นวัตกรรมเพื่อคนพิการ
ปัญหาที่เราอาจพบเห็นได้อยู่บ่อย ๆ ราวกับว่าเป็นสิ่งที่เห็นจนชินตาคือ ภาพความยากลำบากในการดำรงชีวิตของผู้พิการ และเนื่องด้วยครบกำหนด วันคนพิการแห่งชาติ วันเสาร์สัปดาห์ที่ 2 เดือนพฤศจิกายน ของทุกปี เราจึงอยากนำเสนอเรื่องราว ความสำคัญของงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ เกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือผู้พิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ภาพที่ 1 มือเทียมที่สร้างจากเทคโนโลยี 3D Printing
ที่มา https://pixabay.com
นักสร้างหรือนักประดิษฐ์ส่วนใหญ่ มักสร้างหรือประดิษฐ์สิ่งของและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อาจสามารถปรับเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่และสภาพทางสังคมของผู้พิการให้ดีขึ้นไม่มากก็น้อย และสำหรับนวัตกรรมเพื่อคนพิการที่เราจะพูดถึงกันในครั้งนี้ก็คือ นวัตกรรมเกี่ยวกับการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) เพื่อการออกแบบวัสดุอวัยวะทดแทน
ก่อนหน้านี้เราเคยพูดถึงเรื่อง 3D Printing ในบทความเรื่อง เสกจินตนาการให้เป็นจริง ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ในเชิงอธิบายให้เห็นหลักการและความสำคัญ ในคราวนี้ ถึงเวลาที่จะได้กล่าวถึงการนำไปใช้ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดในวงการแพทย์
เราใช้เทคโนโลยี 3D Printing สร้างอวัยวะเทียมของร่างกายทดแทนที่อวัยวะที่สูญเสียไป เช่น มือเทียม แขนขาเทียม กระดูกเทียม เป็นต้น โดยสร้างแบบจำลองอวัยวะในโปรแกรมสามมิติขึ้นมาก่อน แล้วพิมพ์ชิ้นส่วนเหล่านั้นด้วย 3D Printer เพื่อประกอบเป็นอวัยวะที่สมบูรณ์ต่อไป ทั้งนี้อวัยวะเทียมสามมิติเหล่านี้ ยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบไฟฟ้าเพื่อการทำงานที่มีความสามารถเหมือนอวัยวะจริงมากที่สุด หรือในขณะนี้ที่สามารถทำงานได้โดยใช้การสั่งการของสัญญาณประสาทที่กล้ามเนื้อ
นอกจากอวัยวะภายนอกร่างกายแล้ว ในปัจจุบันก็มีการทดลองและทดสอบถึงระดับอวัยวะภายในร่างกาย เช่น ลิ้นหัวใจ หัวใจ หรือแม้กระทั่ง การทดลองสร้างเนื้อเยื่อสังเคราะห์ซึ่งประกอบขึ้นด้วยสารเคมีชีวภาพที่พิมพ์ออกมาเป็นทรงกลมเล็ก ๆ ภายในมีหยดเล็ก ๆ เพื่อจำลองเป็นระบบเส้นประสาทเทียม ควบคุมการทำงานด้วยระบบไฟฟ้าแทนกระแสประสาท ซึ่งพบว่าเนื้อเยื่อสังเคราะห์นี้สามารถเคลื่อนไหวต่อแรงกระตุ้นได้
ภาพที่ 2 มือเทียมที่สร้างจากเทคโนโลยี 3D Printing
ที่มา http://science.sciencemag.org/content/340/6128/48/tab-figures-data
ข้อดี ของการพิมพ์อวัยวะเทียมด้วยเทคโนโลยี 3D Priting คือ มีความสมบูรณ์เหมือนของจริง มีรูปทรงและรายละเอียดที่ซับซ้อน ซึ่งช่วยให้สามารถปรับแต่งขนาด รูปลักษณ์ ตามลักษณะของแต่ละบุคคลที่มีความไม่เหมือนกัน เช่น แต่ละคนมีสัดส่วนของวัยวะที่ไม่เท่ากัน หรือความยาวของส่วนที่พิการไม่เท่ากัน 3D Printer สามารถพิมพ์ชิ้นงานได้ตามขนาดความต้องการของคนผู้ใช้แต่ละคน
เพื่อคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียบกันในสังคม เทคโนโลยีนับเป็นความหวังของผู้พิการเป็นอย่างมากเลยทีเดียว
แหล่งที่มา
(2560, 18 มกราคม). เครื่องพิมพ์ 3 มิติ : เปิดโลกกว้างให้คนพิการ. สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2560, จาก
http://www.siam3dprinter.com/tag/คนพิการ
แขนกลไฟฟ้า Bionic Hand ความหวังใหม่ของผู้พิการ. สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2560, จาก
http://www.print3dd.com/แขนกลไฟฟ้า-Bionic-Hand-ความหวังใหม่ของผู้พิการ
3D PRINTER INDUSTRIAL REVOLUTION. สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2560, จาก
http://www.theeleader.com/article-3d-printer-industrial-revolution/
-
7582 นวัตกรรมเพื่อคนพิการ /article-technology/item/7582-2017-10-17-02-50-40เพิ่มในรายการโปรด