แนะนำ Scratch 2.0
หลายท่านที่คลุกคลีกับวงการการเขียนโปรแกรมคงเคยได้ยินชื่อโปรแกรม Scratch ซึ่งเป็นโปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์เชิงกราฟิกที่ใช้งานง่าย และมีคำสั่งที่หลากหลายที่ใช้ในการสร้างงาน จึงช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์แะจินตนาการได้มากมาย Scratchนำเสนอการใช้งานในลักษณะของตัวละครและเวที โดยการทำงานของตัวละครแต่ละตัว และเวที สามารถทำงานขนานกันไปได้ ผู้เขียนโปรแกรมสามารถสั่งงานด้วยการสร้างสคริปต์หรือชุดคำสั่งที่ข้าใจง่ายซึ่งมาในรูปของบล็อกคำสั่ง ทำให้ไม่ต้องกังวลในการพิมพ์คำสั่งที่อาจทำให้เกิดความผิดพลาด ผู้เขียนโปรแกรมเพียงแค่ลากบล็อกคำสั่งมาวางต่อกันเป็นลำดับขั้นตอนก็สามารถสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามต้องการได้ นอกจากนี้ Scratch ยังได้จัดบล็อกคำสั่งไว้เป็นกลุ่มตามลักษณะการใช้งาน ทำให้เลือกใช้งานได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว
ภาพที่ 1: โปรแกรม Scratch
นำ Scratch ไปสร้างผลงานอะไรดี ด้วยการจัดการด้านกราฟิกที่ง่ายและมีความน่าสนใจ ทำให้ผู้เขียนโปรแกรมสามารถมุ่งประเด็นไปในเรื่องของการสร้างสรรค์ผลงาน พัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรม การคิดอย่างเป็นระบบ และการทำงานร่วมกัน การสร้างงานด้วย Scratch เช่น งานศิลปะ การนำเสนอเรื่องราว นิทาน ภาพเคลื่อนไหว เกม บทเรียนช่วยสอน
ภาพที่ 2: ผลงงานจากโปรแกรม Scratch
โปรแกรม Scratch พัฒนาโดยห้องปฏิบัติการสื่อ (MIT Media Lab) สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกาScratch ออกแบบมาให้ใช้กับเด็กอายุ 8-16 ปี แต่จริง ๆ แล้วก็เป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นเขียนโปรแกรม ปัจจุบัน Scratch ถูกพัฒนามาถึงรุ่น 2.0 ซึ่งได้ปรับปรุงมาจากรุ่น 1.4 และต้องสร้างโปรแกรมผ่านเว็บไซต์แบบออนไลน์เท่านั้น ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2557 ได้เผยแพร่รุ่น 2.0 offline (beta) ให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดไปใช้งานได้ฟรี ซึ่งสามารถทำงานแบบแอปพลิเคชันโดดบนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ จาก Scratch 1.4 เป็น Scratch 2.0 นั้น ได้ทำการพัฒนาในหลายส่วน มีการปรับเปลี่ยนกลุ่มบล็อกใหม่จากเดิม 8 กลุ่มบล็อก เป็น 10 กลุ่มบล็อก และมีการเปลี่ยนชื่อกลุ่มบล็อกหรือคำสั่งให้ข้ากับลักษณะการใช้งานมากขึ้น เช่น Variables เปลี่ยนชื่อเป็น Data ซึ่งเป็นกลุ่มบล็อกที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งที่จัดการตัวแปรและรายการ และมีการแยกบล็อกคำสั่งบางส่วนในกลุ่มบล็อก Control ที่ทำหน้าที่เป็นตัวตรวจจับเหตุการณ์ไปไว้ในกลุ่มบล็อก Events ซึ่งก็ทำให้การเลือกใช้งานง่ายยิ่งขึ้น
ภาพที่ 3: ชุดคำสั่งในโปรแกรม Scratch
การเขียนโปรแกรมนั้นส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ การแบ่งโปรแกรมเป็นส่วนย่อยเพื่อทำงานเฉพาะอย่าง ทำให้ผู้เขียนโปรแกรมสามารถเรียกและแก้ไขโปรแกรมได้ง่าย ผู้อื่นก็สามารถทำความเข้าใจกับโปรแกรมได้ง่ายกว่าการเขียนทุกอย่างเรียงต่อกันในส่วนเดียว ผู้พัฒนา Scratch ได้เล็งเห็นความสำคัญและ ความจำเป็นในการใช้งานโปรแกรมย่อยนี้ โดยเพิ่มกลุ่มบล็อกที่เกี่ยวกับการสร้างโปรแกรมย่อยใน Scratch 2.0 ไว้ในกลุ่มMore Blocks ชื่อ Make a Block ซึ่งเป็นคำสั่งสำหรับการสร้างโปรแกรมย่อย ผู้เขียนโปรแกรมสามารถกำหนดชื่อโปรแกรมย่อยและชนิดข้อมูลรับเข้าได้
ภาพที่ 4: การเพิ่มกลุ่มบล็อก
คำสั่งที่ใช้กับบอร์ดเสริมเหล่านี้บางส่วนมีอยู่ใน Scratch 1.4 อยู่แล้วไม่ว่าจะรับข้อมูลเข้าผ่านทางเซ็นเชอร์หรือตัวตรวจจับที่อยู่ในกลุ่มบล็อก Sensor หรือส่งออกข้อมูลออกทางมอเตอร์ที่อยู่ในกลุ่มบล็อก Motion ซึ่งในอนาคตอันใกล้ Scratch 2.0 จะปรับปรุงให้ใช้งานในส่วนนี้ได้
บล็อกคำสั่งอีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือ บล็อกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการวิดีโอ โดยบล็อกคำสั่งเหล่านี้จะอยู่ในกลุ่มบล็อกSensing เราสามารถเขียนโปรแกรมเพื่อใช้งาน Scratch กับกล้องเว็บแคม ในการตรวจจับการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็นตัวละคร หรือเวทีได้
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำสั่งที่ใช้ใน Scratch ยังมีคำสั่งอื่น ๆ ให้ใช้งานอีกมากมาย ผู้ใช้สามารถเข้าไปเรียนรู้หรือดาวน์โหลดโปรแกรมได้ในเว็บไซต์ http://scratch.mit.edu/ นอกจากเว็บไชต์นี้จะให้ข้อมูลความรู้แล้ว ยังเป็นแหล่งชุมชนออนไลน์ ให้เรียนรู้วิธีทำงานร่วมกัน โดยผู้ใช้สามารถผยแพร่ แลกเปลี่ยนผลงานหรือดูตัวอย่างจากผู้ใช้ท่านอื่นที่อัปโหลดไว้ได้ การเรียนรู้จากสคริปต์ผู้อื่นก็สามารถทำให้เราเข้าใจมากขึ้น และเห็นแนวทางในการสร้างงานที่หลากหลาย เพื่อนำไปใช้พัฒนาหรือปรับปรุงผลงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ร่วมถึงเผยแพร่ผลงานของเราให้ผู้อื่นได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไปได้ในอนาคต
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
Scratch. สืบคั้นเมื่อ 17 มีนาคม 2557, จาก http://scratch.mitedu/.
-
12801 แนะนำ Scratch 2.0 /article-technology/item/12801-scratch-2-0เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง