ถอดบทเรียน 13 ชีวิตติดถ้ำหลวงกับสะเต็มศึกษา
หลาย ๆ ท่านยังคงจำเหตุการณ์ที่ทีมฟุตบอลเยาวชนท้องถิ่นหมูป่าอะคาเดมี่ 12 คนและผู้ช่วยผู้ฝึกสอนอีก 1 คนติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2561 กันได้หรือไม่? พวกเขาได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ภายในบริเวณถ้ำหลวงและไม่สามารถกลับออกมาได้เนื่องจากน้ำป่าไหลเข้าท่วมปิดทางเข้าออก เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความสามัคคีทั้งคนในชาติและคนทั่วโลกโดยไม่แบ่งชนชั้น เชื้อชาติหรือแม้แต่ศาสนา แต่ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือ อยากเห็นทีมนักเตะเยาวชนชุดนี้รวมทั้งโค้ชออกมาจากถ้ำให้จงได้ จนได้มีวลีหนึ่งที่ฮิตติดปากกันว่า “คนแปลกหน้าที่อยากเจอที่สุด”
ภาพที่ 1 ภาพโค้ชและนักเตะทีมหมูป่าอะคาเดมี่
ที่มา http://news.thaipbs.or.th/hotissues/focus/cave
ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวง เริ่มขึ้นในทันทีตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2561 และเสร็จสิ้นปฏิบัติการในวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 รวมระยะเวลาปฏิบัติภารกิจทั้งสิ้น 17 วัน 4 ชั่วโมง 29 นาที ในการค้นหาและกู้ภัยครั้งนี้เป็นการรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ภัย การดำน้ำ การขุดเจาะ นักภูมิศาสตร์ นักปีนเขา ตำรวจ ทหาร เอกชนจากทุกภาคส่วนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่ได้รับความสนใจจากสังคมเป็นวงกว้าง จนเป็นที่จดจำและสร้างความประทับใจให้กับคนทั่วทุกมุมโลกได้อย่างแท้จริง
หากจะหันมามองบทเรียนในครั้งนี้เราได้เรียนรู้อะไรบ้างในการเชื่อมโยงและบูรณาการสะเต็มศึกษาไปใช้แก้วิกฤติปัญหาในครั้งนี้? และในส่วนของสะเต็มศึกษาจากที่เราเคยได้ศึกษากันมาก่อนนี้แล้วนั้นจะเน้นที่กระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งในวันนี้เราก็จะพูดถึงการเรียนรู้บูรณาการสะเต็มศึกษาในเชิงกระบวนการ (Process) หรือวิธีการ (Approach) จากเหตุการณ์ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวงนั้นเราจะมองเห็นได้ว่ากระบวนการแก้ปัญหาจากสถานการณ์จริง (Real Situations Problem Solving Process) ซึ่งเราสามารถบูรณาการสะเต็มศึกษามาใช้ในการแก้ปัญหาครั้งนี้โดยอาศัยกระบวนการทางวิศวกรรม (Engineering Design Process: EDP) 5 ขั้นตอน (สสวท., 2557) ได้ดังนี้
เริ่มต้นจาก 1) การระบุประเด็นปัญหา: จากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ก็คือ “น้ำท่วมปิดทางเข้าออกถ้ำ ทำให้มีคนติดอยู่ภายในถ้ำถึง 13 ชีวิต ซึ่งขณะนั้นเองยังไม่ทราบได้ว่าคนที่ติดอยู่ในถ้ำจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่?” และเกิดคำถามนำทางการแก้ปัญหา ก็คือ “ทำอย่างไรจึงจะทราบว่าคนที่ติอยู่ในถ้ำอยู่พิกัดตำแหน่งใดของถ้ำและต้องช่วยเหลือคนที่อยู่ภายในถ้ำให้ออกมาได้อย่างไร? อีกทั้งยังต้องทำงานแข่งกับเวลาและสภาพอากาศที่เลวร้ายฝนตกชุกแทบทุกวันของการทำงาน”
2) การค้นหาแนวคิดที่เกี่ยวข้อง: เกิดการศึกษาและค้นหาแผนที่ภายในถ้ำจากคนถิ่นที่เคยเข้าไปสำรวจ รวมถึงนักเดินถ้ำต่างชาติที่เคยได้เข้ามาเดินสำรวจในก่อนหน้านี้เพื่อร่วมกันระดมความคิด วาดแผนที่ภายในถ้ำ รวมถึงยังต้องอาศัยศาสตร์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ศาสตร์ความรู้ทางด้านธรณีฟิสิกส์ ศาสตร์ความรู้ทางด้านภูมิศาสตร์ภูมิประเทศ ทางไหลของแหล่งน้ำเพื่อปิดกั้นตาน้ำไม่ให้น้ำไหลเข้าถ้ำได้อีก ด้วยความหวังว่าผู้ที่ติดอยู่ในถ้ำจะยังคงมีพื้นที่อากาศสำหรับการหายใจได้
3) การวางแผนและพัฒนา: จากนั้นจึงเกิดการระดมความคิด ร่วมกันวางแผน การคาดคะเนความเป็นไปได้ทุกทาง เกิดการระดมสรรพกำลังของทุกหน่วยงาน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ กำลังแรงกายและแรงใจจากหลายๆหน่วยงานทั้งหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศอีกมากมาย นอกจากนี้ยังมีเหล่าจิตอาสาร่วมด้วยช่วยกันช่วยในปฏิบัติการครั้งนี้อีกด้วย
4) การทดสอบและประเมินผล: จากการระดมความคิดร่วมกันวางแผนปฏิบัติการครั้งนี้ทำให้แบ่งแผนการปฏิบัติการออกเป็น 3 ระยะ ก็คือ ระยะที่ 1 ปฏิบัติการค้นหา ระยะที่ 2 ปฏิบัติการกู้ภัย และระยะที่ 3 ปฏิบัติการส่งกลับ ซึ่งหากเราติดตามข่าวสารจากทุกช่องทางจะทราบว่าคณะทำงานร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ร่วมกันวางแผน ทดสอบ สรุปและประเมินงานกันแทบจะเรียกได้ว่านาทีต่อนาทีกันเลยทีเดียว ด้วยเป้าหมายเดียวกันก็คือ อยากเห็นคนที่ติดอยู่ในถ้ำทุกคนออกมาได้อย่างปลอดภัยและกลับสู่อ้อมกอดพ่อแม่ญาติพี่น้องของพวกเขา
5) การนำเสนอผลลัพธ์: ผลลัพธ์ที่เกิดจากกระบวนการนี้ ก็คือ ความสำเร็จผลของปฏิบัติการทั้ง 3 ระยะตั้งแต่การค้นพบผู้สูญหายทั้ง 13 คนเจอในจุดที่เรียกว่า เนินนมสาว ซึ่งจากปากทางเข้าถ้ำผ่านช่องแคบทางคดเคี้ยวผ่านเนินทรายรวมถึงจุดที่น้ำท่วมมิดจนถึงเนินที่พบตัวรวมระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ซึ่งปฏิบัติการกู้ภัยก็เป็นไปได้ยากและดำเนินการอย่างทุลักทุเลเช่นเดียวกัน หากจะมองลึกลงในขั้นตอนนี้อาศัยทั้งเทคโนโลยีที่เป็นความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นเครื่องมือ ดังที่เราเคยได้ให้นิยามของเทคโนโลยีไว้ในคราวที่แล้วนั้น เครื่องมือและความรู้ทางเทคโนโลยีที่มาช่วยนำทางหรือแม้แต่ช่วยในการสำรวจมีหลายชนิดเลยทีเดียว เช่น เครื่องสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ เครื่องฉายแสง 3D สำรวจภายในถ้ำ เครื่องสำรวจและขุดเจาะถ้ำ ชุดประดาน้ำ เครื่องช่วยหายใจใต้น้ำ ถังอากาศ ชุดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างในการการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รวมถึงเวชภัณฑ์ยารักษาโรคทุกชนิด หรือแม้แต่ยาที่ฉีดเพื่อลดความตื่นตระหนกในระหว่างการเคลื่อนย้ายนักตะทีมหมูป่าอะคาเดมี่และผู้ช่วยผู้ฝึกสอน เป็นต้น
จากปฏิบัติการค้นหา 13 ชีวิตติดถ้ำหลวงในครั้งนี้ เราถอดบทเรียนอะไรได้บ้าง เราบูรณาการสะเต็มศึกษาได้อย่างไรบ้าง บทเรียนครั้งนี้ให้อะไรเรามากกว่าประสบการณ์ มากกว่าสิ่งที่เราได้ยิน ได้เห็น ได้ฟังมา แต่มากกว่านั้นคือมิตรภาพไม่มีพรมแดนและเชื้อชาติโดยแท้จริง
แหล่งที่มา
สะเต็มศึกษาประเทศไทย. (2558ข). มุมมองการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2561, จาก http://www.stemedthailand.org/
ศูนย์สะเต็มศึกษาแห่งชาติ. (2557). รู้จักสะเต็ม. สืบคนเมื่อ 13 กันยายน 2561, จาก http://www.stemedthailand.org/
วิกิพิเดีย สารานุกรมเสรี. ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวง. สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2561, จาก https://th.wikipedia.org/wiki
Reeve, E. M. (2013). Implementing Science, Technology, Mathematics, and Engineering (STEM) Education in Thailand and in ASEAN. Bangkok: Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST).
-
9096 ถอดบทเรียน 13 ชีวิตติดถ้ำหลวงกับสะเต็มศึกษา /article-stem/item/9096-13เพิ่มในรายการโปรด