อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง
อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง
อินเทอร์เน็ตกำเนิดขึ้นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1969 โดยองค์กรทางทหาร ของสหรัฐอเมริกา ชื่อว่า ยู.เอส.ดีเฟนซ์ ดีพาร์ทเมนท์ (U.S. Defence Department) เป็นผู้คิดค้นระบบขึ้นมา มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้มีระบบเครือข่ายที่ไม่มีวันตายแม้จะมีสงคราม ระบบการสื่อสารถูกทำลาย หรือตัดขาด แต่ระบบเครือข่ายแบบนี้ยังทำงานได้ ในปี 1999 Kevin Ashton บิดาแห่ง Internet of Things เขาได้นำเสนอโครงการที่ชื่อว่า Auto-ID Center ต่อยอดมาจากเทคโนโลยี RFID ที่ในขณะนั้นถือเป็นมาตรฐานโลกสำหรับการจับสัญญาณเซ็นเซอร์ต่าง ๆ (RFID Sensors) ตัวเซ็นเซอร์เหล่านั้นสามารถทำให้มันพูดคุยเชื่อมต่อกันได้ผ่านระบบ Auto-ID ของเขา โดยการบรรยายให้กับ P&G ในครั้งนั้น Kevin ก็ได้ใช้คำว่า Internet of Things ในสไลด์การบรรยายของเขาเป็นครั้งแรก โดย Kevin นิยามเอาไว้ตอนนั้นว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ใด ๆ ก็ตามที่สามารถสื่อสารกันได้ก็ถือเป็นอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง
ภาพที่ 1 การควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยสมาร์ตโฟน
ที่มา ฉัตรพงศ์ ชูแสงนิล ดัดแปลงจาก https://pixabay.com/th , tagechos
อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง หรือ Internet of Things (IoT) (บางทีเรียก IoE : Internet of Everything) หรือ “อินเทอร์เน็ตสำหรับทุกสิ่ง” เป็นการที่สิ่งของต่าง ๆ รอบตัวเรา ถูกเชื่อมโยง สู่โลกอินเทอร์เน็ต ทำให้เราสามารถ สั่งการ ควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น การเปิด-ปิด อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า การสั่งงานกล้องวงจรปิดภายในบ้านระยะไกล การเปิดปิดม่านภายในบ้าน หรือแม้แต่การทำฟาร์มเกษตรด้วยอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง
ความสามารถในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่หลากหลายเข้ากับโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เปิดโอกาสให้มีการประยุกต์ใช้งานที่หลากหลายและกว้างขวางมาก โดยรูปแบบการเชื่อมต่ออุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่าง ๆ จำนวนมากเข้ากับโครงข่าย จะช่วยให้สามารถตรวจวัดข้อมูลที่หลากหลายประเภท ได้เป็นจำนวนมาก และช่วยให้สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์และแสดงผลแบบกราฟิกเพื่อช่วยในการตัดสินใจได้ อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่งเข้ามามีบทบาทในด้านต่าง ๆ มากมาย ดังนี้
- การจัดการพลังงานและสาธารณูปโภค (Utility Management)
ระบบการจัดการพลังงานและสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่งจะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในลักษณะการตรวจวัดระยะไกล (Telemetry) เช่น ระบบ Smart meter การประยุกต์ใช้งานประเภทนี้ คือ บริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าโดยใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart grid) ที่ทำหน้าที่ตรวจวัดปริมาณการใช้งานพลังงานไฟฟ้า และรวบรวมข้อมูลเพื่อประมาณการค่าอุปสงค์ การใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมการจ่ายไฟฟ้า การวางแผนสร้างโรงไฟฟ้า จัดการแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า และการคิดราคาค่าไฟฟ้าแบบสอดคล้องกับค่าอุปสงค์-อุปทาน รวมไปถึงระบบบ้านอัจฉริยะ ระบบการควบคุมบ้านที่มีความชาญฉลาด มีอุปกรณ์อัตโนมัติที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ เช่น ตู้เย็นอัจฉริยะสามารถบอกได้ว่ามีอาหารอะไรกี่อย่างอยู่ภายในตู้เย็น อีกทั้งยังบอกได้ว่าอาหารจะหมดอายุเมื่อไหร่ โซฟา ที่สามารถปรับความอ่อนแข็งได้ตามสรีระและความพอใจของแต่ล่ะคน ห้องน้ำอัจฉริยะ ที่สามารถควบคุม อุณภูมิ เสียง แสง และกลิ่นภายในห้องน้ำได้ ประตูอัตโนมัติ ที่สามารถตรวจจับใบหน้าของสมาชิกภายในบ้านแล้วทำการเปิดปิดเองโดยอัตโนมัติ รีโมทที่สามารถควบคุมอุปกรณ์ที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านทั้งหมด ระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่ใช่เป็นเพียงกล้องที่บันทึกเหตุเท่านั้น แต่ยังมีเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว และไซเรนเพื่อส่งเสียงในการระงับเหตุ หุ่นยนต์เข้ามาใช้ภายในบ้านเช่น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น หุ่นยนต์ให้อาหาร สัตว์เลี้ยง เป็นต้น
- ระบบสาธารณสุขอัจฉริยะ และการแพทย์ (Smart Health)
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง เพื่อระบบสาธารณสุขอัจฉริยะสามารถทำได้โดยการใช้อุปกรณ์ ที่เก็บข้อมูลสุขภาพ และสัญญาณทางร่างกาย (Bio signals) เช่น สัญญาณชีพจร ความดันโลหิต คุณภาพการนอน การเคลื่อนที่ การหายใจ ผ่านการใช้อุปกรณ์สวมใส่ (Wearable devices) เพื่อรวบรวมและประมวลผลออกมาเป็นข้อมูลสุขภาพ และอาการเจ็บป่วย ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลการเจ็บป่วยที่มีประโยชน์ต่อการวินิจฉัยก่อนที่คนไข้มาถึงการดูแลของแพทย์ การคาดการณ์และการวินิจฉัยการเจ็บป่วยล่วงหน้า (Predictive diagnostic) การแจ้งเตือนการเจ็บป่วยทันที และระบบติดตามการแพร่กระจายของโรค ซึ่งข้อมูลและค่าสถิติการเจ็บป่วยและสุขภาพของกลุ่มประชาชนโดยรวมจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนทางสาธารณสุข โดยเฉพาะ Wearable หรืออุปกรณ์สวมใส่อย่าง นาฬิกาอัจฉริยะ ช่วยให้คนเราที่รักสุขภาพหรือรักการออกกำลังกายได้รับรู้ว่าแต่ล่ะวันใช้พลังงานไปกี่แคลอรี่ การนับก้าว การบันทึกการหลับ อัตราการเต้นของหัวใจ เดินวิ่งไปกี่ก้าว หรือตั้งเวลากำหนดแจ้งเตือนหรือใช้งานร่วมกับ โทรศัพท์มือถือเพื่อช่วยแจ้งเตือนนัดหมาย อุปกรณ์สวมใส่ของทางการแพทย์ยังสามารถเป็น อุปกรณ์ช่วยชีวิตคนป่วยหรือผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเช่น คนเป็นโรคหัวใจอยู่บ้าน ทางโรงพยาบาลให้ใส่ ที่มีฟีเจอร์กดปุ่มฉุกเฉินเรียกรถพยาบาลได้ก่อนที่จะรู้สึกวูบ เป็นต้นหรืออีกมุมมองที่เป็นประโยชน์คืออุปกรณ์ที่ช่วยให้ป้องกันภัยร้ายจากมิจฉาชีพหรือโจรได้เช่นหากใส่อุปกรณ์ไว้ถ้ามีโจรคิดจะทำร้ายเราก็เพียงกดปุ่มให้เกิดเสียงดังมาก ๆ รวมไปถึงส่งสัญญาณแจ้งขอความช่วยเหลือไปยังยามหรือตำรวจที่อยู่ในบริเวณใกล้ ๆ ให้มาช่วยเราได้พร้อมบอกตำแหน่งพิกัดผ่าน GPS เป็นต้น
- ระบบเทคโนโลยีการเงิน (Fintech)
เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง สามารถเข้ามามีบทบาทสนับสนุนเทคโนโลยีทางการเงินได้หลายรูปแบบ เช่น ระบบการจ่ายเงินอัตโนมัติ (Auto-payment) ในร้านค้าปลีก ระบบการจ่ายเงินโดยผ่านอุปกรณ์สวมใส่ (Wearable devices) และโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงสามารถทำงานร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ เช่นในโรงงานอุตสาหกรรม ในงานเกษตรกรรม เพื่อสั่งซื้อและจ่ายเงินวัสดุอุปกรณ์ วัตถุดิบอย่างอัตโนมัติ นอกจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประเทศไทยยังสามารถนำ อินเทอร์เน็ตมาช่วยสนับสนุนการสร้างคุณค่าและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการให้บริการในภาคส่วนอื่น เช่น การท่องเที่ยว ค้าปลีก และการจัดการข้อมูลกลางภาครัฐ เป็นต้น
- ระบบคมนาคมและการจัดการโลจิสติกส์แบบอัจฉริยะ (Transportation and Logistics Intelligent)
โครงข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง จะเข้ามามีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบคมนาคมและการจัดการ โลจิสติกส์โดยช่วยสนับสนุนให้มีการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างยานพาหนะด้วยกัน หรือ ระหว่างยานพาหนะและระบบควบคุมการจราจรอื่น เช่น ระบบสัญญาณการจราจร ระบบข้อมูลสภาพจราจร หรือ การนำเอาระบบดังกล่าวมาใช้กับระบบขนส่งมวลชนที่จะช่วยให้การบริการมีความปลอดภัย สะดวก และตรงเวลามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การนาระบบดังกล่าวไปใช้ในการขนส่งสินค้า จะทาให้สามารถทราบตำแหน่งยานพาหนะ ทราบสถานการณ์รับ-ส่งสินค้า อันส่งผลให้การจัดการสินค้าคงคลังมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างของการใช้งานระบบติดตามยานพาหนะ ในประเทศไทยเป็นเทคโนโลยีที่มีความสําคัญต่อภาคธุรกิจขนส่งสินค้าเนื่องจากสามารถทําให้ผู้ประกอบการขนส่งสามารถใช้ลดต้นทุนในกระบวนการขนส่งได้เป็นอย่างดี เช่น การลดการทุจริตของพนักงานขับรถที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น การจัดการวางแผนเส้นทางการขนส่งซึ่งทําให้ผู้ประกอบการได้มีการเลือกใช้เส้นทางหรือหลบเลี่ยงเส้นทางที่ต้องใช้จํานวนพลังงานเชื้อเพลิงมากยิ่งขึ้น รวมถึงการควบคุมพฤติกรรมการขับรถเร็วเกินกําหนดซึ่งส่งผลถึงความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งคนและทรัพย์สินองค์กร สามารถบันทึกภาพหรือเสียงในการขับขี่ของพนักงาน สามารถตรวจสอบการเบรค การเปิดไฟเลี้ยว เป็นต้น
- การเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร (Smart Industrial Agriculture)
การเกษตรที่นำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่งมาใช้ โดยอาศัยการทำงานร่วมกันของระบบเซ็นเซอร์ที่วัดความชื้น ปริมาณแสงแดด อุณหภูมิ ระบบฐานข้อมูลพืช และระบบให้น้ำ ปรับปริมาณแสง และระบบปรับอุณหภูมิ ที่ทำงานสอดคล้องกันเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชมากที่สุด และแม่นยำที่สุด ระบบดังกล่าวนอกจากจะช่วยให้เกษตรกรประหยัดและใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น ยังช่วยให้เกษตรกรสามารถประมาณการช่วงเวลาเก็บเกี่ยวและปริมาณพืชผลที่จะได้อีกด้วย อีกทั้งช่วยเฝ้าระวังความชื้นและความแห้งแล้ง เกษตรอัจฉริยะ เป็นรูปแบบการทำเกษตรแบบใหม่ที่จะทำให้ การทำไร่นามีภูมิคุ้มกันต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการนำเอาข้อมูลของภูมิอากาศทั้งในระดับพื้นที่ย่อย (Microclimate) ระดับไร่ (Macroclimate) และระดับมหภาค (Macroclimate) มาใช้ในการบริหารจัดการ ดูแลพื้นที่เพาะปลูก เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่เกิดขึ้น รวมถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ระบบสมาร์ตฟาร์มจะบูรณาการข้อมูล Microclimate และ Mesoclimate จากเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สาย (Wireless Sensor Networks) ที่ติดตั้งตามจุดต่างๆ ภายในไร่นา และนำเสนอต่อเกษตรกร เจ้าของไร่ ผ่านทางเว็บไซต์ โดยจะมีการเก็บข้อมูลเป็นฐานข้อมูลของไร่ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ และ ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ การวางแผนการเพาะปลูก การให้น้ำ ให้ปุ๋ย และ ยา เป็นต้น
- อินเทอร์เน็ตอุตสาหกรรม (Industrial Internet)
อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่งที่นำมาใช้กับระบบอุตสาหกรรม คือ โครงข่ายข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่ออุปกรณ์ เครื่องจักร เครื่องวัด และ ระบบการควบคุมในระบบอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน การส่งข้อมูลผ่านโครงข่ายจะช่วยให้อุปกรณ์และระบบต่างๆมีการทางานที่แม่นยำ สามารถทางานสอดคล้องกันได้โดยไม่ต้องการ การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของเครื่องจักรเช่น อุณหภูมิ การสั่น การหมุน นอกจากจะช่วยตรวจสอบความผิดปรกติของเครื่องจักรได้ ยังช่วยใช้คาดการณ์เวลาที่จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไหล่ของอุปกรณ์เมื่อถึงเวลาเสียได้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนอะไหล่ใหม่โดยไม่จำเป็นได้ นอกจากนี้ การเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างร้านสะดวกซื้อ ระบบโลจิสติกส์ และโรงงาน จะช่วยให้สามารถบริหารการผลิตและกระจายสินค้าให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยในฐานะที่มีสัดส่วนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่สูง จะมีโอกาสได้ประโยชน์จากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น
ภาพที่ 2 การควบคุมอุปกรณ์ในบ้าน ด้วยสมาร์ตโฟน
ที่มา https://pixabay.com/th , Pixaline
อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่งเป็นการเชื่อมต่อสิ่งรอบ ๆ ตัวเราอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ ทำให้คุณภาพชีวิตสูงขึ้นและลดการสูญเสียเวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เนื่องจากปัจจุบันเวลาถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง แต่แนวคิดดังกล่าวหากไม่มีการควบคุมรักษาความปลอดภัยที่เพียงพอ ก็จะกลายเป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงความเป็นส่วนตัว และแนวทางการดำเนินของผู้ใช้ระบบได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก ในอนาคตเราจะสามารถควบคุมการทำงานของสิ่งของทุก ๆ อย่างรอบตัวได้ง่าย ๆ ผ่านสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ต ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตคือเรื่องของการจัดการกับข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบหลังบ้าน ระบบหน้าบ้าน และการจัดการกับข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์ ต่าง ๆ การถูกตรวจสอบ การดักฟัง หรือการควบคุมการใช้บริการ ผู้ใช้งาน ควรป้องกันความเสี่ยงเหล่านนี้ที่อาจจะเกิดขึ้น และต้องประเมินความเสี่ยงในโลกจริงด้วย รวมถึงตั้งคำถามต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานอุปกรณ์ อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง และระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะตัดสินใจนำเข้าไปใช้อย่างเป็น เพื่อทำให้อุปกรณ์เหล่านี้มีมาตรฐานความปลอดภัยที่ดีและทำให้ผู้ใช้สามารถวางใจได้ว่ามีความปลอดภัยจากภัยคุกคามต่าง ๆ ที่เป็นไปได้เหล่านี้
แหล่งที่มา
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเทคโนโลยี. 2560. Internet of Things และนโยบาย Thailand 4.0. กรุงเทพฯ: กสทช.
บัณฑิต ศรีสวัสดิ์. (2559, มีนาคม). ระบบติดตามยานพาหนะในการขนส่งสินค้า. โครงการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ราชภัฏวิจัยครั้งที่ 4. 931-947.
ประภาพร กุลลิ้มสรัตน์ชัย. (มกราคม, 2559). Internet of Thing แนวโน้มเทคโนโลยีปัจจุบันกับการใช้งานในอนาคต. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย 10 (1), 29-36.
- J. P Dunning. (2559, 20 ตุลาคม). สรุปบรรยายพิเศษว่าด้วยความปลอดภัยของ IoT สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2561, จาก https://www.blognone.com/node/86500.
Sombir. (2018, March). LITERATURE REVIEW ON SECURITY OF IOT International Journal of Advanced Research in Computer Science. 9 (2), 131-134.
-
9089 อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง /article-technology/item/9089-2018-10-18-07-59-07เพิ่มในรายการโปรด