การออกแบบเพื่อมวลชน Universal Design
การออกแบบเพื่อมวลชน (Universal Design) เป็นแนวคิดการออกแบบสภาพแวดล้อม และสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ทั่วไปในสังคม โดยมีหลักการออกแบบเพื่อการใช้งานที่สะดวกสบาย ปลอดภัยครอบคลุมสำหรับทุกคน และไม่ต้องมีการดัดแปลงพิเศษหรือเฉพาะเจาะจงเพื่อบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (ทิพวัลย์ ทองอาจ,2553) เพื่อให้ทุกคนในสังคมสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ คุ้มค่าและเท่าเทียม จึงเป็นแนวคิดที่คำนึงถึงการใช้งานที่ครอบคลุมกลุ่มบุคคลทั้งคนสูงอายุ คนป่วย สตรีตั้งครรภ์ คนแคระ เด็กเล็กที่มากับรถเข็น คนพิการประเภทต่าง ๆ เช่น ทางการเห็น ทางการได้ยิน ทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ทางสติปัญญา รวมทั้งคนที่อ่านหนังสือไม่ออก เพื่อให้บุคคลเหล่านี้สามารถอยู่ในสังคมร่วมกับบุคคลทั่วไปได้อย่างปกติสุข (APO Team, 2554)
Mr.Ronald L. Mace ศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่มา: https://projects.ncsu.edu/ncsu/design/cud/about_us/usronmace.htm
แนวคิดการออกแบบเพื่อมวลชนเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีคนพิการ และสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น แม้ว่าต่อมาจะมีการออกกฎหมายคนพิการ (The American Disabilties Act) ในปี ค.ศ. 1990 เพื่อรับรองสิทธิของคนพิการให้ทัดเทียมกับคนทั่วไป แต่กฎหมายนี้ยังใช้ไม่ได้กับสินค้าหรือบริการทุกอย่าง โดยผู้ริเริ่มแนวคิดการออกแบบเพื่อมวลชนคือ Mr.Ronald L. Mace ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคนพิการ ได้เริ่มต้นทดลองออกแบบดัดแปลงของใช้ส่วนตัวให้สามารถใช้กับคนพิการได้ หลังจากนั้นจึงได้นำหลักการนี้มาใช้สำหรับการพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับคนพิการ และต่อยอดจนเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อมวลชน ต่อมาในปี ค.ศ. 1995 องค์การสหประชาชาติได้เผยแพร่และส่งเสริมแนวคิดในเรื่องหลักการออกแบบเพื่อมวลชน เพื่อให้คนพิการได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตในอาคารและสิ่งแวดล้อม ตามโครงการ Promotion of Non-Handicapping Physical Environment for Disabled Persons เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในสังคมสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องมีการดัดแปลงพิเศษหรือเฉพาะเจาะจงเพื่อบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเน้นความทัดเทียมของบุคคลทุกคน ที่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์และบริการที่ออกแบบอย่างเดียวกันได้ อันจะเป็นส่วนช่วยลดความแตกต่างของบุคคลในด้านต่าง ๆ
การออกแบบเพื่อมวลชน มีหลักการพื้นฐาน 7 ประการ สำหรับใช้เป็นแนวคิดในการออกแบบ ได้แก่
1. มีความเท่าเทียมกันในการใช้ประโยชน์ (Equitable use) เป็นการออกแบบที่สร้างความเท่าเทียมกันในการใช้ของผู้ใช้ เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกนี้ได้อย่างเสมอภาค เช่น การออกแบบเคาน์เตอร์ให้บริการของหน่วยงานต่าง ๆ หรือธนาคารที่มีความสูงต่างระดับ เพื่อให้ผู้ใช้รถเข็นหรือเด็กสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก
ภาพ 1 สิ่งอำนวยความสะดวกที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างเสมอภาค
1. เคาน์เตอร์ธนาคาร
https://easycookingth.me/กรุงไทย-ให้สิทธิ์ทุกคน-2/
2. อ่างล้างมือในห้องน้ำสาธารณะ
ที่มา http://www.urbanwhy.com/restroom/user-oriented-toilet-design/
3. ทางเข้าลิฟต์ที่มีทั้งบันไดและทางลาด
2. มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน (Flexibility in use) เป็นการออกแบบที่ทำให้แต่ละคนที่มีความหลากหลายได้ใช้ได้เหมือนกัน อุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกควรออกแบบให้มีความยืดหยุ่นต่อการใช้งาน ทั้งผู้ที่ถนัดมือซ้ายและมือขวา หรือสามารถปรับรูปแบบตามความสูงได้
ภาพ 2 สิ่งของที่ออกแบบให้เกิดความยืดหยุ่นในการใช้งาน
1. โต๊ะที่ปรับระดับความสูงได้
2. จักรยานที่ปรับความสูงของเบาะนั่งและที่จับได้ตามผู้ใช้
3. เรียบง่ายและใช้งานง่าย (Simple and Intuitive to use) เป็นการออกแบบที่ทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นง่ายต่อการเข้าใจ โดยไม่คำนึงถึงประสบการณ์ และระดับความรู้ความสามารถของผู้ใช้ว่ามีความรู้ระดับใด ทำให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้ง่าย ภาพ 3 ป้ายบนสิ่งของและบริการที่ออกแบบให้ง่ายต่อการเข้าใจ
1. การใช้รูปภาพเพื่อการคัดแยกขยะ
2. การใช้รูปภาพเพื่อสื่อความหมายของที่นั่งสำหรับกลุ่มคนพิเศษ
4. ข้อมูลชัดเจน (Perceptible information) เป็นการออกแบบที่ทำให้แต่ละคนเข้าถึงข้อมูลได้เหมือนกัน สามารถสื่อสารข้อมูลที่จำเป็นกับผู้ใช้งาน และปราศจากข้อจำกัดของผู้มีความบกพร่องทางประสาทสัมผัส โดยการใช้สัญลักษณ์ ใช้พื้นผิวต่างสัมผัส หรือใช้สีสันที่ตัดกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ และการแนะนำการใช้งานด้วยสื่อหลากหลาย
ภาพ 4 การอำนวยความสะดวกในการใช้บริการท้องน้ำให้กับผู้ใช้ทั่วไปและผู้พิการทางสายตา
1. ผิวต่างสัมผัสนำทางไปยังห้องน้ำที่มีอักษรเบรลล์
ที่มา http://www.urbanwhy.com/restroom/user-oriented-toilet-design/
2. ป้ายอักษรเบรลล์และเสียงพูดอธิบายลักษณะห้องน้ำ
ที่มา http://www.urbanwhy.com/restroom/user-oriented-toilet-design/
3. ปุ่มกดในห้องน้ำมีรูปภาพ และอักษรเบรลล์กำกับ
ที่มา http://www.urbanwhy.com/restroom/user-oriented-toilet-design/
5. ป้องกันความผิดพลาดได้ (Tolerance for error) เป็นการออกแบบที่คำนึงความปลอดภัยของผู้ใช้ โดยลดอันตรายหรืออุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ตั้งใจ เช่น การออกแบบที่เตรียมอุปกรณ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยไว้มีระบบป้องกันอันตรายหากมีการใช้ผิดพลาด
ภาพ 5 การออกแบบที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้
1. การออกแบบทางลาดให้มีราวจับ จุดพัก และเบรลล์บล็อก เพื่อความปลอดภัย
2. รถเข็น (Wheelchair) ที่สามารถล็อกล้อได้
6. ช่วยผ่อนแรงได้ (Low Physical effort) เป็นการออกแบบที่เน้นให้ผู้ใช้ลดการใช้แรง สะดวกต่อการใช้งาน ไม่ต้องออกแรงมาก เปิด-ปิดได้ง่ายแม้จะมีข้อจำกัดของร่างกาย
ภาพ 6 การออกแบบสิ่งของเครื่องใช้โดยคำนึงถึงการผ่อนแรง
1. ก๊อกน้ำที่เปิด-ปิด ด้วยการยกขึ้นและกดลง
2. มือจับประตูที่ออกแบบให้เปิดด้วยการผลักลง
7. ขนาดและพื้นที่เหมาะสมในการเข้าถึงและใช้งาน (Size and Space for approach and use) เป็นการออกแบบให้มีขนาดที่เหมาะสม และมีพื้นที่สำหรับการเข้าถึงและการใช้งานที่เพียงพอ โดยปราศจากข้อจำกัดทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหว เช่น ขนาดของห้องน้ำสำหรับผู้พิการที่ออกแบบให้เหมาะสมต่อการใช้รถเข็น (Wheelchair) มีขนาดพื้นที่เพียงพอสำหรับการหมุน หรือกลับรถเข็นได้ภายในห้องน้ำ
ภาพ 7 การออกแบบโดยคำนึงถึงขนาดและพื้นที่ให้เหมาะกับผู้ใช้งาน
1. ห้องน้ำสำหรับผู้ใช้รถเข็น
2. พื้นที่บนรถไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้รถเข็น
ในอดีต การออกแบบเพื่อมวลชนหรือ Universal Design เป็นคำที่รู้จักเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่ทำงานด้านการออกแบบสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงในกลุ่มคนทำงานด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสที่มีข้อจำกัดในการใช้หรือเข้าถึงสิ่งแวดล้อมและสถานที่ แต่ปัจจุบันการออกแบบเพื่อมวลชนเริ่มเป็นที่รู้จักและมีบทบาทมากขึ้น ดังที่เห็นได้จากรูปแบบของบรรจุภัณฑ์และสิ่งของเครื่องใช้ทั่วไปในสังคม โดยเฉพาะสินค้าที่มาจากประเทศญี่ปุ่น หลักการออกแบบเพื่อมวลชน นอกจากจะช่วยให้เกิดความสะดวกสบายและความปลอดภัยแล้ว ยังใช้เป็นหลักการพื้นฐานเพื่อสร้างนวัตกรรมสร้างสรรค์ได้อีกด้วย
ในกระบวนการจัดการเรียนรู้ จะให้ความสำคัญกับผู้เรียนเป็นอย่างมาก เพราะจะเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศในอนาคต ดังนั้น จึงต้องส่งเสริมผู้เรียนให้สามารถปรับตัวอยู่ในสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พลิกผันไม่แน่นอนซับซ้อนและคลุมเครือได้ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและอนาคต มีความคิดสร้างสรรค์และแก้ปัญหาได้ ซึ่งเป็นทักษะและสมรรถนะที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้เรียน ในการเรียนรู้วิชาเทคโนโลยี (การออกแบบและเทคโนโลยี) ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี เพื่อดำรงชีวิตในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ใช้ความรู้และทักษะเพื่อแก้ปัญหา หรือพัฒนางานอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ด้วยกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม บูรณาการกับศาสตร์อื่น ๆ เลือกใช้เทคโนโลยีโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมในเรื่องดังกล่าว ครูผู้สอนสามารถแนะนำนักเรียนให้นำหลักการออกแบบเพื่อมวลชน มาใช้ร่วมกับกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมในสาระเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการเรียนรู้แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งอาจเป็นการกำหนดสถานการณ์ ปัญหา หรือความต้องการเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุในครอบครัว แล้วให้ออกแบบสิ่งของเครื่องใช้ หรือปรับสภาพแวดล้อม เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุ โดยยังสามารถใช้สิ่งของต่าง ๆ ร่วมกับสมาชิกในครอบครัวได้
ภาพ 8 การออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุ โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ของสิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับสมาชิกในครอบครัว
ที่มา htps://hworlddesignguide.oom/entry/214041-handrail-crutoh
หลักการออกแบบเพื่อมวลชน จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโลกยุคปัจจุบันและอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยใช้เป็นแนวคิดในการออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้สอยซองทุกคน กล่าวคือ บุคคลต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างในด้านต่าง ๆ ก็ยังสามารถใช้สิ่งเหล่านี้ร่วมกันได้ ซึ่งหลักการดังกล่าว นอกจากจะนำมาใช้เป็นพื้นฐานการออกแบบสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับสังคมไทยได้แล้ว ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างนวัตกรรมสร้างสรรค์ได้อีกด้วย
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 49 ฉบับที่ 228 มกราคม - กุมภาพันธ์ 2564
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
APO Team. (2554). การออกแบบเพื่อมวลชน Universal Design. APO digest. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2563, จาก https:/vww.fipi.or.th/downloadวารสาร_apo_digest/APODigest_vol19.pdf.
กรมกิจกรรมผู้สูงอายุ. (2563). สถิติผู้สูงอายุของประเทศไทย 77 จังหวัด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2563, จาก https://www.dop.go.th/th/know/side/1/1/335
กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ. (2563). รายงานข้อมูลด้านสถานการณ์คนพิการในประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2563, จาก https://dep.go.th/images/uploads/files/situation31dec63.pdf
ทิพวัลย์ ทองอาจ. (2553). การออกแบบเพื่อมวลชน Universal Design. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2563, จาก https://www.bu.ac.th/knowledgecenter/executive_journal/july_sep_10/pdf/aw12.pdf
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ. (2562). หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (การออกแบบและเทคโนโลยี) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา. (2555). เอกสารประกอบการอบรมหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา สำหรับคนพิการในระดับอุดมศึกษา เรื่อง การออกแบบการเรียนรู้ที่เป็นสากล Universal Design for Leaning สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2563,จาก http://www.mua.go.th/users/des/information/Training%20for%20students%20with%20disabilities/Universal%20Design.pdf
-
12879 การออกแบบเพื่อมวลชน Universal Design /article-technology/item/12879-universal-designเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง