สะเต็มศึกษากับกระบวนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
การเรียนรู้ของมนุษย์เริ่มขึ้นเมื่อใด ยุคสมัยไหน หรือแม้แต่ที่ใด ไม่มีใครให้คำตอบที่แท้จริงได้ แต่สิ่ง หนึ่งที่ทุกคนตระหนักรู้นั่นก็คือการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมนุษย์เรียนรู้ได้จากทุกสิ่งอย่างที่อยู่รอบๆกาย สถานการณ์ เหตุการณ์ ทุกปัจจัยหรือทุกปัญหาล้วนก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ทั้งสิ้น แล้วการเรียนรู้แบบใดของ สะเต็มศึกษาจึงจะก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง? ลองมาศึกษารายละเอียดข้อมูลนี้ดูค่ะ
หากจะกล่าวถึงการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 แล้วนั้นย่อมแตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา โดยการเรียนรู้ใน ศตวรรษที่ 21 นี้จะเน้นไปที่กระบวนการเรียนรู้หรือทักษะที่เกิดจากการเรียนรู้ดังเช่นสภาการวิจัยแห่งชาติ อังกฤษ (National Research Council, 2011) ได้ให้นิยามการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการดำรงชีวิตในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งประกอบด้วยทักษะ 3 ด้านได้แก่ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม (Learning and Innovation Skills) ทักษะด้านข้อมูล สื่อและเทคโนโลยี (Information, Media and Technology Skills) และทักษะชีวิตในอาชีพ (Life and Career Skills) ซึ่งเป็นไปตามกรอบแนวคิดเพื่อการเรียนรูในศตวรรษที่ 21 (21st Century Learning Framework) ดังภาพที่ 1
ภาพที่ 1 กรอบแนวคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (21st Century Learning Framework)
แหล่งที่มา http://artdesignqa.blogspot.com/2015/08/21-21st-century-learning.html
การเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เน้นการบูรณาการศาสตร์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านรูปแบบกระบวนการเรียนรู้เชิงวิศวกรรมเพื่อเน้นทักษะกระบวนการในการแก้ปัญหา โดยการเชื่อมโยงความรู้ที่มีทั้งหมดสู่การประยุกต์ใช้แก้ปัญหาได้จริงทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงานในอนาคตของผู้เรียน ซึ่งการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษานับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นการศึกษาเรียนรู้ที่เปิดกว้างทั้งทางด้านความคิด มุมมองและการกระทำ โดยนัยหนึ่งหมายรวมถึงการศึกษาที่นำไปสู่การเรียนรู้ทุกหนแห่ง ดังนั้นแล้วโลกของเทคโนโลยีเครือข่ายการเรียนรู้ในยุคใหม่จึงต้องเป็นการเรียนรู้ที่ตื่นตัวตลอดเวลา (Active Learning) เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ( Life Long Learning) และการศึกษาจะต้องควบคู่ไปกับการทำงานเพื่อที่จะนำความรู้นั้นมาใช้ในการสร้างนวัตกรรมสำหรับขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมต่อไป
ภาพที่ 2 การศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต
ที่มา https://pixabay.com/ ,MabelAmber
ดังนั้นแล้วสะเต็มศึกษากับกระบวนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 จึงต้องเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของกระบวนการหรือขั้นตอนในการเรียนรู้ จากแบบดั้งเดิมไปสู่การเรียนรู้ที่เน้นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) นั่นหมายถึงว่า ผู้เรียนจะเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเองผ่านกระบวน การแก้ปัญหาจนนำไปสู่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงและกระบวนการในหาคำตอบเพื่อนำมาสู่การรู้แจ้งเห็นจริงได้ด้วยการอธิบายถึงความเป็นเหตุเป็นผลของข้อมูลและหลักฐานที่ปรากฏได้ ซึ่งครูจะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ฝึกฝนให้ตนเองเป็นเสมือนผู้ฝึกสอนและพี่เลี้ยงในการเรียนรู้ (Coaching and Mentoring) อีกทั้งยังเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (Facilitator) การเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะเสริมสร้างผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ ซึ่งการเรียนรู้ในประเด็นทางสังคมหรือสถานการณ์จริงจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดทักษะการในแก้ปัญหา (Problem Solving) จนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยแท้จริง ด้วยเหตุนี้เองการศึกษาแบบสะเต็มหรือสะเต็มศึกษาจึงตอบโจทย์เป้าหมายของการจัดการศึกษาในยุคนี้ เพราะมุ่งเน้นทักษะของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั่นเอง
แหล่งที่มา
สะเต็มศึกษาประเทศไทย. (2558ข). มุมมองการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2561 จาก http://www.stemedthailand.org/
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ. (2552). แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับปรับปรุง (พ.ศ. 2552-2559). กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ.
Bybee, R. (2010). Advancing STEM Education: A 2020 Vision. Technology and Engineering Teacher, 70(1), pp. 30-35.
National Research Council. (2011). Assessing 21st century skills: Summary of a workshop. National Academies Press.
Reeve, E. M. (2013). Implementing Science, Technology, Mathematics, and Engineering (STEM) Education in Thailand and in ASEAN. Bangkok: Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST).
-
9112 สะเต็มศึกษากับกระบวนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 /article-stem/item/9112-21เพิ่มในรายการโปรด