ดิจิทัลดีท๊อก (Digital Detox)
คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน เวลาส่วนใหญ่คนไทยใช้ไปกับ สื่อสังคมออนไลน์ โดยใช้เวลาใกล้เคียงกันในวันทำงานและวันหยุด โดยเฉพาะการใช้ Facebook, Instagram, Twitter และ Pantip สูงถึง 3 ชม. 30 นาทีต่อวัน สถิติดังกล่าวเพิ่งถูกสำรวจในปี 2561 ที่ผ่านมา และคนไทยมีแนวโน้มการใช้อินเทอร์เน็ตสูงขึ้นด้วย ผลลัพธ์จากพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ ที่เสพติดเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งแสงจากหน้าจออิเล็กทรอนิกส์จะกระตุ้นให้ผู้ใช้รู้สึกตื่นตัวและยับยั้งฮอร์โมนเมลาโทนินซึ่งทำให้เรานอนหลับไม่สนิท รวมไปถึงจะมีสมรรถภาพการทำงานที่แย่ลงและอารมณ์เสียได้ง่ายขึ้นในระหว่างวัน นอกจากนั้นงานวิจัยยังบ่งชี้ว่า การเล่นโซเชียลมีเดียมาก ๆ ยังจะส่งผลให้ระดับความเหงา ความเศร้า และความกลัวของผู้คนเพิ่มขึ้นได้เป็นหลายเท่าตัว
ภาพกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ อีกหนึ่งวิธีบำบัดอาการเสพติดเทคโนโลยีหรือโซเชียลมีเดีย
ที่มา https://pixabay.com/, Free-Photos
ดิจิทัลดีท็อก (Digital Detox) เป็นการบำบัดอาการเสพติดเทคโนโลยีหรือโซเชียลมีเดียที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการเสพติด โดยการนำตัวเองออกห่างจากสมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เป็นการพักใจ พักสมอง และฟื้นฟูตนเอง จากเทคโนโลยี การเว้นวรรคหรือพักการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลอิเล็กทรอนิกส์ชั่วคราว การหลีกเลี่ยงการใช้งานสมาร์ทโฟน ไม่สนใจโซเชียลมีเดียชนิด เป็นกระบวนการพื้นฐานของการเริ่มต้นห่างจากสมาร์ทโฟนอย่างถาวร เป็นแนวทางที่จะช่วยให้คนคุ้นชินและห่างไกลจากโซเชียลมีเดีย
การบำบัดจะมุ่งเน้นที่การปรับเปลี่ยนตามรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คน คือต้องเปลี่ยนพฤติกรรมไปพร้อม ๆ กับการบำบัดทางใจ โดยการตัดขายจากอุปกรณ์การสื่อสาร และนำตนเองออกสู่ธรรมชาติ ชุมชน และโลกภายนอก เป้าหมายสำคัญของโปรแกรมดิจิทัลดีท็อก คือ การสร้างสมดุลให้กับชีวิตเราใหม่ ทำให้เรารู้สึกสงบและมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงได้ชัดขึ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นประโยชน์ในแง่ความสัมพันธ์ การสร้างงาน สุขภาพทางกายและใจ เช่น การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเราและผู้อื่น ลดความเครียดและความกดดัน เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ มีเวลาทบทวนตัวเอง ช่วยให้นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ รวมถึงได้สุขภาพกายและใจที่ดีขึ้นกว่าเดิม ที่พักหลายแห่งมีบริการ Digital Detox จากเว็บไซต์ http://digitaldetox.org ซึ่งจะมีโปรแกรมกิจกรรมให้ผู้ที่รับการบำบัดได้เลือกทำระหว่างที่เข้าพัก เช่น เดินป่าชมธรรมชาติ บำบัดด้วยโยคะหรือการนั่งสมาธิ เรียนรู้วิถีการทำเกษตรในแบบ Permaculture ฝึกลมหายใจเข้า-ออก เพื่อลดความเครียด และ ทำให้อยู่กับตนเองมากขึ้น รวมทั้งอาจจะมีฝึกเข้าครัวทำอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นต้น โดยระหว่างที่ทำกิจกรรมก็จะมีเทรนเนอร์คอยดูแลอยู่ตลอด
เทคโนโลยีมีทั้งด้านบวกและด้านลบหากใช้เทคโนโลยีมากเกินไปโดยไม่รักษาความสมดุลอาจจะทำให้เกิดผลเสียแก่ร่างกาย และจิตใจ เราสามารถ ทำดิจิทัลดีท็อกได้ โดยการรักษาสมดุลระหว่างเทคโนโลยีและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว การท่องเที่ยวโดยห่างจากโซเชียลมีเดีย การนั่งสมาธิ หรือกิจกรรมสันทนาการ
แหล่งที่มา
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ. (2562). Digital Detox? บำบัดพฤติกรรมติดจอ ช่องทางธุรกิจใหม่ในโลกยุคดิจิตอล. กรุงเทพฯ : ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ.
AdmissionPremium. (2562, 12 ตุลาคม). ทุกอย่างวุ่นวายเกินไป มา Restart ชีวิตให้สดใส ด้วย Digital Detox. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2562, จาก https://www.admissionpremium.com/it/news/2683
-
10982 ดิจิทัลดีท๊อก (Digital Detox) /index.php/article-technology/item/10982-digital-detoxเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง