Python ภาษาโปรแกรมอนาคตไกล
ไพทอน (Python) คำ ๆ นี้ไม่ว่าเป็นผู้ที่อยู่ในวงการไอที, ด้านการพัฒนาโปรแกรม, ผู้ปกครอง, ครู และนักเรียน นักศึกษา จะคุ้นหูกันเป็นอย่างมาก ว่าคืออะไร ทำไมต้องเป็น ไพทอน (Python)
ภาพที่ 1 ไพทอน (Python)
ที่มา มาโนชญ์ แสงศิริ ดัดแปลงจาก
https://www.python.org/static/img/python-logo.png
ความเป็นมา
ภาษาไพทอน (Python) ถูกสร้างขึ้นในต้นยุค 1990 โดย Guido van Rossum จากประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยต้นแบบภาษาสืบทอดมาจากภาษา ABC
ภาษา ABC เป็นภาษาที่ถูกออกแบบให้ง่ายต่อการเรียนรู้ ซึ่ง Van Rossum เคยช่วยเหลือในการพัฒนาภาษา ABC ก่อนหน้านี้ในอาชีพที่เขาทำ แต่ Van Rossum ได้มองเห็นปัญหาของภาษา ABC แต่เขาก็ยังคงชอบลักษณะเด่น ๆ จำนวนมากของภาษา ABC อยู่ เขาจึงสร้างภาษาสคริปต์ (scripting language) ใหม่ที่ใช้ไวยากรณ์ของ ABC ที่ได้แก้ไขปัญหาที่เขาพบบางอย่างลงไป เช่น สนับสนุนการจัดการกับข้อผิดพลาด (Exception Handling) เป็นต้น
Van Rossum เริ่มต้นพัฒนาภาษาใหม่ในช่วงวันหยุดคริสต์มาส เดือนธันวาคม ค.ศ.1989 แต่ช่วงนั้นเขายังไม่ได้ตั้งชื่อภาษาใหม่นี้ จนกระทั่ง เขาได้อ่านอ่านสคริปต์ที่ตีพิมพ์จากซีรีส์ตลก "Monty Python’s Flying Circus" ของบีบีซี ซีรีส์ตลกจากช่วงยุค 1970 เขาจึงเลือกชื่อ "Python" กลายเป็นจุดเริ่มต้นของภาษา Python โดย หนังสือเอกสารตำรามักจะใช้ภาพงูเหลือมที่หน้าปก
ภาพที่ 2 Guido van Rossum
ที่มา https://gvanrossum.github.io
ทำไมต้อง ไพทอน (Python)
1. เป็นภาษาที่มีโครงสร้างคำสั่งที่ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย เมื่อเปรียบเทียบกับภาษาซี แล้ว ไพทอน (Python) เขียนคำสั่งได้น้อยกว่าภาษาซี แต่ทำงานได้เหมือนกัน
2. สามารถใช้ในการเขียนโปรแกรมที่ซับซ้อนมากขึ้นในการเรียน และทำงานจริงในอนาคต
3. มีชุดคำสั่งสำเร็จรูป (Library) ให้เลือกใช้งานมากมาย เช่น ติดต่อฐานข้อมูลต่าง ๆ , ระบบเครือข่าย ทำให้เขียนโปรแกรมใหม่ได้รวดเร็วมากขึ้น
4. มีผู้ใช้และนักพัฒนามากมาย ที่มีส่วนรวมในการตอบและสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้
5. สามารถจัดการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) ได้อีกด้วย
ภาพที่ 3 เป็น 10 อันดับ ภาษาโปรแกรม ปี พ.ศ. 2561 จัดโดย สมาชิก IEEE และผู้อ่านเว็บไซต์ Spectrum
ที่มา https://spectrum.ieee.org/at-work/innovation/the-2018-top-programming-languages
จากภาพที่ 3 เป็นข้อมูลสนับสนุนในการศึกษา ภาษาไพทอน (Python) โดยสรุปอันดับ ตามประเภทวัตถุประสงค์ของการใช้งาน 4 ประเภท ดังนี้
- ภาษาที่ใช้ในการพัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน
- ภาษาที่ใช้สำหรับแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ
- ภาษาที่ใช้สำหรับแอปพลิเคชันสำหรับองค์กรและแอปพลิเคชันทางงานวิทยาศาสตร์
- ภาษาที่ใช้สำหรับควบคุมไมโครคอนโทรลเลอร์
โดย ภาษาไพทอน (Python) อยู่ลำดับที่ 1 ของแต่ละวัตถุประสงค์ ยกเว้น ภาษาที่ใช้สำหรับแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ เนื่องจาก ภาษาไพทอน (Python) ไม่ได้รองรับวัตถุประสงค์ดังกล่าว
ตัวอย่างการนำไปใช้งานด้านต่าง ๆ
1. โครงการ LIGO ประกาศค้นพบคลื่นความโน้มถ่วง (gravitational wave) โดยใช้ภาษา Python (ไพทอน) ในการประมวลข้อมูลเป็นกราฟ โดยคลื่นความโน้มถ่วงนี้ถูกทำนายว่ามีอยู่ด้วยทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)
ภาพที่ 4 ตัวอย่างกราฟคลื่นความโน้มถ่วง (gravitational wave) โดยใช้ภาษา Python (ไพทอน)
ที่มา https://losc.ligo.org/s/events/GW150914/GW150914_tutorial.html
2. คอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก (Raspberry pi) ถูกสร้างขึ้นโดยมูลนิธิ Raspberry Pi เป็นองค์กรการกุศลในสหราชอาณาจักรที่ทำงานเพื่อนำพลังของดิจิตอลเข้าสู่มือของผู้คนทั่วโลก ทำให้มีความสามารถในการทำความเข้าใจและสร้างโลกดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น สามารถแก้ปัญหาที่สำคัญได้ มีประสิทธิภาพสูงราคาประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงที่ผู้คนใช้เพื่อเรียนรู้แก้ปัญหาและสนุก โดยมีขนาดประมาณบัตร ATM และมีภาษา Python (ไพทอน) ติดตั้งอยู่ในระบบปฏิบัติการคือ Raspbian ทำให้สามารถเขียนโปรแกรมพื้นฐานไปจนถึงควบคุมอุปกรณ์ตัวตรวจจับ (Sensor) ต่าง ๆ ได้
3. วงการศึกษาไทยในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น แนะนำโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ส่วนในระดับมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ นำไพทอน (Python) เป็นภาษาแรกในการเรียนเขียนโปรแกรม
เว็บไซต์ที่ใช้ในการเรียนรู้
- https://www.learnpython.org
- https://www.codecademy.com/learn/learn-python
- https://www.sololearn.com/Course/Python
- https://www.edx.org/learn/python
- https://www.datacamp.com/courses/intro-to-python-for-data-science
สรุป มีความรู้ภาษาไพทอน (Python) ดูดีมีอนาคตมากอย่างแน่นอน
แหล่งที่มา
อาจวรงค์ จันทมาศ. การตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงครั้งแรกของโลก. สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2561, จาก http://www.narit.or.th/index.php/nso-news/2427-ligo-gravitational-wave-gw150914
วรรณพงษ์ ภัททิยไพบูลย์. (2560, 30 กันยายน). ประวัติความเป็นมาของ Python. สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2561, จาก https://python3.wannaphong.com/2017/09/python.html
LIGO Open Science Center. (2017, 18 July). SIGNAL PROCESSING WITH GW150914 OPEN DATA. Retrieved August 25, 2018, from https://losc.ligo.org/s/events/GW150914/GW150914_tutorial.html
-
8664 Python ภาษาโปรแกรมอนาคตไกล /article-technology/item/8664-pythonเพิ่มในรายการโปรด