ถ้าพูดถึงสะเต็มนึกถึงอะไร
คุณเคยนึกย้อนไปถึงครั้งแรกที่ได้ยินคำว่า สะเต็ม (STEM) กันบ้างหรือไม่ แล้วในขณะนั้นคุณคิดถึงอะไร หรือในความเข้าใจแรกที่คุณเข้าใจ อะไรคือผลลัพธ์ของคำว่า สะเต็ม บทความนี้เขียนจากประสบการณ์ที่เคยลองสอบถามทั้งจากนักเรียน คุณครู จากหลาย ๆ ท่านว่า ถ้าพูดถึงสะเต็มนึกถึงอะไร รู้หรือไม่ส่วนใหญ่ให้คำตอบว่าอะไร ?
ส่วนใหญ่ให้คำตอบเหมือนกันว่า คือ หุ่นยนต์หรือ Robot ซึ่งไม่ได้ความว่าเป็นคำตอบที่ถูกหรือผิด เพียงแต่เป็นคำถามเพื่อบอกเล่าประสบการณ์ให้ชวนคิดเท่านั้นเอง ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราเข้าใจคำว่าสะเต็มกันมากน้อยเพียงใด และเข้าใจว่าอย่างไรบ้าง คำตอบที่ตอบมาสื่อถึงกระบวนการหรือผลลัพธ์อย่างไร
ภาพ ปัญหา ชนวนความคิดของของการเกิดวิวัฒนาการ
ที่มา https://pixabay.com/th , ColiN00B
แต่ถ้าวิเคราะห์กันจริง ๆ ก็น่าแปลกใจชวนให้ลองสังเกตกิจกรรมเกี่ยวกับสะเต็มที่เราเคยได้พบเห็นหรือได้ทำกันดู ก็อาจจะพบว่าส่วนใหญ่เรามักเห็นความชัดเจนของปลายทางหรือผลลัพธ์ในกิจกรรมต่าง ๆ ที่มักมีผลลัพธ์เป็นเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือสิ่งที่สร้างออกมา ล้วนเป็นนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อมองเข้าไปในเชิงลึกตามแนวทางการเรียนรู้แบบสะเต็มที่ต้องการบูรณาการความรู้ทั้ง 4 ด้านคือวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) ผลลัพธ์ที่ว่านั้นดูเหมือนจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีอยู่เสมอ ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรนักเพราะจริง ๆ แล้ว เทคโนโลยีล้วนเป็นการบูรณาการร่วมกันจากศาสตร์ทั้ง 3 ด้านที่เหลือมาตั้งแต่เริ่มต้นอยู่แล้ว
แต่ทว่าในความเป็นจริงถ้าพูดถึง สะเต็ม เราควรดูที่กระบวนการหรือผลลัพธ์ ในความคิดของผู้เขียนคำตอบคือกระบวนการอย่างแน่นอน กระบวนการเป็นตัวสร้างความเชื่อมโยงของแต่ละศาสตร์เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ คิดเป็น และนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาหรือออกแบบนวัตกรรมต่าง ๆ ทั้งนี้ก็อาจไม่จำเป็นต้องครบทั้ง 4 ด้าน แต่ต้องให้มองเป็นภาพรวมได้ว่าเมื่อจัดการเรียนรู้ตามกระบวนการแล้ว ได้เรียนรู้ครบตามจุดประสงค์การเรียนรู้ในแต่ละด้านครบหรือไม่
อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่แรกว่าไม่มีใครผิดไม่มีใครถูกสำหรับคำถามตั้งต้นนี้ ถึงแม้สะเต็มจะถูกนำมาใช้ในการเรียนการสอนบ้านเราได้นานแล้วก็ตาม คนที่เข้าใจคำว่าสะเต็มอย่างลึกซึ้งก็ยังอาจมีน้อยอยู่ กระบวนการคือสิ่งสำคัญที่สุดของสะเต็ม ก็ต้องใช้เวลาพอสมควรที่จะสร้างบุคลากรต้นแบบเพื่อกระจายความรู้ความเข้าใจนี้ออกไปอย่างกว้างขวาง
สุดท้ายที่ต้องให้ความสำคัญคือ การเรียนรู้แบบสะเต็ม จำเป็นต้องเน้นฝึกทักษะปฏิบัติมากกว่าเรียนรู้ทางทฤษฎี ประกอบกับการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยผ่านการคิดอย่างสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบตามกระบวนการเรียนรู้แบบสะเต็ม
แหล่งที่มา
สิรินภา กิจเกื้อกูล. สะเต็มศึกษา (ตอนที่ 2): การบูรณาการสะเต็มศึกษาสู่การจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, วารสารศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยนเรศวร, 15(2), 137-142.
-
7867 ถ้าพูดถึงสะเต็มนึกถึงอะไร /article-stem/item/7867-2018-02-22-02-52-48เพิ่มในรายการโปรด