มาตรฐาน bluetooth 5
ปัจจุบันทุกคนติดต่อสื่อสารกันผ่านโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ อย่างแพร่หลาย คงรู้จักและได้ยินคำว่า Bluetooth (บลูทูธ) กันมานานอยู่พอสมควร โดยเราใช้งานบลูทูธไม่ว่าจะเป็นการแชร์ไฟล์, พิมพ์งาน, สตรีมเพลง เป็นต้น
ภาพ Bluetooth 5
ที่มา http://www.bitwysetech.com
บลูทูธ ระบบสื่อสารของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสองทาง ผ่านคลื่นวิทยุระยะสั้น (Short-Range Radio Links) หรือเรียกได้ว่าเป็นระบบที่ทำงานแบบไร้สายสัญญาณเชื่อมต่อ แต่ใช้สัญญาณวิทยุความถี่ในช่วง 2.4 ถึง 2.4835 GHz. (กิ๊กกะเฮิร์ซ) จาก 79 ช่องสัญญาณ และจะใช้ช่องสัญญาณที่แบ่งนี้ เพื่อส่งข้อมูลสลับช่องไปมา 1,600 ครั้งต่อ 1 วินาที Bluetooth จะทำงานได้มีประสิทธิภาพในช่วงที่ 5-10 เมตร มีระบบป้องกันโดยใช้การป้อนรหัสก่อนการเชื่อมต่อ เพื่อป้องกันการดักสัญญาณเพื่อโจรกรรมข้อมูลในระหว่างสื่อสารมีการสลับช่องสัญญาณไปมา ด้วยระบบที่สามารถเลือกเปลี่ยนความถี่ที่ใช้ในการติดต่อเองอัตโนมัติ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเรียงตามหมายเลขช่อง ทำให้การดักฟังหรือลักลอบขโมยข้อมูลทำได้ยากขึ้น
บลูทูธ มักถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็ก เช่น โทรศัพท์ หูฟัง เป็นต้น โดยใช้เพื่อรับส่งข้อมูลที่มีไฟล์ขนาดเล็ก เช่น ไฟล์ภาพ, เสียง ในขณะรับส่งสัญญาณสามารถเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ได้ แต่ต้องอยู่ในระยะที่เหมาะสมตามแต่คุณสมบัติของอุปกรณ์นั้น ๆ การทำงานของบลูทูธใช้พลังงานต่ำกินไฟน้อยแต่ใช้งานได้ระยะเวลานานพอสมควร โดยปกติความสามารถในการส่งถ่ายข้อมูล จะอยู่ที่ 1 เมกกะบิตต่อวินาที (1 Mbps)
Bluetooth 5 กับการอัพเดทความสามารถใหม่ ให้กับเทคโนโลยีเพื่อให้รองรับการเชื่อมต่อในรูปแบบ Mesh Network ที่เป็นการทำงานในการเชื่อมต่อข้อมูลแบบ Peer to Peer เพื่อกระจายและแชร์ข้อมูลไปยังจุดหมายปลายทางได้ จากกลุ่มผู้พัฒนาเทคโนโลยี Bluetooth ที่มีชื่อว่า กลุ่ม Bluetooth Special Interest Group (SIG) โดยปรับปรุงมาจากเวอร์ชั่น 4.2 ที่ใช้ในปัจจุบันแบบ Major Change
จากการปรับปรุงพัฒนาความสามารถทั้งในด้านประสิทธิภาพการเชื่อมต่อที่เพิ่มระยะไกลกว่าเดิม 4 เท่า อีกทั้งยังเพิ่มความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลเป็น 2 เท่า และจะรองรับแบนด์วิธเพิ่มขึ้น 800 เปอร์เซ็นต์ ยังรองรับการทำงานทางด้าน IoT (Internet of Things) หรือการเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างอุปกรณต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และการใช้งาน Bluetooth beacon เป็นหลักรองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ Bluetooth ตั้งแต่เวอร์ชัน 1.2, 2, 2.1, 3, 4, 4.1 ไปจนถึง 4.2 มีคุณสมบัติในการใช้เกี่ยวกับ IoT ได้เป็นอย่างดี โดยกินพลังงานน้อยลง เชื่อมต่อได้ระยะไกลขึ้น และส่งข้อมูลได้เร็วขึ้น มีการปรับปรุงที่ดี ทำให้มันมาอยู่ในสมาร์ทโฟนที่รุ่นใหม่ ๆ
พอเข้าใจบ้างแล้วใช่ไหมคะ“บลูทูธ” ก็คืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมต่อสัญญาณแบบไร้สายที่เหมาะแก่อุปกรณ์และการส่งข้อมูลขนาดเล็ก เวอร์ชันล่าสุด Bluetooth 5 ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ตรงที่ส่งสัญญาณได้ไกลขึ้น เร็วขึ้น รองรับการส่งออกข้อมูลขนาดใหญ่ และทำงานร่วมกันได้ดีกับมาตรฐานไร้สายอื่น ๆ สนับสนุนเทคโนโลยี Beacons ช่วยในเรื่องการระบุตำแหน่ง ทำให้อุปกรณ์พกพาสามารถเชื่อมต่อกับบริการในระยะใกล้เคียงได้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน ทำให้การใช้งานในชีวิตประจำวันจะง่ายขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย
แหล่งที่มา
Bluetooth SIG. (2016). Bluetooth 5: What it’s all about. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560. จาก
https://www.bluetooth.com/specifications/bluetooth-core-specification/bluetooth5
Jagatpal Verma. (2016). What Is Bluetooth 5.0? Inside the history of Bluetooth evolution. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560. จาก
https://gadgets.shiksha/bluetooth-5-0-inside-history-bluetooth-evolution.html
techtalkthai.com. (2016,December). มาตรฐาน Bluetooth 5 สมบูรณ์แล้ว รับส่งข้อมูลได้มากกว่าเดิม 8 เท่า ไกลขึ้น 4 เท่า คาดออกสู่ตลาดภายใน 2-6 เดือน. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560. จาก
https://www.techtalkthai.com/bluetooth-5-specification-is-released/
macthai.com. (2016,มิถุนายน 20). SIG ปล่อยมาตรฐาน Bluetooth 5.0 ใหม่เร็วขึ้น 2 เท่า และส่งได้ไกลขึ้น 4 เท่า. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560. จาก
https://www.macthai.com/2016/06/20/sig-released-bluetooth-5/
CloSeR. (2016,December 9). เปิดตัว Bluetooth 5.0 มาตรฐานใหม่ของการเชื่อมต่อ BT รองรับใช้งานร่วมกับ IoT ในอนาคต. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560. จาก
https://droidsans.com/sig-announce-bluetooth-5-expand-coverage-upgrade-data-speed/
-
7742 มาตรฐาน bluetooth 5 /article-technology/item/7742-bluetooth-5เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง