เทคโนโลยีการติดตามผู้สัมผัส “contact tracing”
ในช่วงที่โลกของเรากำลังเจอสถานการณ์ที่ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตครั้งใหญ่ที่สุดเลยก็ว่าได้ เนื่องจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากมาย เกิดหลักปฏิบัติ Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม อยู่บ้านให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้อื่น หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้อื่น หลีกเลี่ยงสถานที่ชุมชน นอกจากนั้นได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันติดตามผู้สัมผัส (contact tracing) ขึ้นเพื่อรับมือและยับยั้งการแพร่ระบาด สาเหตุที่ต้องติดตามผู้สัมผัสกันขนาดนี้ก็เพราะอย่างที่ทุกคนทราบว่า เชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) สามารถติดต่อกันได้ง่าย ผู้ป่วย 1 ราย สามารถแพร่ให้กับคนใกล้ชิดได้อีก 2-3 ราย และในบางสภาพแวดล้อมก็อาจทำให้เกิดซูเปอร์สเปรดเดอร์ (super spreader) เช่น โบสถ์ สนามมวย โรงหนัง ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อหลักสิบถึงร้อยราย และยังมีความรุนแรงมากกว่าโรคติดเชื้อทางเดินหายใจทั่วไป ยิ่งถ้ามีผู้ป่วยจำนวนมากเข้าโรงพยาบาลพร้อมกันก็ยิ่งทำให้มีอัตราป่วยตายสูงขึ้น องค์การอนามัยโลกจึงประกาศให้ โรคจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (public health emergency of international concern: PHEIC) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 63 ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขของไทยก็ประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 63
ภาพตัวอย่างจุดบริการสแกน QR Code เพื่อติดตามบุคคล
หลักการทำงานของเทคโนโลยีการติดตามผู้สัมผัส (contact tracing) หลังจากที่เชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) แพร่ระบาดไปทั่วโลก ได้มีกลุ่มอาสาสมัคร บริษัทเอกชน รวมถึงรัฐบาลในหลายประเทศ จัดทำแอปพลิเคชันสำหรับติดตั้งบนโทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ตโฟนเพื่อใช้บันทึกข้อมูลการเดินทางและติดตามผู้สัมผัส โดยหลักการพื้นฐานของแอปพลิเคชันเหล่านี้จะเป็นการบันทึกข้อมูลว่าผู้ใช้ได้เดินทางหรือมีความใกล้ชิดกับบุคคลใดบ้าง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวผู้ใช้อาจต้องบันทึกด้วยตนเองหรือตัวแอปพลิเคชันจะเก็บรวบรวมให้โดยอัตโนมัติ หากมีการใช้งานไปเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วผู้ใช้สงสัยว่าติดเชื้อ ก็สามารถนำข้อมูลที่ระบบรวบรวมไว้ส่งให้แพทย์วิเคราะห์อาการต่อ หรืออาจพิจารณาประกาศแจ้งเตือนการติดเชื้อให้กับบุคคลที่เคยใกล้ชิดทราบได้ เทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในการติดตามผู้สัมผัสนั้นมีได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสแกน QR code การระบุพิกัดจาก GPS หรือการจับสัญญาณ Bluetooth จากอุปกรณ์ใกล้เคียง โดยเทคโนโลยีแต่ละรูปแบบนั้นมีจุดประสงค์ของการใช้งาน ความสามารถในการทำงาน และข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป เช่น
QR Code
รูปแบบการใช้งานหลัก ๆ ของ QR code จะมี 2 ฝั่ง คือฝั่งผู้ให้บริการและฝั่งผู้ใช้บริการ โดยฝั่งผู้ให้บริการนั้นจะต้องลงทะเบียนเพื่อรับรหัสเฉพาะมาในรูปแบบของ QR code และพิมพ์ QR code นั้นไว้ในจุดที่ผู้ใช้บริการสามารถสแกนเพื่อ check-in ว่าได้มาใช้บริการแล้ว หรือตรวจสอบข้อมูลว่าร้านค้าหรือผู้ให้บริการดังกล่าวนั้นผ่านการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยแล้วหรือไม่
GPS
การระบุพิกัดจาก GPS นั้นอาศัยการรับสัญญาณดาวเทียมเพื่อวิเคราะห์ตำแหน่งที่อยู่ โดยแอปพลิเคชันที่ใช้ข้อมูลจาก GPS นั้นส่วนใหญ่มักมีจุดประสงค์เพื่อแจ้งเตือนกรณีที่ผู้ใช้เข้าไปอยู่ในบริเวณที่มีเชื้อแพร่ระบาด หรือใช้เพื่อบันทึกประวัติการเดินทางย้อนหลังมากกว่าจะเป็นการวิเคราะห์ความใกล้ชิด เนื่องจากการใช้ข้อมูล GPS นั้นมีความคลาดเคลื่อนสูง
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาแอปพลิเคชันที่มีการเก็บรวบรวมและใช้งานข้อมูลที่มีความอ่อนไหวนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงปลอดภัยอย่างเข้มงวด เนื่องจากการใช้งานแอปพลิเคชันติดตามผู้สัมผัสนั้นผู้ใช้อาจจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านสุขภาพ ข้อมูลบุคคลใกล้ชิด หรือข้อมูลพิกัดที่อยู่ ดังนั้นประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจึงเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญ
แหล่งที่มา
เสฏฐวุฒิ แสนนาม. (2563, 13 พฤษภาคม). รูปแบบการทำงานของแอปพลิเคชันติดตามผู้สัมผัส (contact tracing) ในช่วงการระบาดของ COVID-19 และประเด็นที่ควรพิจารณา. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2563. จากhttps://www.thaicert.or.th/papers/general/2020/pa2020ge001.html
ชนาธิป ไชยเหล็ก. (2563, 7 พฤษภาคม). Contact Tracing: จุดสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัว กับความปลอดภัยของสาธารณะอยู่ตรงไหน?. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2563. จาก https://themomentum.co/contact-tracing/
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์. (2563, 21 พฤษภาคม). สหภาพยุโรปสนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชันติดตามตัว (contact tracing apps) บนโทรศัพท์มือถือที่สามารถใช้งานข้ามประเทศได้ เพื่อติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2563. จาก www.mfa.go.th/europetouch/th/news/8243/118187-สหภาพยุโรปสนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชันติดตามตัว-(co.html
-
11649 เทคโนโลยีการติดตามผู้สัมผัส “contact tracing” /article-technology/item/11649-contact-tracingเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง