WiMax : Worldwide Interoperability for Microwave Access
WiMax Technology
เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็น โครงข่ายสื่อสารที่โยงใยผู้คนทั่วโลกเข้าไว้ด้วยกัน การสื่อสารไร้สายความเร็วสูงที่ครอบคลุมพื้นที่ได้ถูก วิวัฒนาการขึ้น ให้ผู้คนโลดแล่นไปในจินตนาการของโลกแห่งเวทมนต์ ก็เพียงแต่คุณอยู่หน้าจอ ก็สามารถเดินทางรอนแรมท่องเที่ยวไปทั่วโลกได้เพียงชั่ว พริบตา...
ในยุคแรกของการนำเอาเทคโนโลยีบรอดแบนด์ไร้สายมาใช้งานนั้นมักจะมุ่งเน้นไปที่การเชื่อมต่อแบบ จุดต่อจุด (Point-to-Point) ซึ่งเชื่อมโยงระบบ เครือข่ายภายในอาคาร 2 แห่งเข้าด้วยกันเพื่อให้ติดต่อสื่อสารถึงกันได้ ซึ่งต่อมาการใช้งานรูปแบบนี้มีข้อจำกัด จึงได้มีการพัฒนาการเชื่อมต่อในอีกรูปแบบหนึ่ง ขึ้น โดยเป็นการเชื่อมต่อแบบจุดหนึ่งไปหลายๆ จุดได้ (Point-to-Multipoint) ซึ่งวิธีการนี้ทำให้ผู้ให้บริการระบบอินเทอร์เน็ต บรอดแบนด์สามารถให้บริการ ที่ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ ได้กว้างขึ้น
ความหมาย
WiMax เป็นชื่อเรียกเทคโนโลยีไร้สายรุ่นใหม่ล่าสุดที่คาดหมายกันว่า จะถูกนำมาใช้งานในอนาคต อันใกล้นี้ โดย WiMax เป็นชื่อย่อของ Worldwide Interoperability for Microwave Access ซึ่งเป็นเทคโนโลยีบรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูงรุ่นใหม่ที่ถูก พัฒนาขึ้นมาบนมาตรฐาน IEEE 802.16 ซึ่งต่อมา ก็ได้พัฒนามาตรฐาน IEEE 802.16a ขึ้น โดยได้อนุมัติออกมาเมื่อเดือนมกราคม 2004 โดยสถาบันวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ IEEE (Institute of Electrical and Electronics Engineers) ซึ่งมีรัศมีทำการที่ 30 ไมล์ หรือเป็นระยะทางประมาณ 48 กิโลเมตร ซึ่งนั่นหมายความว่า WiMax สามารถ ให้บริการครอบคลุมพื้นที่กว้างกว่าระบบโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G มากถึง 10 เท่า ยิ่งกว่านั้นก็ยังมีอัตราความเร็วในการส่งผ่าน ข้อมูลสูงสุดถึง 75 เมกะบิตต่อวินาที (Mbps) ซึ่งเร็วกว่า 3G ถึง 30 เท่าทีเดียว
• IEEE 802.16 เป็นมาตรฐานที่ให้ระยะทางการเชื่อมโยง 1.6 - 4.8 กิโลเมตร เป็นมาตรฐานเดียวที่สนับสนุน LoS (Line of Sight) โดยมีการใช้งานในช่วงความถี่ที่สูงมากคือ 10-66
กิกะเฮิรตซ์ (GHz)
• IEEE 802.16a เป็นมาตรฐานที่แก้ไข ปรับปรุงจาก IEEE 802.16 เดิม โดยใช้งานที่ความถี่ 2-11 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งคุณสมบัติเด่นที่ได้รับการแก้ไขจากมาตรฐาน 802.16 เดิมคือคุณสมบัติการรองรับการทำงานแบบที่ไม่อยู่ในระดับสายตา (NLoS - Non-Line-of-Sight) ทั้งยังมีคุณสมบัติการทำงานเมื่อมีสิ่งกีดขวาง เช่น ต้นไม้, อาคาร ฯลฯ
• IEEE 802.16e เป็นมาตรฐานที่ออกแบบมาให้สนับสนุนการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์พกพาประเภทต่างๆ เช่น อุปกรณ์พีดีเอ โน้ตบุ๊ก เป็นต้น โดยให้รัศมีทำงานที่ 1.6 - 4.8 กิโลเมตร มีระบบที่ช่วยให้ผู้ใช้งานยังสามารถสื่อสารได้โดยให้คุณภาพในการสื่อสารที่ดีและมีเสถียรภาพขณะใช้งาน แม้ว่ามีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาก็ตาม
เปรียบเทียบเทคโนโลยีไร้สายในแบบต่างๆ
* ระบบบรอดแบนด์ตามความต้องการ (Broadband on-demand)
สำหรับระบบเครือข่าย ไร้สายมาตรฐาน WiMax นั้น จะช่วยให้เหล่าโอ เปอเรเตอร์ต่างๆ สามารถจัดสรรงานบริการที่มีความเร็วสูงเทียบเท่าระบบเครือข่ายแบบใช้สายได้ โดยใช้เวลาการติดตั้งที่น้อยกว่า มีราคาที่ถูกกว่ามาก นอกจาก นั้น WiMax ก็ยังช่วยให้มีการจัดเตรียมการใช้งานระบบสื่อสารความเร็วสูงในรูปแบบตามความต้องการได้ในทันทีทันใด โดยรูปแบบนี้เหมาะสำหรับการ ทำงานในแบบชั่วคราว เช่น การจัดนิทรรศการ การจัดงานประชุม การจัดงานแสดงสินค้า เป็นต้น
* ระบบการสื่อสารบรอดแบนด์สำหรับที่พักอาศัย
ขณะที่เทคโนโลยีการใช้งานสายเคเบิลและเทคโนโลยี DSL ที่ถูกใช้งานในปัจจุบันนั้นมีช่องว่างในการใช้ งานมาก ด้วยข้อจำกัดของการวางโครงข่าย ที่มีอยู่และต้นทุนของการวางระบบ ทำให้ไม่สามารถให้บริการกับผู้ที่ต้องการใช้งานจำนวนมากซึ่ง ต้องการระบบ การสื่อสารระดับบรอดแบนด์ได้ แต่ข้อจำกัด เหล่านี้จะถูกทลายลง เมื่อมีการเปิดตัวระบบที่อ้างอิงกับมาตรฐาน WiMax ออกมา โดยแอพพลิเคชันสำหรับการ สื่อสารบรอดแบนด์ไร้สาย WiMax จะช่วย ให้สามารถพัฒนางานต่างๆ ที่สนองตอบความต้องการการใช้งานในรูปแบบต่างๆ ได้
* พื้นที่ซึ่งบริการเข้าไม่ถึง
เทคโนโลยีระบบการสื่อสารอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงที่ได้อ้างอิงกับมาตรฐาน WiMax นี้เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการใช้ งานในพื้นที่ห่างไกล ในเขตที่มีข้อจำกัดของการเดินสายนำสัญญาณในระบบ DSL
* บริการการสื่อสารแบบไร้สายคุณภาพสูง
มาตรฐาน IEEE 802.16e ซึ่งเป็นส่วนต่อเติมของ IEEE 802.16a นั้นเป็นคุณสมบัติแบบพิเศษที่พัฒนาขึ้นมาให้รองรับการใช้งานในแบบที่ต้อง เคลื่อนที่ตลอดเวลา เหมาะสำหรับอุปกรณ์ในแบบพกพาสำหรับการเดินทาง ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานยังสามารถ สื่อสารได้โดยให้คุณภาพในการสื่อสารที่ดี และมี เสถียรภาพขณะใช้งาน แม้ว่ามีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาก็ตาม
* การส่งสัญญาณแบบ Cellular Backhaul
ด้วยแบนด์วิดท์การใช้งานของ WiMax ที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือ จึงทำให้มีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งกับการที่จะนำมาใช้งานให้รองรับการส่งสัญญาณใน แบบย้อนกลับไปยังสถานีฐานระบบเซลลูลาร์ ซึ่งมีการติดต่อสื่อสารกันในแบบจุดต่อจุดได้
ความสามารถในการขยายระบบ
WiMax นั้นมีความสามารถในเรื่องการรองรับการใช้งานแบนด์วิดท์, ช่องสัญญาณ สำหรับการสื่อสารได้ด้วยความยืดหยุ่น โดยสามารถปรับให้สอด คล้องกับแผน--การติดตั้งเซลล์ในย่านความถี่ที่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ หรือ ย่านความถี่ที่ได้รับการยกเว้นค่าลิขสิทธิ์ทั่วโลก เช่น ถ้าโอเปอเรเตอร์ที่ให้บริการนั้น ได้รับคลื่นความถี่ 20 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ก็สามารถที่จะทำการแบ่งคลื่นความถี่นี้ออกเป็น 2 ส่วน โดยแต่ละส่วนนั้นอยู่ที่ 10 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) หรือจะแบ่ง ออกเป็น 4 ส่วนๆ ละ 5 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ก็ได้ ทำให้โอเปอเรเตอร์สามารถบริหารจัดการแต่ละส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเพิ่มเติมผู้ใช้งานในแต่ละ ส่วนได้อีกด้วย
ระบบรักษาความปลอดภัย
นับเป็นคุณสมบัติ ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยคุณสมบัติของการรักษาความลับของ
ข้อมูลและการเข้ารหัสข้อมูล ซึ่ง อยู่ในมาตรฐาน WiMax ที่จะช่วยให้การสื่อสารมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น แถมยังมีระบบตรวจสอบสิทธิการใช้งานและมีระบบการเข้ารหัสข้อมูลในตัวด้วย
ประโยชน์
ทำให้เราสามารถนำ WiMax ไปประยุกต์เพื่อลดช่องว่างของ เทคโนโลยีในพื้นที่ห่างไกลที่เทคโนโลยีเข้าไปไม่ถึง ตลอดจนสนอง ความต้องการการใช้งานบรอดแบนด์ในเมืองที่มีพื้นที่แออัดได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายที่ประหยัดกว่าการติดตั้งเครือข่ายในแบบวางสายสัญญาณที่ ใช้งานกันอยู่
สรุป
แม้ว่าในขณะนี้ WiMax จะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย แต่ WiMax ก็ถือว่า เป็นเทคโนโลยีที่มีอนาคตสดใส เป็นทางเลือก หนึ่งที่จะเข้ามาช่วยตอบสนองความต้องการการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงซึ่งมีแนวโน้มเติบโต อย่างรวดเร็วได้เป็นอย่างดี และหากมองถึงประโยชน์ในการ ขยายเครือข่ายบรอดแบนด์ให้เข้าถึงพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลแล้ว ผลประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้งานทุกคนที่จะมีโอกาสได้ใช้เครือข่ายสื่อสารความเร็วสูงอย่าง เท่าเทียมกัน รวมไปถึงการช่วยสร้างรายได้และโอกาสทางการตลาดให้กับเหล่าโอเปอเรเตอร์ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย รวมทั้งบรรดาผู้ผลิต อุปกรณ์ที่ เกี่ยวข้อง และเชื่อได้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะได้สัมผัสกับเทคโนโลยี WiMax อย่างแพร่หลายเช่นเดียวกับที่ Wi-Fi ประสบความสำเร็จอยู่ในปัจจุบัน
น.ส ปัทมา มุขวัฒน์
รุ่น MIT 9
นักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (การจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ)
สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
-
376 WiMax : Worldwide Interoperability for Microwave Access /article-technology/item/376-wimaxเพิ่มในรายการโปรด