Digital Lending กู้ยืมเงินออนไลน์
คุณเคยสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มาก่อนหรือไม่ แน่นอนว่าในยุคปัจจุบันใครๆก็ต้องรู้จักการซื้อสินค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อผ่านร้านค้าออนไลน์อย่าง Shopee หรือ Lazada บางทีก็ซื้อผ่าน Social Media อย่าง Facebook หรือ IG ซึ่งเราสามารถติดต่อกับพ่อค้าแม่ค้าได้โดยตรง การซื้อขายสินค้าแบบนี้เรียกว่า E-Commerce อย่างที่ทราบกันดีว่าธุรกิจแบบ E-Commerce ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยอัตราการเติบโตของตลาด E-Commerce จากข้อมูลของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.); Electronic Transactions Development Agency หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ได้เปิดเผยออกมาว่า มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศเติบโตอย่างมากเมื่อเทียบระหว่างปี 2560 – 2561 มีอัตราการเติบโตสูงถึง 14.04% คิดเป็นมูลค่า 3,150 ล้านบาท และจากผลสำรวจช่วงกิจกรรม 11.11 Shopee BIG SALE ในปี 2561 ก็ได้เปิดเผยว่ามีออเดอร์เข้ามาถึง 11 ล้านครั้งใน 1 วัน เฉลี่ย 1 นาทีขายสินค้าได้ 58,000 ชิ้น สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนจากยุคการซื้อขายสินค้าผ่านหน้าร้าน กลายเป็นการซื้อขายสินค้าออนไลน์เข้ามาแทนที่และแน่นอนว่าธุรกิจหรือการค้าขายย่อมเดินไปพร้อมกับความสามารถทางการเงิน การจะค้าขายหรือต่อยอดธุรกิจได้นั้นจะต้องมีเงินลงทุนที่เพียงพอ Digital Lending หรือ การกู้ยืมเงินออนไลน์ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ไม่อยากเจอปัญหาในการกู้เงินแบบทั่วไปที่ต้องเตรียมเอกสารมากมายและต้องมีหลักประกันในการกู้เงิน โดยจะมีการประเมินเครดิตผู้กู้ออนไลน์ และการสร้างช่องทางการให้บริการขอกู้สินเชื่อแบบออนไลน์ เพื่อให้ผู้ขอกู้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวก ง่ายดาย
ภาพสื่อถึงการซื้อขายสินค้าออนไลน์
ที่มา https://pixabay.com, Mediamodifier
รูปแบบของ Digital Lending
-
Online Lender คือการปล่อยกู้ผ่านช่องทาง Digital ทั้งกระบวนการ แบบ End-to-End เช่น Lidya Tala Branch
-
P2P Lending Platform คือการจับคู่ระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ โดยมี platform เป็นตัวกลางทำธุรกรรมระหว่างกัน เช่น CreditEase KwikCash
-
E-Commerce and Social Platform คือการที่ platform E-Commerce หรือ Social Media ปล่อยกู้ให้กับผู้ใช้งานแอปพริเคชั่นของตัวเอง โดยใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลของลูกค้าเป็นเครื่องประเมิน ความเสี่ยง เช่น Amazon WeChat
-
Marketplace Platform มีลักษณะคล้าย P2P Platform แต่จะต่างกันตรงที่ผู้กู้และผู้ให้กู้จะมาเจอกันและทำธุรกรรมการกู้เงินระหว่างกันโดยตรง เช่น LoanFrame
-
Supply Chain Lender คือการปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อจุดประสงค์ในการซื้อวัตถุดิบจาก Supplier ของตน เช่น M-Kopa Solar
-
Mobile Money Lender คือการเข้าเป็นพันธมิตรกับบริษัทเครือข่ายมือถือเพื่อปล่อยกู้ให้กับฐานลูกค้าของเครือข่าย โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลลูกค้ามาเป็นเครื่องประเมินความเสี่ยง เช่น Kopo Kopo
-
Tech-Enabled Lender คือการที่บริษัทผู้ให้บริการกู้ยืมเงินทั่วไป มีการนำ technology มาใช้ในบางขั้นตอนของการปล่อยสินเชื่อ เช่น Aye Finance
ปัจจุบันมีหลายธนาคารให้บริการ Digital Lending กู้ยืมเงินออนไลน์ เช่น ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ฯลฯ มีการให้สินเชื่อหลากหลายประเภท เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อ SME แต่แน่นอนว่าการให้บริการทางการเงินแบบออนไลน์นี้ย่อมมีความเสี่ยงมากกว่าการปล่อยเงินกู้ในกรณีปกติที่มีเอกสารหลักฐานและการค้ำประกันเงินกู้อย่างชัดเจน การส่วนใหญ่จึงยังเป็นการปล่อยเงินกู้ในกลุ่มลูกค้าเดิมของธนาคาร เพราะสามารถนำข้อมูลลูกค้าที่มีอยู่แล้วมาวิเคราะห์ความเสี่ยงในการจ่ายหนี้ได้
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ความร่วมมือและบริการใหม่ๆ เหล่านี้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ กฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือการสนับสนุนจากภาครัฐ ตัวอย่างเช่น การเข้ากำกับดูแลผู้ให้บริการเหล่านี้ ในแง่ของความพร้อมทั้งเรื่องเทคโนโลยีหรือกระบวนการดูแลลูกค้า ก่อนที่จะมีการอนุญาตเปิดให้บริการจริงในวงกว้าง โดยล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มมีการพิจารณาประกาศหลักเกณฑ์ ผู้ประกอบธุรกิจ P2P Lending Platform แล้ว
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญในมุมของผู้ให้บริการคือ การทำให้ผู้ใช้เกิดความคุ้นเคยและรู้สึกสบายใจที่จะใช้งาน ผ่านการสร้างความโปร่งใส่ให้เกิดขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้ว กลุ่มที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดก็คือตัวผู้ใช้หรือผู้บริโภคนั่นเอง หากผู้คนจำนวนมากขึ้นสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึงหนี้นอกระบบก็จะลดลงและเป็นผลไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนของผู้คนได้ในระยะยาว
แหล่งที่มา
Totsapon Kritsadangphorn. (2562,9 ตุลาคม). ทำไม Digital Lending จึงเป็นเรื่องสำคัญ “มาก” ในยุคที่ตลาด E-Commerce เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด?. สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2562. จาก https://www.beartai.com/news/it-thai-news/365251
ผู้จัดการออนไลน์. (2562,16 เมษายน). Digital Lending ทางเลือกของโอกาส. สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2562. จาก https://mgronline.com/stockmarket/detail/9620000037056
Chutinun Sanguanprasit (Liu). (2562,19 กุมภาพันธ์). สงคราม Digital Lending แบงก์ปล่อยกู้ออนไลน์ ง่ายขึ้น-ดอกเบี้ยถูก-หนี้เสียต่ำจริงหรือ?. สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2562. จาก https://brandinside.asia/digital-lending-easy-or-not/
-
11210 Digital Lending กู้ยืมเงินออนไลน์ /article-technology/item/11210-digital-lendingเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง