เทคโนโลยีกับสะเต็มศึกษา
หากจะกล่าวถึงนิยามของ Technology หรือ T ในความหมายของสะเต็ม (STEM) แล้วนั้น เทคโนโลยี หมายถึง ทุกสิ่งอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นบนพื้นฐานความเป็นธรรมชาติของสิ่งต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ซึ่งมักจะเอื้อประโยชน์ อำนวยความสะดวกหรือแม้แต่เพื่อความปลอดภัยต่อมนุษย์เอง เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพนั้นจะต้องผ่านกระบวนการออกแบบทางเทคโนโลยี (Technological Design Process) ซึ่งกระบวนการนี้เองมีความคล้ายคลึงกันกับกระบวนการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ เพราะทั้งสองกระบวนการต่างมุ่งเน้นวิธีการแก้ปัญหาเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบของปัญหานั่นเอง
ภาพที่ 1 เทคโนโลยีดิจิตอล
ที่มา https://pixabay.com/ ,TheDigitalArtist
รูปแบบการศึกษาในปัจจุบันที่มุ่งเน้นส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาจึงเน้นที่การพัฒนาศักยภาพและความรู้เรื่องเทคโนโลยี (Technology Literacy) ให้กับผู้เรียนโดยการมุ่งพัฒนาความสามารถในการใช้ การจัดการ การประเมินและเข้าใจในเทคโนโลยี ซึ่งปรัชญาหนึ่งของการศึกษาเทคโนโลยี คือ การสอนให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดแก้ปัญหา ซึ่งถือว่าเป็นทักษะสำคัญในการดำรงชีวิตในระยะยาว เพราะทักษะการแก้ปัญหาที่เกิดจากการเรียนรู้ การคิดหาแนวทางแก้ปัญหา การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล จนถึงการคิดตัดสินใจเพื่อที่จะนำไปสู่หนทางการลงมือปฏิบัติ เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบของปัญหานั้นโดยอาศัยกระบวนการแก้ปัญหาทางเทคโนโลยีศึกษา เช่น การวิจัยและพัฒนา (Research & Development) หรือ R & D วิธีการทางวิทยาศาสตร์และการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Methods & Scientific Inquiry) กระบวนการออกแบบทางวิศวกรรม (Engineering Design Process) หรือ EDP การประดิษฐ์และนวัตกรรม (Interventions & Innovations) รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent) หรือ AI เป็นต้น
ภาพที่ 2 วิวัฒนาการของเทคโนโลยี
ที่มา https://pixabay.com/ ,PhotoMIX-Company
ที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ มีนักวิชาการบางท่านได้ให้นิยามของเทคโนโลยีในอีกมุมมองที่แตกต่างไว้ ว่า 1) เทคโนโลยีในฐานะที่เป็นสิ่งของ technology as object 2) เทคโนโลยีในฐานะที่เป็นความรู้ technology as knowledge 3) เทคโนโลยีในฐานะที่เป็นกิจกรรม technology as activity และ 4) เทคโนโลยีในฐานะที่เป็นแนวทางเลือก technology as volition (Mitcham, 1994) ซึ่งหากเรามองเทคโนโลยีในฐานะที่เป็นความรู้ เทคโนโลยีนี้จะเกี่ยวข้องกับความรู้สองประเภทที่ไม่สามารถแยกจากกันได้ คือ ความรู้ในเชิงมโนมติ (Conceptual knowledge) และความรู้ในเชิงกระบวนการ (procedural knowledge)
ประเภทแรกคือ ความรู้ในเชิงมโนมติ (Conceptual knowledge) คือ การรู้ว่าอะไรคืออะไรและเป็น อย่างไร (knowing that) เช่น เมื่อเราพิจารณาความรู้ที่จะนำมาสร้างสิ่งของ อุปกรณ์ หรือระบบการควบคุม ต่างๆ เทคโนโลยีในความหมายนี้จึงหมายรวมถึงศาสตร์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ทุกด้านทุกแขนงที่ เกี่ยวข้องสัมพันธ์ เพื่อนำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้น และการพัฒนาทางเทคโนโลยีนั่นเอง อีกประเภทหนึ่งคือ ความรู้ในเชิงกระบวนการ (procedural knowledge) คือ การรู้ว่าจะทำอย่างไร (knowing how) โดยความรู้ ในเชิงกระบวนการจะซ่อนอยู่ในตัวบุคคลเพราะเป็นเรื่องการออกแบบ (Design), การทำตัวแบบ (Modelling), การแก้ปัญหา(Problem Solving), แนวทางการสร้างระบบ (Systems Approaches), การวางแผนโครงการ (Project Planning), การประกันคุณภาพ (Quality Assurance) และวิธีการทำให้เหมาะสมที่สุด (Optimization) ซึ่งเทคโนโลยีประการหลังจึงเป็นเทคโนโลยีความรู้ในเชิงกระบวนการ (Herschbach, 1995)
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเทคโนโลยีจะถูกให้นิยามในหลายๆความหมายดังที่เราได้กล่าวกันมาในข้างต้นนั้น แต่ความหมายโดยนัยแล้ว เทคโนโลยีกับสะเต็มศึกษาก็คือศาสตร์ความรู้หรือองค์ความรู้ที่เกิดจากกระบวนการคิดแก้ปัญหา การศึกษาศาสตร์ความรู้ในประเด็นนั้น ๆ การพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงการหาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปสู่กระบวนการแก้ปัญหาทางเทคโนโลยี ซึ่งมีความคล้ายคลึงและสอดคล้องกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เราเรียกว่ากระบวนการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ จากเหตุปัจจัยนี้เองทำให้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันจนแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้เลยทีเดียว เราะหากพูดถึงวิทยาศาสตร์ก็มักจะเชื่อมโยงมายังเทคโนโลยี และหากพูดถึงเทคโนโลยีก็มักจะเชื่อมโยงมายังวิทยาศาสตร์เฉกเช่นเดียวกัน
แหล่งที่มา
สุทธิดา จำรัส. (2560). นิยามของสะเต็มและลักษณะของกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวสะเต็มศึกษา. วารสารศึกษาศาสตร์ มสธ. ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (ก.ค.-ธ.ค.). หน้า 13-34. สืบค้น 13 กันยายน 2561, จาก http://www.edjournal.stou.ac.th/filejournal/
Bybee, R. (2010, 27th August). What Is STEM Education?. Retrieved March 18, 2018, from http://science.sciencemag.org/content/329/5995/996
Gibson, K. (2008). Technology and technological knowledge: A challenge for school
curricula. Teachers and Teaching: Theory and practice, 14(1), 3-15.
Herschbach, D. R. (1995). Technology as knowledge: Implications for instruction. Journal of
Technology Education, 7(1), 31-42.
Mitcham, C. (1994). Thinking through technology. Chicago: The University of Chicago Press.
-
9103 เทคโนโลยีกับสะเต็มศึกษา /article-stem/item/9103-2018-10-18-08-35-19เพิ่มในรายการโปรด