 20 ตุลาคม). สภาพทางภูมิศาสตร์และพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของแอ่งสกลนคร. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2562, จาก http://cultural.snbs.snru.ac.th/components/contents/view.php?id=2
จังหวัดสกลนคร. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/จังหวัดสกลนคร
ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง. (2559, 18 กุมภาพันธ์). ภูมิวัฒนธรรม : ตามไปส่องซอด สอดส่อง คนเมืองสกลฯ..ละเบ๋อ. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2562, จาก http://lek-prapai.org/home/view.php?id=735
-
9821 วัฒนธรรมการเกษตรในแอ่งสกล /article-science/item/9821-2019-02-21-08-41-22เพิ่มในรายการโปรด