Be My Eyes ฝันที่เป็นจริงของผู้พิการทางสายตา
สำหรับผู้พิการทางสายตาแล้วนั้น สิ่งที่ยากและน่าเห็นใจที่สุดก็คืออุปสรรคมากมายเกี่ยวกับการดำรงชีวิตในแต่ละวัน จะดีแค่ไหนหากเทคโนโลยีสามารถสร้างช่วยเหลือพวกเขาให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกและสบายมากขึ้น วันนี้เราจะมาทำความรู้จักแอปพลิเคชัน Be My Eyes สุดยอดแอปที่ได้รับรางวัลแอปพลิเคชันที่สนับสนุนให้ผู้พิการได้รับประสบการณ์ใช้งานอุปกรณ์ที่ดีเยี่ยม (Best Accessibility Experience) ที่สำคัญคือ สามารถใช้งานกันได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ภาพที่ 1 แอพลิเคชัน Be My Eyes
ที่มา https://vimeo.com/bemyeyes
จากผลรางวัลอันทรงคุณค่าของสุดยอดแอปพลิเคชัน ประจำปี 2018 จากหลายหลายปะเภทด้วยกัน แต่สำหรับบทความนี้เราขอนำเสนอแค่แอปพลิเคชันเดียวเท่านั้น ที่คัดเลือกและประกาศโดยทีมงานของ Google เป็นที่มาของบทความบทนี้ที่มีชื่อว่า Be My Eyes ฝันที่เป็นจริงของผู้พิการทางสายตา เพราะมันก็เป็นความฝันที่สามารถเป็นจริงได้ จากการช่วยเหลือของอาสาสมัครผู้มีจิตเมตตาต่อผู้พิการทางสายตา ผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารออนไลน์และอุปกรณ์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
Be My Eyes ทำงานผ่านตัวกลางที่เป็นแอปพลิเคชันบทสมาร์ตโฟนระหว่างผู้พิการทางสายตากับผู้ให้ความช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาหรือที่เราเรียกพวกเขาว่าอาสาสมัคร (ผู้มีสายตาปกติ) โดยมีหลักการทำงานโดยการพูดคุยกันผ่านวีดีโอคอลบนแอปพลิเคชัน แต่ก่อนอื่นทั้งผู้พิการทางสายตาและอาสาสมัครจะต้องสมัครเป็นสมาชิกของระบบกันซะก่อน
การสมัครเข้าใช้งาน
ผู้ใช้งานแอปพลิเคชันต้องทำการเลือกสถานะของตนเองก่อน สำหรับผู้พิการทางสายตาก็ต้องเลือก เมนู “I am blind or visually impaired” ส่วนอาสาสมัครที่จะเป็นผู้ช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา ให้เลือกเมนู “I am s sighted volunteer”
ภาพที่ 2 การเลือกสถานะของผู้ใช้งาน
ที่มา ณัฐดนัย เนียมทอง
ต่อจากนั้น ในขั้นตอนของการลงทะเบียนเพื่อสมัครเข้าใช้งานแอปพลิเคชัน ผู้พิการทางสายตาอาจต้องรบกวนให้ผู้มีสายตาปกติเป็นผู้ที่ทำการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนเพื่อใช้งานในครั้งแรกก่อน แต่หลังจากนั้นก็จะสามารถเข้าใช้งานได้โดยง่ายในไม่กี่ขั้นตอน ส่วนอาสาสมัครก็ต้องทำการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนเช่นเดียวกัน
การใช้งาน
เมนูของแอปพลิเคชันนี้ยังไม่รองรับภาษาไทย แต่ที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งสำหรับการใช้งานแอปพลิเคชันนี้ก็คือ การเลือกภาษาสำหรับการช่วยเหลือซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งสำหรับการจับคู่การช่วยเหลือระหว่างผู้พิการทางสายตากับอาสาสมัคร เพราะระบบจะจับคู่การช่วยเหลือให้ในครั้งแรกโดยจับคู่การใช้งานที่เป็นภาษาเดียวกันก่อนเป็นอันดับแรก ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใช้งานที่เป็นผู้พิการทางสายตาเลือกภาษาไทยเป็นภาษาใช้งาน ก็จะคลิกที่เมนู “Call first available volunteer” เพื่อค้นหาอาสาสมัครที่เลือกภาษาใช้งานเป็นภาษาไทยเช่นเดียวกัน แต่ถ้าไม่มีอาสาสมัครที่ลงทะเบียนใช้งานภาษาไทยไว้ ระบบก็จะสุ่มเลือกภาษาที่สองซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ
ภาพที่ 3 การค้นหาอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา
ที่มา ณัฐดนัย เนียมทอง
เมื่อมีการเรียกการช่วยเหลือจากผู้พิการทางสายตา ระบบจะมีการจับคู่และสุ่มอาสาสมัครโดยจะมีการแจ้งเตือนเป็นข้อความไปที่อุปกรณ์สื่อสารของอาสาสมัคร เมื่อมีการตอบรับจากอาสาสมัครก็จะสามารถช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือ เช่น การมองเส้นทางการเดินทาง หยิบของ ซื้อของ อะไรต่าง ๆ อีกมากมายที่สามารถช่วยเหลือได้ ก็เปรียบดวงตาของเราทำหน้าที่เป็นดวงตาของผู้พิการทางสายตาก็ว่าได้
ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีช่วยให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้นมากจริง ๆ มันคือสิ่งที่สร้างโอกาสและความสุขให้ทุกคนบนโลกใบนี้ไม่เว้นแม้แต่ผู้พิการ อีกทั้งยังทำให้คนสายตาปกติอย่างพวกเราสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาได้ด้วย ซึ่งนับเป็นประโยชน์ต่อสังคมโลกจริง ๆ
เป็นอย่างไรกันบ้าง เรื่องที่นำเสนอในวันนี้ หวังอย่างยิ่งว่าคงมีหลายคนที่จะอดไม่ได้ที่จะต้องลองทดสอบนำไปช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาที่คุณรู้จัก และก็หวังอีกเช่นกันว่าคุณจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือนี้
แหล่งที่มา
Watcharakul Chern. (2561, 9 พฤษภาคม) . Google ประกาศรายชื่อ “9 สุดยอดแอปฯ” ประจำปี 2018!. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2561. จาก https://www.beartai.com/news/itnews/237921
ThaiBlindInfo. (2561, 9 พฤศจิกายน) . มาดูกันว่าแอพพลิเคชัน “Be My Eyes” สามารถช่วยอะไรคนตาบอดได้บ้าง. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2561. จาก thaiblindinfo.com/news/มาดูกันว่าแอพพลิเคชัน-be-my-ey/
-
8496 Be My Eyes ฝันที่เป็นจริงของผู้พิการทางสายตา /article-technology/item/8496-be-my-eyesเพิ่มในรายการโปรด