สะเต็มกับวิชาชีพครูตอนที่ 3 : เมกเกอร์สเปซเพื่อการศึกษา
มาต่อกับเรื่องราวของ maker ที่ต่อจากบทความครั้งที่แล้ว เราก็ได้รู้จักกับ maker กันมาในระดับหนึ่ง สู่ปรากฏการณ์สำคัญที่เรียกว่า "Maker Movement" มาถึงตอนนี้ เป็นตอนที่เราจะพาไปรู้จักคำว่า "Makerspace (เมกเกอร์สเปซ) " ที่ที่เราจะได้รู้ว่าการที่พวกเขาได้มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน หรือแหล่งที่พวกเขารวมตัวกันเป็นส่วนใหญ่คือที่ไหนเป็นอย่างไรบ้าง
ภาพนิทรรศการจำลอง makerspace งานมหกกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2560
ที่มา ณัฐดนัย เนียมทอง
makerspace เป็นสถานที่ที่ maker ส่วนใหญ่มักใช้เป็นสถานที่ในการสร้างสรรค์ผลงาน เพราะเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือสำคัญ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือช่าง อีกทั้งยังเป็นแหล่งความรู้ครบครัน เป็นสถานที่อีกที่หนึ่งสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันของชาว maker
นักการศึกษาพยายามเสนอแนะให้นำ makerspace เข้ามาใช้ในระบบการศึกษา ประยุกต์เป็น “เมกเกอร์สเปซเพื่อการศึกษา” เพื่อมุ่งหวังการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ (learning by doing) และแนวคิดการเรียนรู้ที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (student-centered learning) ด้วยเหตุผลที่มองว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการลงมือทำสิ่งที่จับต้องได้ สัมพันธ์กับโลกความเป็นจริง และทำงานร่วมกับผู้อื่น ประการสำคัญคือการเรียนรู้ต้องเกิดจากการริเริ่มของนักเรียน ไม่ใช่ของครู ที่ผ่านมาเราพบว่าในต่างประเทศมีการนำแนวทางการดำเนินงานแบบ makerspace มาประยุกต์ใช้ในโรงเรียน โดยสร้างพื้นที่ในบริเวณห้องสมุดเพื่อทำเป็นศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้เต็มรูปแบบ โดยออกแบบพื้นที่ห้องให้สอดคล้องกับความสนใจ ความสามารถ และแรงบันดาลใจของนักเรียน มีการวิเคราะห์เนื้อหาหลักสูตรในโรงเรียนเพื่อนำมาประยุกต์ใช้เป็นกรอบในการออกแบบ มีการทำรายการและจัดหาเครื่องไม้เครื่องมือและอุปกรณ์ในพื้นที่แห่งนี้ ต่อเนื่องมาถึงการใช้พื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนโครงงานสะเต็ม (STEM) ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับประเทศไทย เราทราบกันดีว่ามีการสร้างศูนย์สะเต็มศึกษาภายในโรงเรียนกันอยู่บ้าง หากกลับไปมองดูหน่อยว่าพื้นที่ที่ท่านมีอยู่ในตอนนี้ มีอะไรและมีใครทำอะไรอยู่บ้าง คงเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งหากเราจะต่อยอดแนวทางของ makerspace ในโรงเรียนบนพื้นฐานการจัดการเรียนรู้ของสะเต็ม
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลข้างต้นก็พบว่า การจัดสร้างพื้นที่แบบ makerspace ในโรงเรียนในต่างประเทศ ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะพบว่านักเรียนเองยังไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับรูปแบบนี้เท่าไรนัก และยังรอการมอบหมายจากครูให้เป็นผู้ชี้นำ ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนถดถอยลง ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่ควรทำคือการถอยออกมาและคอยสังเกตการณ์อยู่ห่าง ๆ ให้พวกเขาได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดและหาทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง
ถึงตอนนี้ อยากให้คุณครูทุกท่านลองเปรียบตัวเองเสมือนนักเรียนคนหนึ่งซึ่งกำลังฝึกฝนเป็น maker ฝึกหัด (Zero to Maker) ไม่ว่าจะสอนวิชาใด มีพื้นฐานบ้างไม่มีบ้าง แต่ก็ขอให้เริ่มจากความสนใจและหาแรงผลักดันให้ตนเอง ในการสร้างหรือประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาด้วยตนเอง จนนำไปสู่การเรียนรู้และปฏิบัติจริงจนประสบความสำเร็จ และแน่นอนนั่นคือประสบการณ์ที่ดีที่สุดที่จะถ่ายทอดไปยังนักเรียนของทุกท่านได้นั่นเอง
จากประเด็นสำคัญที่เรานำเสนอกันมาตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนนี้ เรื่องของสะเต็มกับวิชาชีพครู ก็อยากกจะสรุปแนวทางสำคัญที่อยากจะฝากกับคุณครูทุกท่านก็คือ จุดเริ่มต้นที่ดีของแนวทางการจัดเรียนรู้แบบสะเต็มเป็นแนวทางที่ดี แต่อยากให้เริ่มต้นจากการเรียนรู้และปฏิบัติจริงของคุณครูแต่ละท่านเองก่อน ทุกคนต้องเข้าใจและยอมรับในรูปแบบของแนวทางนี้ โดยรูปแบบหนึ่งที่จะช่วยให้ทุกท่านประสบความสำเร็จอาจมาจากการที่ท่านได้เป็นผู้สร้างและผู้ปฏิบัติได้จนเกิดความสำเร็จได้ด้วยตนเองก่อน แล้วจึงจะสามารถถ่ายทอดให้กับนักเรียนของท่าน เสมือนอิงแนวทางของ maker movement นั่นเอง โดยอาศัย maker space หรือศูนย์สะเต็มศึกษาในโรงเรียนของท่านที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะในทางปฏิบัติแล้ว แนวทางการจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มในโรงเรียน ก็เป็น maker culture เล็ก ๆ ที่ทำงานหรือสร้างสรรค์ชิ้นงานกันโดยมีกลุ่มคุณครูและนักเรียนเป็น maker ที่อยู่รวมกันภายใน makerspace แห่งหนึ่งนั่นเอง
แหล่งที่มา
Maker Movement ความเคลื่อนไหวจากนักลงมือทำที่เปลี่ยนแปลงโลก. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2561. จาก
http://www.tcdc.or.th/articles/design_creativity/22432/#Maker-Movement-ความเคลื่อนไหวจากนักลงมือทำที่เปลี่ยนแปลงโลก
เมกเกอร์สเปซเพื่อการศึกษา. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2561. จาก
https://www.tkpark.or.th/tha/articles_detail/306/เมกเกอร์สเปซเพื่อการศึกษา
ทีละก้าวสู่ความสำเร็จของเมกเกอร์สเปซเพื่อการศึกษา. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2561. จาก
http://news.npru.ac.th/userfiles/LIBRARY/nm_files/20171022122511_PR arit book 2017.pdf
-
8405 สะเต็มกับวิชาชีพครูตอนที่ 3 : เมกเกอร์สเปซเพื่อการศึกษา /article-stem/item/8405-3เพิ่มในรายการโปรด