สุดยอดแอปพลิเคชันแห่งการประเมินผลการเรียนรู้
การจัดการเรียนการสอนหนึ่ง ๆ ควรมีการตรวจสอบคุณภาพของผู้เรียน ผู้สอน และกระบวนการสอนเป็นระยะ ๆ (formative evaluation) เพื่อพิจารณาตรวจสอบว่า ผู้เรียนมีคุณสมบัติหรือเกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ตรงตามวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนตรงตามที่กำหนดไว้หรือไม่ กระบวนการวัดและประเมินผลนี้ จะพยายามทำให้ได้ข้อมูลจากการจัดการเรียนการสอน เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์และตัดสินใจว่า การสอนดังกล่าวนั้นบรรลุผลหรือไม่ (Summative Evaluation) การนำผลการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ในการจัดลำดับ และพัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอนต่อไป การเรียนการสอนหากไม่มีการวัดและประเมินผลแล้ว ผู้สอนก็ไม่ทราบว่าผู้เรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ไม่ทราบว่าการจัดการเรียนการสอนดังกล่าวมีประสิทธิภาพหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ หากต้องการพัฒนาปรับปรุงแก้ไข จะปรับปรุงพัฒนาตรงจุดไหน อย่างไร เป็นต้น
การวัดผลเป็นกระบวนการหรือวิธีการในการกำหนดตัวเลขให้กับคุณลักษณะต่าง ๆ ของคน สัตว์ สิ่งของ หรือเหตุการณ์ต่างๆ อย่างมีกฎเกณฑ์ คือ จะต้องดำเนินการอย่างมีขั้นตอน เป็นระเบียบแบบแผน โดยมีเครื่องมือ ช่วยวัด ซึ่งจะทำให้ตัวเลขใช้แทนลักษณะของสิ่งที่เราต้องการ การประเมินผลการเรียนรู้ เป็นการใช้เทคนิคประเมินผลหลากหลายวิธี ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้
-
วิเคราะห์จุดประสงค์การเรียนรู้ เป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม สามารถวัดหรือสังเกตเห็นได้ด้วยความรู้ ความเข้าใจทักษะ กระบวนการและด้านจิตใจ
-
ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้หรือภาระงานการปฏิบัติในลักษณะผลผลิตหรือผลงาน ผลการกระทำหรือพฤติกรรมและกระบวนการ เช่น การทดลอง เป็นต้น
-
เลือกวิธีการและเครื่องมือวัดและประเมินผล
ภาพ สื่อความหมายโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันในการวัดและประเมินผล
ที่มา ฉัตรพงศ์ ชูแสงนิล
การเลือกเครื่องมือในการวัดผลของผู้เรียนในยุคดิจิทัล โดยใช้แอปพลิเคชันในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ที่สร้างความท้าทายให้กับผู้เรียนและผู้สอน เป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการวัดและประเมินผล ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ ของผู้เรียน ให้มีความทันสมัยและตอบสนองพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนในยุคดิจิทัล แอปพลิเคชันที่นับเป็นสุดยอดในการประเมินผลการเรียนรู้ในปัจจุบัน ที่สามารถตอบสนองการวัดผลการเรียนรู้ได้หลายรูปแบบ ได้แก่
- Plickers
ผู้สอนสามารถใช้เป็นเครื่องมือการประเมินผู้เรียน โดยโหลดแอปพลิเคชัน Plickers และกระดาษคำตอบ สามารถโหลดได้ในเว็บ (www.plickers.com) และพิมพ์ออกมา ตัวใบคำตอบของแต่ละคนจะหน้าตาไม่เหมือนกัน ลักษณะหน้าตาเหมือน QR Code สามารถพลิกได้ 4 ด้านเพื่อเปลี่ยนคำตอบ A-B-C-D เป็นเครื่องมือที่ถูกออกแบบมาอย่างเรียบง่ายมาก โดยที่ผู้เรียนไม่จำเป็นจะต้องมีมือถือ คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ จึงทำให้ Plickers เป็นเครื่องมือที่เข้าถึงนักเรียนได้ทุกพื้นที่
- Kahoot!
เป็นโปรแกรมที่ใช้ตอบคำถาม คำตอบทางออนไลน์ พร้อมสรุปผลคะแนน คนที่ได้คะแนนมากที่สุด เรียงลำดับ และรายบุคคล ด้วยการเล่นผ่านระบบออนไลน์ที่นักเรียนจะต้องเล่นผ่านคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน หรือแท็บเลต เชื่อมต่อเข้าสู่ระบบ เพื่อระบุชื่อคนเล่น เก็บคะแนนหรือแข่งขันกัน ซึ่งครูสามารถตั้งคำถามและเฉลยคำตอบเพื่อให้นักเรียนเล่นเกมแข่งขันกันได้
- Socrative
เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยสร้างแบบทดสอบเพื่อประเมินผลนักเรียนแบบออนไลน์ สามารถแสดงผลการสอบได้ทันที รองรับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สามารถใส่ภาพประกอบคำอธิบายต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนพิมพ์คำตอบ จุดเด่นที่สำคัญคือ ผู้เรียนสามารถทำข้อสอบผ่านอุปกรณ์หลากหลายแพลตฟอร์ม (Platform) ที่เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตได้ เช่น มือถือสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และเครื่องคอมพิวเตอร์
- Zipgrade
เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับตรวจคำตอบประเภทปรนัยที่สามารถแสดงผลได้ทันที โดยใช้ร่วมกับกระดาษที่ทางแอปพลิเคชันนี้ได้ทำขึ้น สำหรับใช้ในการประเมินผลต่าง ๆ โดยการใช้สมาร์ตโฟนหรือแท็บเลตสแกนเพื่อตรวจคำตอบ สามารถรองรับคำตอบที่ใช้ปากกาสีแดง สีน้ำเงินและดินสอสีดำได้ มีความรวดเร็วแม่นยำในการประมวลผล ไม่เกิน 5 นาทีต่อ 1 แผ่น สามารถบอกค่าเฉลี่ย ค่าสูงสุดต่ำสุดของคะแนนสอบ และค่าสถิติของตัวข้อสอบได้
- quizizz
เป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้าง แบบทดสอบออนไลน์ (e-Testing) ผู้เรียนทำแบบทดสอบผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่เชื่อมต่อระบบ Internet ผู้เรียนทราบผลการสอบทันที และผู้สอน ได้รับรายงาน (Report) ผลการสอบและบันทึกลงเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ เหมาะกับการนำมาประยุกต์ใช้กับ การทำข้อสอบก่อนเรียน หลังเรียนเพื่อวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียน หรือจัดกิจกรรมการสอบแบบเกมเพื่อเพิ่มความสนุกสนานในการเรียนได้
แอปพลิเคชันดังกล่าวสามารถวัดด้านพุทธิพิสัยที่แสดงพฤติกรรมด้านความสามารถทางสติปัญญาของบุคคล ลักษณะการวัดจึงเป็นการวัดทางอ้อมจากพฤติกรรมที่แสดงออกของผู้ถูกวัดภายใต้เครื่องมือวัดหรือสถานการณ์ที่ผู้สอบกำหนด ซึ่งมีการจำแนกความสามารถอกเป็น 6 ระดับ ดังนี้
1) ความรู้ความจำ คือความสามารถในการระลึกได้ถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เคยมีประสบการณ์มาก่อนจะด้วยวิธีการใดก็ตาม เช่น จากการเรียนรู้ในห้องเรียน การอ่านหนังสือ การบอกเล่าต่อ ๆ กันมา เป็นต้น
2) ความเข้าใจ คือความสามารถในการผสมผสานความรู้ความจำ แล้วขยายความคิดของตนเองออกไปอย่างสมเหตุสมผลสามารถอธิบายความโดยใช้ความคิดและคำพูดของตนเอง ดังนั้นความเข้าใจจึงเป็นความรู้ขั้นสติปัญญา (cognition) เนื่องจากต้องนำเอาความรู้จากขั้นความรู้ความจำ มาผสมผสานร่วมด้วย
3) การนำไปใช้ คือความสามารถนำความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เรียนรู้มาแล้วไปใช้ที่แปลกใหม่ หรือสถานการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนแต่อาจใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกับที่เคยมีประสบการณ์มาก่อน
4) การวิเคราะห์ คือความสามารถแยกแยะเรื่องราวสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นส่วนย่อย ๆ ได้ ทำให้สามารถมองเห็นความสัมพันธ์กันของส่วนย่อยได้อย่างชัดเจน สามารถค้นหาความจริงต่าง ๆ ที่ซ่อนแฝงอยู่ในเนื่องเรื่องนั้น ๆ ได้
5) การสังเคราะห์ คือการนำองค์ประกอบย่อย ๆ ต่าง ๆ ตั้งแต่ 2 สิ่งขึ้นไปมารวมเข้าเป็นเรื่องราวเดียวกันเพื่อให้เห็นถึงโครงสร้างที่ชัดเจน แปลกไปจากเดิม
6) การประเมินค่า คือความสามารถในการตัดสินเกี่ยวกับคุณค่าของเนื้อหาและวิธีการต่าง ๆ โดยสรุปอย่างมีหลักเกณฑ์ว่า เหมาะสม มีคุณค่า ดีเลว เพียงไร เป็นต้น
การใช้แอปพลิเคชันในการวัดและประเมินผลการจัดการเรียนรู้นอกจากจะเกิดประโยชน์การวัดผลในห้องเรียน ยังช่วยให้สถาบันการศึกษาประหยัด ค่าใช้จ่ายจากการเตรียมสอบ และเป็นการใช้เทคโนโลยีได้อย่างเกิดประโยชน์ ช่วยให้ผู้สอนลดเวลาในการทำข้อสอบและจัดชุดทดสอบ อีกทั้งจะทราบจุดบกพร่องการเรียนของนักเรียนแต่ละคนในแต่ละเนื้อหา ว่านักเรียนไม่เข้าใจในเนื้อหาการเรียนเรื่องใด เพื่อนำมาปรับปรุง แก้ไข กระบวนการจัดการเรียนการสอนได้ดียิ่งขึ้น ในด้านของผู้เรียนเอง ก็จะได้ทราบข้อมูลและประเมินตนเองได้ว่าไม่เข้าใจเนื้อหาตรงส่วนใดเพื่อจะได้กลับไปทบทวน และทำความเข้าใจในเนื้อหานั้นอีกครั้งหนึ่ง เสมือนการสร้างแรงจูงใจในการเรียน และให้ผู้เรียน ต้องเตรียมพร้อมในการเรียนอยู่เสมอ
แหล่งที่มา
กลุ่มบริษัททรู. (2561, 5 มีนาคม). รวมแอปพลิเคชัน ช่วยเรื่องการเรียนการสอน สำหรับห้องเรียน 4.0 . สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2562, จาก https://www.trueplookpanya.com/blog/content/65872/-teaarttea-teaart.
ภาณุวัฒน์ วรพิทย์เบญจา. (2558). การพัฒนาแอปพลิเคชันการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนเสมือนจริงบนอุปกรณ์เคลื่อนที่. วารสารวิชาการคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง 8(2), (58-67).
สมชาย รัตนทองคำ. (2554). การวัดและประเมินผลทางการศึกษา. สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2562, จาก https://ams.kku.ac.th/aalearn/resource/edoc/tech/54/13eva.pdf
อัครเดช เกตฉ่ำ. (2559). การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ (Learning Measurement and Evaluation) .สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2562, จาก http://www.bsru.ac.th/identity/archives/2617
Jakkarin Burananit. (2560, 9 พฤศจิกายน). 9 เทคโนโลยีการศึกษา สำหรับครูไทยยุค 4.0. สืบค้นเมื่อ 2
เมษายน 2562, จาก https://medium.com/opencurriculum/9-เทคโนโลยีการศึกษา-สำหรับครูไทยยุค-4-0-3f364235a443.
-
10115 สุดยอดแอปพลิเคชันแห่งการประเมินผลการเรียนรู้ /article-technology/item/10115-2019-04-19-03-47-12เพิ่มในรายการโปรด