SCAMPER : เทคนิคกระตุ้นทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
ในปัจจุบันสิ่งของเครื่องใช้หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มีการออกแบบสวยงาม น่าใช้ และมีรูปร่างรูปทรงหลายแบบ รวมทั้งมีประโยชน์ใช้สอยที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่น แก้วน้ำ หม้อหุงข้าว Smart Watch หุ่นยนต์ดูดฝุ่น การออกแบบและสร้างสิ่งของเครื่องใช้หรือผลิตภัณฑ์ จึงไม่ใช่การคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอยเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างทางเลือกในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย สร้างความน่าสนใจให้กับผู้ซื้อหรือเพิ่มมูลค่าของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะแนวทางการพัฒนาประเทศในปัจจุบันที่มุ่งเน้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
แล้วเราจะเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร?
ความคิดสร้างสรรค์ในแต่ละบุคคลสามารถเกิดขึ้นได้จากการฝึกคิด ฝึกปฏิบัติ เทคนิคหรือวิธีการฝึกคิดและปฏิบัติ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มีหลายวิธี เช่น การระดมสมอง การปรับสภาพแวดล้อมในการคิด การใช้คำถามกระตุ้นความคิด บทความนี้จะนำเสนอเทคนิคหรือวิธีการที่เรียกว่า SCAMPER
SCAMPER เป็นเทคนิคการตั้งคำถาม ที่ Bob Eberle พัฒนาต่อมาจากเทคนิครายการตรวจสอบของ ออสบอร์น (Osborn's Checklist) ซึ่งคิดขึ้นโดย Alex Faickney Osbon ชาวอเมริกัน เป็นเทคนิคที่ใช้กระตุ้นให้เกิดแนวคิดใหม่ การคิดในมุมมองต่าง ๆ ทำให้สินค้าหรือบริการมีความแตกต่าง แปลกใหม่ SCAMPER เป็นตัวย่อภาษาอังกฤษมาจาก 7 คำ ดังนี้
SCAMPER
เทคนิค SCAMPER ใช้การตั้งคำถามจากสิ่งที่มีอยู่ว่าจะทำให้ดีขึ้น แตกต่าง หรือใช้ประโยชน์ในแนวคิดใหม่ หรือมุมมองอื่นได้อย่างไร ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ทดแทนได้หรือไม่ (Substitute?) มีสิ่งใดที่สามารถนำมาทดแทน แทนส่วนประกอบหรือรูปแบบเดิมที่เป็นอยู่ได้ เช่น ใช้วัสดุใหม่ กรรมวิธีการผลิตใหม่ กลไกแบบใหม่ ใช้พลังงานรูปแบบอื่น ตัวอย่างของแนวคิด เช่น ใช้กระดาษทำเตียงในโรงพยาบาลสนาม ซึ่งมีข้อดีคือ ประกอบง่าย น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายได้ง่าย คิดค้นหม้อทอดเพื่อเปลี่ยนวิธีการทอดที่ต้องใช้น้ำมันเป็นไม่ใช้น้ำมัน
ภาพ 1 เตียงกระดาษ
ที่มา https://www.brandbuffet.in.th/2021/04/scgp-paper-field-hospi tal-bed/
ภาพ 2 หม้อทอดไร้น้ำมันทดแทนกระทะที่ใช้น้ำมัน
ผสมผสาน รวมกันได้หรือไม่ (Combine?) ลองผสมผสานแนวคิดประโยชน์การใช้งานรวมเข้าด้วยกัน แล้วทำให้ได้สิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิมหรือไม่ ตัวอย่างของแนวคิด เช่น รวมชั้นวางหนังสือเข้ากับเก้าอี้ กลายเป็นเก้าอี้ที่สามารถใช้นั่งและเก็บหนังสือได้ หม้อหุงข้าวดิจิทัลที่รวมความสามารถในการต้มการนึ่งไว้ด้วยกัน
ภาพ 3 เก้าอี้ + ชั้นวางหนังสือ ที่มา https://www.designboorn.com/
ภาพ 4 หม้อหุงข้าวดิจิทัล
ปรับใช้หรือปรับเปลี่ยนในรูปแบบอื่นได้หรือไม่ (Adapt?) ลองปรับเปลี่ยนสิ่งที่มีอยู่ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นได้หรือไม่ นำไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายใหม่ได้หรือไม่ ตัวอย่างแนวคิด เช่น การปรับเปลี่ยนห้องพักของโรงแรมในช่วงเกิดโรคโควิด 19 มาใช้เป็นที่กักตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ นอกจากนี้เราสามารถปรับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์หรือการใช้งาน โดยใช้แนวคิดจากสินค้าหรือกระบวนการในประเภทเดียวกันมาปรับเปลี่ยน ตัวอย่างของแนวคิด เช่น นำแนวคิดบรรจุภัณฑ์ประเภทยาสีฟันมาใช้กับน้ำจิ้มหรือนมข้นหวาน เพื่อให้เกิดความสะดวกในการใช้งาน การเพิ่มรสชาติของอาหารที่กำลังเป็นที่นิยมคือหมาล่า มาใช้กับขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
ภาพ 5 บรรจุภัณฑ์แบบใหม่ของน้ำจิ้มและนมข้นหวาน
ภาพ 6 ปลาเส้นรสหมาล่า
ดัดแปลง เพิ่มหรือลดจากเดิมได้หรือไม่ (Modify or Magnify or Minify?)
- การดัดแปลง แก้ไขบางส่วนเล็กน้อย หรือปรับเปลี่ยนบางอย่าง (Modfy) จะทำให้ของสิ่งนั้นดีขึ้นหรือไม่ เช่น เปลี่ยนสี รูปร่าง รูปทรง เสียง กลิ่น การเคลื่อนไหว ตัวอย่างของแนวคิด เช่น เปลี่ยนรูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์แป้งฝุ่นให้ดูทันสมัย สวยงาม ทำให้น่าซื้อมากขึ้น ดัดแปลงรูปร่างของกรรไกรให้โค้งงอ ทำให้สามารถใช้ตัดขวดน้ำได้สะดวกยิ่งขึ้น
ภาพ 7 การเปลี่ยนรูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์
ภาพ 8 กรรไกรตัดขวดน้ำ
- การเพิ่มหรือขยายลักษณะของสิ่งนั้น (Magnify) จะเป็นอย่างไร เช่น เพิ่มความสูง ความยาว ความหนา เพิ่มส่วนประกอบ เพิ่มความแข็งแรง ตัวอย่างของแนวคิด เช่น หากเพิ่มขนาดของลวดเสียบกระดาษให้ใหญ่ขึ้น สามารถนำไปใช้แขวนกระเป๋าหรือเสื้อผ้าได้ หากเพิ่มขนาดของฟัน สามารถนำรูปทรงนี้มาทำเป็นที่วางแปรงสีฟันหรือปากกาได้
ภาพ 9 ที่แขวนสิ่งของรูปร่างลวดเสียบกระดาษ
ที่มา http://www.architectureartdesigns.com
ภาพ 10 ที่วางแปรงสีฟันรูปทรงฟัน
- การย่อหรือลดลักษณะของสิ่งนั้น (Minify) จะเป็นอย่างไร เช่น ทำให้สั้นลง เบาลง หรือลดขนาด ตัวอย่างของแนวคิด เช่น การคิดค้นจอ LCD แบบพิเศษที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักน้อยลง การนำแนวคิดไม้แขวนเสื้อมาทำเป็นซองชา การลดขนาดรูปร่างและรูปทรงของปลาให้เล็กลง เพื่อนำมาทำเป็นที่เก็บสายหูฟัง
ภาพ 11 ซองชารูปไม้แขวนเสื้อ
ที่มา https:/www.packagingoftheworld.com/
ภาพ 12 ที่เก็บสายหูฟังรูปร่างก้างปลา
นำไปประยุกต์ใช้ในวัตถุประสงค์อื่นได้หรือไม่ (Put to other uses?) มีวิธีการใดบ้างที่จะใช้สอยหรือใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นให้แตกต่างออกไปจากเดิม จะนำสิ่งที่ไม่ใช้แล้วไปใช้ประโยชน์อื่นใดได้บ้าง ตัวอย่างของแนวคิด เช่น นำคลิปหนีบกระดาษมาทำเป็นที่แขวนสายต่อต่าง ๆ นำช้อนส้อมมาทำเป็นที่แขวนพวงกุญแจ หรือนำมูลสัตว์มาทำแก๊สชีวภาพ
ภาพ 13 ใช้คลิปหนีบกระดาษเป็นที่แขวนสายต่อต่าง ๆ
ที่มา https://twistedsifter.com/2012/06/creative-ways-to-repurpose-reuse-and-upcycle-old-things/
ภาพ 14 นำช้อนส้อมมาทำเป็นที่แขวนกุญแจ
ตัดบางส่วนออกได้หรือไม่ (Eliminate?) ลองตัดบางส่วนของสิ่งที่มีอยู่ ตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป ตัดส่วนที่ซับซ้อน ทำให้เรียบง่าย จะทำให้ดีขึ้นหรือไม่ ตัวอย่างของแนวคิด เช่น การตัดพนักงานเสิร์ฟอาหารที่โต๊ะ โดยการให้ลูกค้ามารับอาหารและน้ำไปทานที่โต๊ะด้วยตนเอง การนำชุดอ่านแผ่นซีดี/ดีวีดีออกจากคอมพิวเตอร์พกพา เพื่อให้เครื่องบางลงและน้ำหนักเบา แว่นตาไร้กรอบ ซึ่งตัดส่วนของกรอบแว่นตาแบบเดิมออกไป
ภาพ 15 คอมพิวเตอร์พกพาที่ตัดชุดอ่านแผ่นซีดี/ดีวีดีออก
ภาพ 16 แว่นตาไร้กรอบ
จัดเรียงใหม่หรือกลับมุมมองใหม่ได้หรือไม่ ( Rearrange or Reverse?) จัดองค์ประกอบให้แตกต่างไปจากเดิม จัดเรียงใหม่ สลับที่ชิ้นส่วนใหม่ (Rearrange) จะทำให้ดีขึ้นหรือไม่ ตัวอย่างของแนวคิด เช่น เครื่องปิ้งขนมปัง จากที่ขนมปังจะต้องเด้งออกทางเดิม ก็ออกแบบใหม่ให้ขนมปังที่ผ่านการปิ้งตกลงสู่แท่นรองด้านล่าง
ภาพ 17 เครื่องปิ้งขนมปัง
ที่มา http://1.bp.blogspot.com/-G2qH10RN1x8/UJ -84nQx4hl/AAAAAAABRIc/vNal0963FtM/s1600/2.jpg
- ลองกลับแนวคิดหรือกระบวนการ สิ่งที่ยังทำงานอยู่ให้กลายเป็นตรงกันข้าม (Reverse) จะได้ผลดีขึ้นหรือไม่ เช่น กลับจากบนลงล่าง กลับจากด้านหน้าเป็นด้านหลัง กลับจากด้านในให้อยู่ด้านนอก ตัวอย่างของแนวคิด เช่น นาฬิกาทรายที่ปกติจะใช้การตกของทรายจากบนลงล่าง แต่เปลี่ยนมาใช้ของเหลวที่มีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ จึงกลับทิศทางกลายเป็นของเหลวที่มีสีจะเคลื่อนที่จากด้านล่างขึ้นด้านบน
วีดิทัศน์ ดูการทำงานของนาฬิกาทรายแบบใช้ของเหลว
จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่าเทคนิคการตั้งคำถาม SCAMPER สามารถใช้กระตุ้นแนวคิดได้ทั้งในด้านการออกแบบ ประโยชน์ใช้สอย และความสวยงามของชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งตัวอย่างที่นำเสนอเป็นตัวอย่างผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย เห็นเป็นรูปธรรม เราสามารถนำเทคนิคนี้ไปใช้ในการพัฒนาสินค้าหรือบริการ กระบวนการ หรือวิธีการแก้ปัญหาแบบเดิมให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากการกำหนดปัญหาหรือความต้องการ หรือตั้งโจทย์คำถามสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการแก้ปัญหา
ผู้เขียนหวังว่าเทคนิคนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ๆ โดยเฉพาะกิจกรรมการเรียนรู้ที่ต้องสร้างชิ้นงาน หาวิธีในการแก้ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการ หรือการทำโครงงาน ซึ่งผู้อ่านที่เป็นครูคงอยากเห็นแนวคิดใหม่ ๆ ของนักเรียน โดยเฉพาะกิจกรรมการเรียนรู้วิชาการออกแบบและเทคโนโลยี ซึ่งให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ ไม่ลอกเลียนผลงานของใคร โดยครูอาจให้นักเรียนทำกิจกรรมอย่างง่ายก่อน เริ่มจากการตั้งโจทย์จากสิ่งของรอบตัวว่าจะทำให้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ดีขึ้นหรือพัฒนาขึ้นได้อย่างไร เช่น แก้วน้ำ ปากกา โทรศัพท์มือถือ หากนักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้เทคนิคการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และฝึกปฏิบัติ น่าจะได้โครงงานหรือแนวทางการแก้ปัญหาที่น่าสนใจ ครูหรือผู้อ่านลองนำเทคนิคนี้ไปใช้กันดูนะครับ
เรียนรู้การสร้างไอเดียใหม่ ด้วยเทคนิค SCAMPER
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 49 ฉบับที่ 229 มีนาคม - เมษายน 2564
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/229/42/
บรรณานุกรม
Learn How to Use the Best Ideation Methods: SCAMPER. สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2564, จาก https:/www.interaction-design.org /iterature/article/learn-how-to-use-the-best-ideation-methods-scamper.
ศศิมา สุขสว่าง. SCAMPER เครื่องมือเทคนิคความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรม. สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2564, จาก https:/www.sasimasuk.com/16667925/scamper-เทคนิคความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรม.
Scamper. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2564, จาก https://www.set.or.th/set/enterprise/html.do?name-scamper.
What is scamper and how it can enhance your thinking abilities. สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2564, จาก https://instagantt.com /project-management-what-is-scamper-definition-and-examples.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2562). หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เทคโนโลยี (การออกแบบและเทคโนโลยี) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
-
12885 SCAMPER : เทคนิคกระตุ้นทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ /article-technology/item/12885-scamperเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง