เทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจาย (Distributed Computing)
ดังที่เราทราบกันดีแล้วว่า สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่นอกเหนือจากการถูกกำหนดให้มีหน้าที่ รับข้อมูลเข้า และการนำผลลัพธ์ออกมาแสดงแล้ว การดำเนินการในการประมวลผลนับเป็นส่วนสำคัญที่จะนำข้อมูลเข้ามาแปลงให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ โดยพื้นฐานมีวิธีการต่างๆ ในการประมวลผลซึ่งได้แก่ การคำนวณทางคณิตศาสตร์ และตรรกศาสตร์ การคัดเลือก การจัดหมู่-จัดกลุ่ม การสรุปรวม การเรียงลำดับ และการค้นหาแล้ว
การประมวลผลโดยใช้คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ทำหน้าที่ทั้งเพื่อการประมวลผลหลัก การเก็บและเรียกใช้ข้อมูล และฐานข้อมูล การควบคุมอุปกรณ์อินพุทและเอาท์พุท ถูกดำเนินการด้วยโฮสคอมพิวเตอร์ในระดับเมนเฟรม หรือมินิคอมพิวเตอร์หลักเพียงเครื่องเดียว ลักษณะระบบประมวลผลเช่นนี้ เรียกว่าการประมวลผลแบบรวมศูนย์ ต้องอาศัยความสามารถของโฮสคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง แต่หากโฮสนั้นรับภาระการทำงานมากขึ้น เช่น มีจำนวนผู้ใช้งานที่เทอร์มินอลมากขึ้น หรือมีโปรแกรมทำงานพร้อมกันอยู่หลายโปรแกรม ประสิทธิภาพในการตอบสนองงานที่ทำงานอยู่พร้อมกันแต่ละงานจะลดต่ำลง เนื่องจากเป็นการแบ่งใช้ซีพียูตัวเดียวกัน
ในการประมวลผลมักจะใช้วิธีการต่างๆ หลายวิธีประกอบกันเพื่อให้ได้รับผลลัพธ์ที่ต้องการ เช่น เมื่อต้องการแสดงรายการหนังสือที่ขายดีที่สุด 10 อันดับแรกของร้านประจำเดือน การประมวลผลจะเกิดทั้ง การจัดกลุ่มของรายการขายตามชื่อหนังสือที่ขายไปในเดือนนั้น ทำการรวมยอดขายประจำเดือนสำหรับหนังสือแต่ละเล่ม การเรียงลำดับรายชื่อหนังสือตามปริมาณยอดขาย การคัดเลือกเฉพาะรายการหนังสือที่ขายดี 10 ลำดับแรก โดยใช้การนับจำนวนรายชื่อหนังสือ เป็นต้น
ดังนั้นในการประมวลผลที่ใช้ความสามารถของโฮสหลักเพียงตัวเดียว ทำงานในทุกหน้าที่เป็นลักษณะการประมวลผลในระบบที่เรียกว่าระบบประมวลผลแบบรวมศูนย์ (Centralized processing) ซึ่งจะต้องลงทุนกับโฮสคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงด้วยเงินลงทุนสูงตั้งแต่เริ่มต้น ในยุคก่อนหน้าที่เครือข่ายคอมพิวเตอร์จะถูกพัฒนาให้มีความก้าวหน้าสูง ระบบประมวลผลในงานต่างๆ มักจะเป็นระบบประมวลผลแบบรวมศูนย์ จนกระทั่งคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กมีประสิทธิภาพสูง และการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายได้เกิดขึ้นด้วยค่าใช้จ่ายที่ลดต่ำลง
แต่การเกิดไมโครคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์สถานีงานวิศวกรรม และระบบเครือข่าย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการของระบบประมวลผลที่ใช้คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ กลายมาเป็นการแบ่งงานให้คอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กลงหลายๆ ตัว แยกกระจายกันทำหน้าที่ต่างๆ ตามความเหมาะสมเป็นที่มาของการลดขนาด (Down-sizing) ซึ่งสามารถลงทุนต่ำกว่าในระยะเริ่มต้น และสามารถขยายระบบออกไปได้ โดยประสิทธิภาพโดยรวมเพิ่มขึ้น ระบบประมวลผลก็ได้ถูกเปลี่ยนจากระบบการประมวลผลรวมศูนย์ไปเป็นระบบการประมวลผลแบบกระจาย (Distributed processing) ที่แบ่งหน้าที่ให้แก่คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่ต่ออยู่ในเครือข่าย
การที่มีรูปแบบการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ อยู่หลายรูปแบบ ได้แก่ การประมวลผลส่วนบุคคล (Personal Computing) การประมวลผลแบบรวมศูนย์ (Centralized Computing) และการประมวลผลแบบกระจาย (Distributed Computing) การเลือกใช้งานรูปแบบการประมวลผลที่เหมาะสมจะส่งผลดีกับการทำงานภายในองค์กรเป็นอย่างมาก ทั้งความสะดวกรวดเร็วและความประหยัดทรัพยากร โดยรูปแบบการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ ซึ่งในแต่ละรูปแบบการประมวลผลในแต่ละรูปแบบ ก็จะมีข้อดี ข้อเสีย แตกต่างกันไป
ระบบประมวลผลแบบกระจาย อาจประกอบด้วยคอมพิวเตอร์ประเภทต่างๆ ซึ่งต่างก็ทำงานในหน้าที่ที่เหมาะสม เช่น การใช้เครื่องพีซีเป็นเครื่องที่ทำการติดต่อกับผู้ใช้ และทำงานโปรแกรมประมวลผลในเบื้องต้น เมื่อต้องการใช้ข้อมูลก็อาจส่งคำสั่งไปให้คอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่ให้บริการข้อมูลซึ่งอาจเป็นข้อมูลที่บันทึกในไฟล์ข้อมูล (เครื่องให้บริการนั้นเรียกว่าไฟล์เซิร์ฟเวอร์) หรือในฐานข้อมูล (เครื่องที่ให้บริการฐานข้อมูลเรียกว่าดาต้าเบสเซิร์ฟเวอร์) หรือบางกระบวนการของการประมวลผลอาจจะต้องการวิธีการประมวลผลที่ซับซ้อน คอมพิวเตอร์พีซีก็อาจจะทำหน้าที่เป็นเพียงเทอร์มินอลแบบกราฟฟิกที่ติดต่อผู้ใช้ และส่งโปรแกรมหรือโปรเซสเข้าไปทำงานบนเครื่องเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งประมวลผลได้เร็ว เมื่อเมนเฟรมนั้นต้องการข้อมูลก็จะส่งคำสั่งไปยังเครื่องบริการไฟล์หรือฐานข้อมูล และผลลัพธ์จากการประมวลผลจะถูกส่งกลับไปแสดงที่เครื่องพีซีซึ่งมีระบบติดต่อผู้ใช้ที่ดี
ความสำเร็จของระบบประมวลผลแบบกระจายเกิดขึ้นจากการใช้ระบบสื่อสารข้อมูลซึ่งทำการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันเป็นเครือข่าย ซึ่งจะทำให้คอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งสามารถส่งคำสั่งไปยังเครื่องอื่นๆ ได้และคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการก็ยังสามารถรับคำสั่งทำการประมวลผลเฉพาะหน้าที่และส่งผลกลับไปยังเครื่องที่ขอบริการได้ในทันทีอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เราสามารถใช้คอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กความสามารถต่ำถึงปานกลาง ทำงานประสานร่วมกันให้มีความสามารถรวมได้เทียบเท่ากับคอมพิวเตอร์ในระดับใหญ่ได้
ด้วยเหตุนี้ระบบประมวลผลกระจายที่ทำการประมวลผลในรูปแบบหนึ่ง ก็คือการอาศัยช่องทางในการติดต่อระหว่างกัน มีคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่ขอรับบริการ คอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่ให้บริการ หรือในบางเครื่องก็อาจทำหน้าที่ทั้งขอรับบริการจากเครื่องอื่น และให้บริการบางอย่างแก่เครื่องอื่นๆ ได้ด้วย ในระบบที่มีการขอรับบริการซึ่งอาจเปรียบได้กับการเป็นลูกค้า (client) และมีการให้บริการคือเป็นผู้ให้บริการ (server) เช่นนี้กลายเป็นหลักการในการประมวลผลที่เรียกว่าการประมวลผลแบบไคลเอนต์-เซิร์ฟเวอร์ (Client-Server Processing)
ด้วยยุคของระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นระบบเปิด (open system) ที่มีการกำหนดมาตรฐานหลายประการร่วมกัน ในระบบการประมวลผลแบบไคลเอนต์-เซิร์ฟเวอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้และให้บริการนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นคอมพิวเตอร์ในแพลตฟอร์มเดียวกัน อาจเป็นคอมพิวเตอร์ที่อยู่ต่างแพลตฟอร์มกันก็ได้ เช่น คอมพิวเตอร์ที่ผู้ใช้ใช้งานอาจเป็นเครื่องพีซีที่มีไมโครซอฟต์วินโดว์เป็นระบบปฏิบัติการ สามารถทำงานร่วมกับเครื่องให้บริการฐานข้อมูล (database server) ทำงานอยู่บนสถานีงานวิศวกรรมที่มีระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ เหตุที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ที่แตกต่างกันทำงานร่วมกันได้ ก็เนื่องมาจากการกำหนดมาตรฐานของการติดต่อกัน ซึ่งเรียกว่าโปรโตคอล (protocol) ให้ใช้มาตรฐานที่เหมือนกัน โปรแกรมต่างๆ ที่สนับสนุนการทำงานหลายประเภท และต่างก็เป็นโปรแกรมที่ทำงานในระบบเปิด รองรับโปรโตคอลที่เป็นมาตรฐาน ทั้งสิ้น
จากข้อจำกัดของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลคือไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ภายในองค์กรได้อย่างทั่วถึงและข้อจำกัดของการประมวลผลแบรวมศูนย์ที่ค่อนข้างล่าช้า ดังนั้นจึงต้องมีการจัดสรรทรัพยากร เพื่อกระจายและแจกจ่ายการใช้งานข้อมูลและทรัพยากรต่าง ๆ ให้สามารถใช้ร่วมกันได้ให้ทั่วทั้งองค์กรและระหว่างหน่วยงานย่อยขององค์กรด้วย เช่น ฐานข้อมูล ข่าวสาร เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ เครื่องโทรสาร และเครื่องสแกนเนอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ การกระจายข้อมูลและทรัพยากรต่าง ๆ ทำให้การประมวลผลมีความรวดเร็วมากขึ้น
การที่ทุกส่วนขององค์กรและระหว่างหน่วยงานย่อยขององค์กรจะสามารถใช้ทรัพยากรต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นร่วมกันได้นั้น คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องจะต้องเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายที่เรียกว่า “เครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Network Computer)” ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ แต่ที่พบโดยส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นแบบ Client / Server โดยที่เครื่องแม่ข่าย (Server) จะทำการแจกจ่ายหน้าที่การทำงาน การประมวลผล และข้อมูลให้กับคอมพิวเตอร์แม่ข่ายด้วยกันเอง หรือคอมพิวเตอร์ลูกข่ายที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการทำงานที่ได้รับมอบหมาย สำหรับเครื่องลูกข่ายเครื่องอื่น ๆ ก็จะมีหน่วยประมวลผลกลางเป็นของตัวเอง มีความสามารถในการจัดเก็บและทำหน้าที่บางส่วนได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องแม่ข่าย (Server) จึงทำให้การประมวลผลมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
ปัจจุบัน นอกจากการกระจายการประมวลผล และฐานข้อมูลแล้ว ด้วยกระแสการใช้งานอินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นทุกวัน การประมวลผลแบบกระจาย จึงได้มีการจัดสรรหน้าที่การทำงานต่าง ๆ ที่จะต้องเชื่อมโยงกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตให้กับคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เรียกว่า เว็บเซิร์ฟเวอร์ “Web Server”
การใช้งานคอมพิวเตอร์ให้ตรงกับประเภทและรูปแบบของการประมวลผล จะทำให้สามารถใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากใช้งานตรงกับความสามารถของเครื่องคอมพิวเตอร์ เมื่อระบบการสื่อสารข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์พัฒนาก้าวหน้าขึ้น จึงมีการประยุกต์ใช้วิธีการสื่อสารข้อมูลแบบต่าง ๆ เข้าช่วยเพื่อประสิทธิภาพในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ด้วยการประมวลผลของเครื่องคอมพิวเตอร์ได้
ระบบการประมวลผลแบบกระจาย เป็นการประมวลผลที่ได้รับการพัฒนาในขั้นต่อมา โดยมีการกระจายภาระการประมวลผลไปยังเครื่องต่าง ๆ ที่เชื่อมกันอยู่เป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และนำผลลัพธ์ที่ได้มารวมกัน ซึ่งวิธีนี้ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลของระบบโดยรวม รวมทั้งยังสามารถลดจำนวนข้อมูลที่ส่งผ่านเครือข่ายได้ด้วยนอกจากนี้ยังเป็นระบบที่กิจกรรมการประมวลผล สารสนเทศขององค์กร ตลอดจนทรัพยากรคอมพิวเตอร์กระจายอยู่มากกว่าหนึ่งที่ และมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเดียวกัน งานต่าง ๆ จะถูกประมวลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ 2 – 3 ตัว ประเภทของสื่อกลางแยกได้ 2 ประเภท คือ (1) แบบใช้สาย (2) แบบไร้สาย การประมวลผลในลักษณะการกระจายมีหลายชนิด และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังเช่น
1. ระบบการซื้อขายผ่านไปรษณีย์ (A mail-order catalog system) เป็นระบบที่ให้บริการโดยลูกค้าจะเชื่อมโยงผ่านระบบโทรคมนาคมไปยังคลังสินค้า ซึ่งอาจตั้งอยู่ห่างจากศูนย์บริการหลายร้อยกิโลเมตร เมื่อศูนย์บริการได้รับการติดต่อจากลูกค้าทางโทรศัพท์ โทรสาร หรือจดหมาย ศูนย์บริการก็จะทำการป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ และข้อมูลสั่งซื้อจะถูกส่งผ่านไปยังคลังสินค้า เพื่อส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าต่อไป ระบบนี้จะช่วยให้องค์การบริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และการมีคลังสินค้ากระจายตามภูมิภาคต่าง ๆ ก็จะช่วยให้สามารถบริการแก่ลูกค้าได้ในเวลาอันรวดเร็วอีกด้วย
2. ระบบธนาคารแบบกระจาย (Distributed banking)
เป็นระบบของธนาคารซึ่งมีการให้บริการแก่ลูกค้าผ่านเครื่องฝาก/ถอนเงินอัตโนมัติ [Automatic Teller Machines (ATM)] ATM ได้มีเครือข่ายทั่วประเทศและทั่วโลก ตัวอย่างจากระบบดังกล่าว เช่น การโอนเงินผ่านทางเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ [Electronic Funds Transfer (EFT)]
3. การบริการขนส่งข้ามคืน (Overnight delivery service)
เป็นการใช้สัญญาณคลื่นวิทยุ และไมโครคอมพิวเตอร์ การสื่อสารผ่านดาวเทียม และเครื่องเทอร์มินอลที่ไม่มีหน่วยประมวลผล (Dumb terminal) เพื่อรับข้อมูลข่าวสารในขณะที่พนักงานไม่อยู่ เส้นทางการขนส่งของบริษัทจะถูกคำนวณโดยทางคณิตศาสตร์ และหลายบริษัทได้จัดตั้งพนักงานส่งพัสดุประจำสำนักงานหรือตามท่าอากาศยาน เพื่อประสานงานกับฝ่ายรถขนส่ง
ข้อดี ของการประมวลผลแบบกระจาย (Advantages of distributed processing) ก็คือการใช้เวลาตอบสนองได้เร็วขึ้น (Quicker response time) เป็นระบบที่สามารถตอบสนองตามคำสั่งของผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนำไปสู่การให้บริการลูกค้าได้ดีกว่าเดิม ระบบแบบรวมศูนย์ (Centralized systems) เป็นระบบที่มีความล่าช้า เมื่อมีการใช้งานหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กัน จะต้องใช้เวลาในการตอบสนองมากขึ้น ส่งผลให้การบริการลูกค้าล่าช้า ฉะนั้นระบบแบบกระจาย (Distributed systems) จึงเกิดขึ้นเพื่อมาแก้ปัญหาระบบรวมศูนย์ โดยสรุปแล้วมีข้อดีดังนี้
1.ใช้เวลาตอบสนองได้เร็วขึ้น (Quicker response time) เป็นระบบที่สามารถตอบสนองตามคำสั่งของผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนำไปสู่การให้บริการลูกค้าได้ดีกว่าเดิม ระบบแบบรวมศูนย์ (Centralized systems) เป็นระบบที่มีความล่าช้า เมื่อมีการใช้งานหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กัน จะต้องใช้เวลาในการตอบสนองมากขึ้น ส่งผลให้การบริการลูกค้าล่าช้า ฉะนั้นระบบแบบกระจาย (Distributed systems) จึงเกิดขึ้นเพื่อมาแก้ปัญหาระบบรวมศูนย์
2.ใช้ต้นทุนน้อยกว่า (Lower costs) การใช้ระบบแบบกระจายสามารถลดปัญหาด้านปริมาณของข้อมูลที่จะส่งไปในระยะทางไกล ๆ ได้ ซึ่งถือว่าเป็นการลดต้นทุนในการสื่อสารทางไกล เพราะข้อมูลบางส่วนสามารถประมวลผลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายนั่นเอง
3.ปรับปรุงความถูกต้องของข้อมูล (Improved data integrity) ผู้ใช้เครือข่ายเฉพาะพื้นที่ (LAN) มักจะรู้จักข้อมูลในพื้นที่ของตนดี และสามารถตรวจสอบข้อผิดพลาดได้รวดเร็ว ชื่อสกุลที่สะกดแบบผิด ๆ ปริมาณการสั่งซื้อไม่ถูกต้อง สามารถตรวจพบได้โดยพนักงานที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับลูกค้าของตนเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อฐานข้อมูลมีการกระจายก็จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบประมวลผลแบบกระจาย ซึ่งจะส่งผลไปสู่ความถูกต้องของข้อมูลด้วย
4.ลดต้นทุนตัวประมวลผลหลัก (Reduced host processor costs) จะสามารถเพิ่มอายุการใช้งานของคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ (Mainframe) เนื่องจากไม่มีภาวะเกินกำลังในเรื่องการปะมวลผลของส่วนกลาง
5.การเพิ่มความน่าเชื่อถือ (Increased reliability) หากคอมพิวเตอร์หลักในระบบการประมวลผลแบบรวมศูนย์ (Centralized processing systems) ล้มเหลวจะเกิดการขัดข้องทั่วทั้งระบบ แต่ในระบบการประมวลผลแบบกระจาย (Distributed processing systems) บางส่วนของระบบสามารถทำหน้าที่เป็นตัวเสริมหรือสนับสนุนในกรณีที่ตัวประมวลผลใดประสบปัญหาหรือล้มเหลวในการทำงานได้
6.การใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Resource sharing) ประโยชน์หลักของการพัฒนาเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กในระบบแบบกระจาย คือ ประโยชน์จากการแบ่งสรรทรัพยากรที่มีราคาแพง อุปกรณ์ในการประมวลผลที่มีความเร็วสูง เครื่องพิมพ์เลเซอร์แบบสี จากสถานีงานอื่น ๆ
ข้อเสีย ของการประมวลผลแบบกระจาย (Disadvantages of distributed processing) แม้ว่าระบบการประมวลผลแบบการกระจายจะมีประโยชน์หลายประการดังกล่าวมาแล้ว แต่มีข้อเสียที่ผู้บริหารควรคำนึงถึง โดยสรุปได้ดังนี้
1.การขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้าน MIS (Shortage of MIS professionals) ปัจจุบันความต้องการระบบในลักษณะการกระจายการประมวลผลเพิ่มมากขึ้น และผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้มีจำนวนน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการ
2.มาตรฐานของระบบ (Standardization) มาตรฐานของระบบเป็นสิ่งที่ผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เมื่อทรัพยากรคอมพิวเตอร์ที่นำมาต่อเชื่อมเป็นระบบในเครือข่ายเดียวกันจะทำงานร่วมกันได้ จำเป็นต้องมีมาตรฐาน (Standardization) เดียวกัน ซึ่งหากขาดมาตรฐานของระบบแล้วย่อมยากต่อการพัฒนาในองค์กรที่มีการประมวลผลแบบกระจาย
3.ความถูกต้องของข้อมูล (Data integrity) ในระบบที่ฐานข้อมูลกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ หากผู้ใช้ต้องการทำการแก้ไขข้อมูล หรือการเพิ่มข้อมูล หรือการลบข้อมูล ผู้ใช้จะต้องกระทำอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน มิฉะนั้นอาจจะเกิดความผิดพลาดได้โดยง่าย
4.ความปลอดภัยของระบบ (Security) ในระบบที่ทำการประมวลผลข้อมูลแบบกระจายจากส่วนกลางนั้น ผู้ใช้ระบบร่วมกันได้หลาย ๆ คน ดังนั้นอาจเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีหวังดีทำการบุกรุกระบบ เพื่อกระทำในทางที่ไม่ดีได้ เช่น นำไวรัสเข้าไปในระบบ ขโมยข้อมูล หรือแก้ไขข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น
ปัจจุบันนี้หลายองค์กรต่างให้ความสำคัญกับการประมวลผลแบบกระจายทั้ง ในด้านการสื่อสารโทรคมนาคม หรือในด้านที่เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายข้อมูลเพื่อให้ได้เปรียบในเชิงการแข่งขันและเพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้องค์การอยู่รอดต่อไปได้ของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ดังเช่น
การสื่อสารโทรคมนาคม : การพิจารณาด้านกลยุทธ์
การสื่อสารโทรคมนาคม (Telecommunications) หมายถึง ระบบใด ๆ ก็ตามที่ข้อมูลหรือข่าวสารสามารถถูกส่งผ่านสื่อประเภทต่าง ๆ ได้ เช่น ผ่านสายโทรศัพท์ หรือสายเคเบิล หรือผ่านทางอากาศ (สัญญาณคลื่นไมโครเวฟ) ปัจจุบันโทรคมนาคมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอันหนึ่งของเครือข่ายคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีการสื่อสารด้านโทรคมนาคมสามารถเชื่อมโยงลูกค้าและผู้ผลิตสินค้าทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เพื่อให้ได้เปรียบในเชิงการแข่งขันด้วนต้นทุนที่ต่ำกว่า ราคาสินค้าที่ต่ำกว่า สามารถใช้เวลาที่น้อยกว่าในการบรรลุผลสำเร็จในการทำงาน และเพิ่มความสามารถในการตอบสนองต่อปัญหาและโอกาสได้อย่างรวดเร็ว ดังเช่น
เครือข่ายการสื่อสารแบบกระจาย (Distributed communication networks) เป็นการเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กหลาย ๆ เครื่องในลักษณะของเครือข่าย เช่น เครือข่ายแบบท้องถิ่นหรือเครือข่ายเฉพาะพื้นที่ (LAN) รวมถึงระบบไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic mail systems) ลักษณะของเครือข่ายการสื่อสารแบบกระจายนี้ได้ช่วยให้องค์กร ได้รับการหมุนเวียนของข่าวสารและการติดต่อสื่อสารได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และยังเป็นประโยชน์ต่อการสื่อสารและการกระจายข่าวสารระหว่างผู้จัดการด้วยกันเองที่อยู่ต่างสถานที่กัน ซึ่งใช้เป็นกลยุทธ์ในการตัดสินใจ ดังแสดงตัวอย่างเครือข่ายการสื่อสารแบบกระจาย
อุตสาหกรรมการขนส่งและลอจิสติกส์ : การแก้ปัญหาการตัดสินใจ
ในปัจจุบันนี้ยังมีปัญหาจำนวนมากที่ไม่สามารถหาคำตอบได้โดยการใช้คอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียวเพราะว่าใช้เวลาในการหาคำตอบนานเกินไป อาจต้องใช้เวลาในการคำนวณหลายปี กว่าปัญหานั้นจะเสร็จสิ้นจึงไม่คุ้มค่าที่หากนำมาคำนวณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการเลือกเส้นทางของบุรุษไปรษณีย์ (Travelingsale man problem) ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนยากต่อการหาคำตอบ ลองคิดดูว่าหากใช้คอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียวมาแก้ปัญหานี้ คงต้องใช้เวลาในการคำนวณเป็นพันๆปีหรืออาจจะนานเป็นปีแสงเลยก็เป็นได้
จะเห็นว่า เทคโนโลยี Distributed Computing เป็นเทคโนโลยีที่นำเอาคอมพิวเตอร์ธรรมดาๆ หลายๆตัวมาเชื่อมต่อกันแบบขนาน เพื่อร่วมกันทำการประมวลผล ซึ่งมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับเครื่อง Super Computer เครื่องหนึ่งเลยทีเดียว และยังให้ระบบคลัสเตอร์ติดต่อกันด้วยภาษาJava RMI ซึ่งเป็นภาษาที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ได้ระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเยี่ยมยอดยิ่งขึ้น
ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม : แก้ปัญหาการใช้งานคอมพิวเตอร์ในสำนักงานอย่างไม่คุ้มค่า ไม่เต็มประสิทธิภาพ
ปัญหาการใช้งานคอมพิวเตอร์ในสำนักงานอย่างไม่คุ้มค่า ไม่เต็มประสิทธิภาพ บางเครื่องถูกเปิดทิ้งไว้โดยไม่มีการใช้งาน หรือใช้งานง่ายๆ ไม่หนักมากนัก เช่น ฟังเพลงพิมพ์งาน ทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากร และพลังงานเป็นอันมาก คณะผู้จัดทำจึงเล็งเห็นช่องทางในการแก้ปัญหานี้โดยใช้วิธีการ “แชร์คอมพิวเตอร์” ในบริษัทเข้าด้วยกัน ด้วยการใช้เทคโนโลยี Distributed Computed ติดต่อกันด้วยภาษา Java RMI และระบบจะมีการจัดการฐานข้อมูลโดยใช้ my SQL หากคอมพิวเตอร์ในสำนักงานเครื่องใดไม่มีการใช้งาน หรือใช้งาน CPU ไม่เต็มประสิทธิภาพ ด้วยวิธีการนี้จะส่งผลให้องค์กรภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมสามารถประหยัดงบประมาณ และลดค่าใช้จ่ายลงไปได้มากมาย สามารถนำเม็ดเงินเหลือไปพัฒนาในส่วนอื่นๆให้มีประสิทธิภาพ และคุณภาพยิ่งขึ้น
ธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต : การให้บริการเครื่องมือค้นหา
รูปแบบการประมวลผลแบบกระจาย แบบ Grid Computing ที่นำเอากำลังการประมวลผลเหลือใช้จากพีซีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ กำลังได้รับความสนใจจากกลุ่มนักเทคโนโลยีหัวใสที่ต้องการผันพลังงานดังกล่าวมาสร้างมูลค่าให้กับงานวิจัย หรือนวัตกรรมของตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ ดังเช่นบริษัท ลุ๊คสมาร์ท (LookSmart) ผู้ให้บริการเครื่องมือค้นหาบนอินเทอร์เน็ตเป็นรายล่าสุดที่เปิดตัว "กรับ" (http://www.grub.org) โครงการประมวลผลแบบพีซีกริด ด้วยการดึงเอากำลังการประมวลผล และช่องสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่ได้ใช้งานของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล มาสร้างดัชนีหน้าเวบสำหรับเป็นฐานข้อมูลให้กับเครื่องมือค้นหาที่คาดว่าจะมีความละเอียดสูง และทันสมัยที่สุด การกระจายการประมวลผลในลักษณะนี้ จะทำให้บริการของตนมีโอกาสเอาชนะกูเกิ้ลได้
จะเห็นได้ว่าการนำเอาเครื่องคอมพิวเตอร์หลาย ๆ เครื่องมาเชื่อมต่อกัน เพื่อต้องการให้ เครื่องคอมพิวเตอร์เหล่านั้น สามารถที่จะส่ง หรือ แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ และนี่ก็คือระบบเครือข่าย ซึ่งถ้าเราลองนึกดูว่าเมื่อก่อนเรามีเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง การทำงานต่าง ๆ อยู่บนเครื่องเดียว แต่ในองค์กรที่มีการเพิ่มเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องที่สองขึ้นมา ความต้องการในการที่จะต้องมีการนำข้อมูลจากเครื่องหนึ่ง ไปยังอีกเครื่องหนึ่งคงหนีไม่พ้นที่ต้องใช้ Diskette แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งสองเครื่อง แต่ถ้าเป็นระบบเครือข่ายจะแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ได้โดยง่าย
ดังนั้นแล้วระบบเครือข่ายที่กระจายหน้าที่กระจายการเป็นศูนย์บริการ และเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน ด้วยจุดประสงค์ต่าง ๆ กัน ในมาตรฐาน TCP/IP ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้ง Windows, Linux, Unix และ Mac ทำให้ทั้งหมดสามารถสื่อสารกันรู้เรื่องเข้าใจ และก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้นการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้งานในหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย มีผลให้การทำงานในองค์กร หรือหน่วยงาน สามารถทำงานได้เป็นระบบ และพัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่อง การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในหน่วยงาน ก็เริ่มมีการพัฒนาขึ้นแทนที่จะใช้หนึ่งเครื่องต่อหนึ่งคน ก็ให้มีการนำเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ มาเชื่อมต่อกัน เป็นระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การแชร์ทรัพยากร การเพิ่มความเร็วในการคำนวณ ความน่าเชื่อถือของระบบ หรือแม้กระทั่งเรื่องการติดต่อสื่อสาร
และในปัจจุบัน ที่มีปัญหาจำนวนมากที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ด้วยคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียวนี้ การนำเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจาย Distributed Computing มาใช้ในองค์กรภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ที่จะมาช่วยสร้างระบบการตัดสินใจ สำหรับปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน ยากยิ่งต่อการหาคำตอบ คงจะมีความสำคัญและจำเป็นไม่มากก็น้อย
-
373 เทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจาย (Distributed Computing) /article-technology/item/373-distributed-computingเพิ่มในรายการโปรด