ซิลิคอนวัลเล่ย์ แลนด์มาร์คสำคัญของคนไอที
หลายคนอาจไม่รู้ว่า ณ ดินแดนแห่งหนึ่งของโลก พื้นที่ตอนใต้ของอ่าวซานฟรานซิสโกประเทศสหรัฐอเมริกา ถูกขนานนามว่าเป็นดินแดนของคนไอที หรือกล่าวได้ว่าเป็นแลนด์มาร์คสำคัญด้านไอทีของโลก ด้วยเป็นพื้นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทและหน่วยงานสำคัญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก และแน่นอนที่ว่าที่นี่ยังเป็นแหล่งรวมตัวของบุคคลที่มีความรู้ความสามารถทางด้านไอทีรวมตัวอยู่กันเป็นจำนวนมากด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านไอทีที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่าง มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) , มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เบิร์กลีย์ (University of California - Berkeley) และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-ซานตาครูซ (University of California - Santa Cruz) ดินแดนแห่งนี้เรียกว่า ซิลิคอนวัลเล่ย์ (Silicon Valley)
ภาพที่ 1 ภาพพื้นที่แสดงบริเวณของซิลิคอนวัลเลย์
ที่มา https://www.flickr.com/photos/isaacmao/6189267 , IsaacMao
“ซิลิคอนวัลเลย์” มาจากคำสนธิจากคำว่า “ซิลิคอน” กับคำว่า “วัลเล่ย์” โดยที่มาของคำว่า “ซิลิคอน” มาจากซิลิคอนชิป (silicon chip) ชิ้นส่วนของชิปหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ที่ผลิตมาจากซิลิคอน เพราะพื้นที่ตรงนี้เป็นแหล่งบุกเบิกการพัฒนาซิลิคอนชิป ส่วนคำว่า“วัลเล่ย์” ที่แปลว่าหุบเขา เพราะบริเวณพื้นที่ตรงนั้นคือหุบเขาซานตาคลารา (Santa Clara Valley)
ชื่อ “ซิลิคอนวัลเล่ย์” ถูกบัญญัติเป็นครั้งแรกโดยนายดอน โฮเฟลอร์ (Don Hoefler) ซึ่งเป็นเพื่อนของผู้ประกอบธุรกิจในพื้นที่ดังกล่าว และมีการใช้ชื่อนี้เป็นทางการในบทความชุด “Silicon Valley in the USA” ของหนังสือพิมพ์การค้าในขณะนั้น ในขณะเดียวกันก็มีข้อมูลอื่น ๆ อ้างว่าซิลิคอนวัลเลย์เกิดจากการรวมตัวของศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (Stanford University) ด้วยเช่นกัน โดยการรวมกลุ่มกันชักชวน และแนะนำจากนายเฟรดิก เทอร์แมน (Mr. Frederick Terman) คณบดีของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ในขณะนั้น
ภาพที่ 2 ภาพด้านหน้าของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University)
ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Stanford_University
เป็นที่ทราบกันดีว่าที่นี่คือแหล่งรวมตัวของบริษัทที่ดำเนินกิจการด้านไอทีสำคัญของโลก เช่น Google, Facebook, Twitter, Microsoft, Apple, Intel, eBAY ,Oracle, Logitech และอีกจำนวนมากมาย ทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่คนไอทีส่วนใหญ่จากทั่วโลกมีความฝันว่าอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็ขอให้ได้ผ่านมาดูบรรยากาศ หรือศึกษาดูงานบ้างก็ถือว่าเป็นที่ภูมิใจแล้ว
ด้วยความว่าที่นี่ คือที่หมายปองสำหรับคนที่อยากเข้ามาทำงาน จึงทำให้บริษัทแต่ละบริษัทที่เป็นสำงานใหญ่ ล้วนแล้วแต่มีบุคคลากรที่ค่อนข้างเรียกได้ว่า ต้องมีความรู้ความสามารถในระดับที่เก่งกล้าพอสมควร จึงจะสามารถเข้าไปทำงานได้ แน่นอนว่าคนไทยเองก็มีความเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ก็ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอนว่า คนไทยที่ทำงานอยู่ในสถานที่นี้มีอยู่จำนวนเท่าไหร่ แต่ก็พอทราบว่ามีอยู่บ้างจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ในบทความนี้คงไม้ได้นำเสนอด้านประสบการณ์ของแต่ละท่านเอาไว้ ไว้มีโอกาสจะหาข้อมูลมานำเสนอให้ได้อ่านกันอีกครั้งหนึ่งในโอกาสต่อไป
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของซิลิคอนวัลเล่ย์ในยุคปัจจุบันก็คือ เรื่องของค่าครองชีพซึ่งถือว่าสูงเอามาก ๆ จากข้อมูลผลการสำรวจของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่ง ซึ่งรายงานเกี่ยวกับค่าครองชีพที่นี่ไว้ว่า อยู่ที่นี่ ถึงแม้ว่าจะมีรายได้ที่สูงแต่รายจ่ายก็สูงเช่นกัน และหลายคนที่ทำงานที่นี่ต่างก็ให้ความคิดเห็นคล้าย ๆ กันว่า สภาพที่เป็นอยู่ถือได้ว่าไม่มีความมั่นคงทางการเงินเท่าใดนัก ด้วยเหตุที่ค่าครองชีพไม่ว่าจะเป็นค่าที่อยู่อาศัย ค่าอาหารการกิน ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกนั้นมีราคาที่แพงเอามาก ๆ จนทำให้เกิดสถานการณ์อันน่าแปลกใจของมุมมองจากคนภายนอกคือ แนวโน้มการย้ายออกจากพื้นที่แห่งนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะพนักงานชาวจีน ด้วยเหตุผลก็เพราะว่า ที่ประเทศจีนก็มีสภาพคล่องทางธุรกิจที่ดีเช่นกัน พนักงานชาวจีนเริ่มมองว่าที่บ้านเกิดของตนก็เป็นแลนด์มาร์คสำคัญด้านไอทีชั้นนำอันดับต้น ๆ ของโลกเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ยิ่งใหญ่เท่าที่ซิลิคอนวัลเล่ย์ก็ตาม การกลับบ้านเกิดของตนเองย่อมมีผลดีกว่า เพราะค่าครองชีพที่ถูกกว่าและสภาพคล่องทางธุรกิจที่ดีกว่านั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้าง อ่านดูแล้วมีความคิดที่อยากจะไปเที่ยวหรือไปทำงานที่นั่นกันบ้างหรือไม่ แนะนำผู้อ่านว่าควรหาโอกาสไปกันสักครั้งหนึ่งเพื่อหาประสบการณ์ดี ๆ และก็หวังว่าสักวันหนึ่งประเทศไทยอาจมีพื้นที่แห่งใหม่ที่อาจเป็นแลนด์มาร์คไอทีสำคัญระดับโลกได้เหมือนซิลิคอนวัลเล่ย์บ้างเช่นกัน
แหล่งที่มา
Thongchai Cholsiripong. (2561, 2 กุมภาพันธ์ 2561) . คนทำงานใน Silicon Valley มีรายได้เดือนละ 1 ล้านบาท ยังรู้สึกว่าตัวเองเป็น “คนชั้นกลาง” . สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2561, จาก
https://brandinside.asia/silicon-valley-middle-class/
นางสาวภาวินี จันทร์สำราญ. (2560, 23 พฤษภาคม) . มาทำความรู้จักกับซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) กันเถอะ. สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2561, จาก
http://www.mfa.go.th/aspa/th/articles/7128/77940-มาทำความรู้จักกับซิลิคอนวัลเลย์-(Silicon-Valley)-ก.html
รู้จัก "ซิลิคอน วัลเลย์" แหล่งรวมบริษัท IT หนึ่งในสถานที่ที่คนอยากทำงานมากที่สุดในโลก!!. สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2561, จาก
https://www.dek-d.com/studyabroad/37000/
Thasinakarn Chinsomboon. (2560, 2 มีนาคม) . Silicon Valley คืออะไรกันนะ?. สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2561, จาก
https://th.linkedin.com/pulse/silicon-valley-คออะไรกนนะ-thasinakarn-chinsomboon
-
8467 ซิลิคอนวัลเล่ย์ แลนด์มาร์คสำคัญของคนไอที /article-technology/item/8467-2018-07-18-03-56-58เพิ่มในรายการโปรด