สังคมไร้เงินสด
ธนาคารต่าง ๆ ทั่วโลกได้พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์การเงินกันมากขึ้น และคิดค้นรูปแบบใหม่ในการใช้งาน e-Finance หรือที่เราเรียกกันว่า FinTech ออกมาอยู่ตลอดเวลา สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) เป็นแนวคิดสังคมเศรษฐกิจที่ปราศจากเงินสด มีวิสัยทัศน์ที่มองว่าความสำคัญของเงินสดในอนาคตจะลดน้อยลงและจะถูกแทนที่โดยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์
ภาพที่ 1 การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการซื้อสินค้าและบริการ
ที่มา https://pixabay.com/th , mohamed_hassan
สังคมไร้เงินสดเป็นแนวคิดสังคมเศรษฐกิจที่ปราศจากเงินสด หรือสังคมเศรษฐกิจที่ไม่นิยมถือเงินสด ที่มีการพูดถึงกันเป็นครั้งแรกในวงการธนาคารพาณิชย์ช่วงยุค 1950 ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่มองว่า ความสำคัญของเงินสดในอนาคตจะลดน้อยลง และจะถูกแทนที่โดยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคมในการทำธุรกรรมทางการเงินแทน ต่อมาในช่วงต้นยุค 1960 เจ้าของบริษัทที่ปรึกษาการวางเครือข่ายคอมพิวเตอร์สำหรับธนาคาร ที่มีการประมวลผลที่เกินพิกัดของภาระด้านเอกสารธุรกรรมทางการเงินในขณะนั้นจากธุรกรรมเงินสดและเช็คเงินสดที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเป็นเหตุให้ต้นทุนของธนาคารเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่จำเป็น และสนับสนุนการก่อกำเนิดระบบการเงินใหม่ที่ไร้เงินสดมาแทนที่ระบบ ณ ขณะนั้นต่อเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน แม้ว่าหลาย ๆ ประเทศรวมถึงไทยจะมีการเริ่มเปลี่ยนแปลงจากสังคมเงินสด ไปสู่การใช้ ระบบบัตรเครดิตและเดบิต หรือการบริการการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) ในการใช้จ่ายชำระค่าบริการในชีวิตประจำวัน ระบบไร้เงินสดที่มีใช้ในปัจจุบันได้แก่
- บัตรเครดิตและเดบิต
เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการใช้บัตรเพื่อชำระค่าสินค้าโดยในปัจจุบัน บัตรเดบิต (Debit Card) เป็นบัตรที่ธนาคารออกให้โดยผูกบัตรไว้กับบัญชีเงินฝากของผู้ถือบัตร ซึ่งสามารถใช้ในการทำธุรกรรมการเงินต่าง ๆ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่อง ATM ไม่ว่าจะเป็นการถอนเงิน โอนเงิน สอบถามยอด และ จ่ายค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ ผ่านบัตรเดบิตนี้ได้โดยไม่ต้องใช้เงินสด
บัตรเครดิต เป็นสินเชื่อบุคคลธรรมดา โดยธนาคารจะให้เงินจำนวนหนึ่งตามที่ธนาคารกำหนด และสามารถใช้สินเชื่อนั้นได้ทุก ๆ เดือน ภายในวงเงินดังกล่าวเพื่อ ซื้อสินค้า บริการต่าง ๆ แต่มีเงื่อนไขว่า คุณจะต้องทำการจ่ายเงินที่นำไปจับจ่ายซื้อของเหล่านั้นภายในระยะเวลาที่กำหนด พร้อมกับต้องเสียดอกเบี้ยตามอัตราที่ธนาคารกำหนด หรือพูดง่ายๆ ธนาคารจ่ายให้ก่อน พอครบ 30 วัน คุณก็ต้องไปจ่ายคืนธนาคาร ซึ่งรูปแบบของบัตรเครดิตคือสินเชื่อส่วนบุคคลระยะสั้นนั้นเอง
บัตรเดบิตกับบัตรเครดิตจะมีความแตกต่างกันในเรื่องของการใช้จ่าย โดยเวลาที่ชำระค่าสินค้าและบริการนั้นบัตรเดบิตจะจ่ายเงินสดทันที ด้วยการหักเงินจากบัญชีโดยอัตโนมัติ หรือเรียกได้ว่า “ซื้อแล้วจ่ายเลย” ซึ่งผู้ถือบัตรไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ในขณะที่บัตรเครดิตนั้นเป็นการ “ซื้อแล้วจ่ายทีหลัง” หรือเป็นการกู้สินเชื่อนั่นเอง ซึ่งจะมีภาระดอกเบี้ยในการใช้จ่ายตามเงื่อนไขของแต่ละธนาคารด้วย
-
e-Payment
การทำธุรกรรมทางการเงินโดยอาศัยข้อมูลทางบัญชีการเงินหรือเครดิต ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตทั้งบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน e-Payment เป็นระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนในยุคปัจจุบัน โดยเป็นระบบที่สามารถโอนเงิน ชำระเงินผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างง่ายดาย ผ่านสมาร์ตโฟน โดยมีระบบอินเทอร์เน็ตเป็นผู้ช่วยที่สำคัญ นอกจากนี้เรายังสามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่านบัตรเครดิตได้อีกด้วยโดยรูปแบบของ e-Payment ที่อยู่ภายใต้การทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย มีทั้งหมด 8 ประเภทได้แก่ ระบบการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) บริการเครือข่ายบัตรเครดิต บริการเครือข่าย EDC Network บริการสวิตช์ชิ่งในการชำระเงิน บริการหักบัญชี (Clearing) บริการชำระดุล (Settlement) บริการชำระเงินแทน บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์
ภาพที่ 2 การซื้อสินค้าด้วยบัตรเครดิต-เดบิต
ที่มา https://pixabay.com/th , StockSnap
- e-Wallet
การสร้างบัญชีกระเป๋าเงินส่วนตัวออนไลน์เอาไว้บนระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเมื่อโอนเงินเข้าไปในกระเป๋าเงินแล้วก็สามารถนำไปใช้ชำระค่าสินค้าได้ ผ่านวิธีการสแกนบาร์โค้ดหรือ QR Code บนแอปพลิเคชันเพื่อตัดเงินในบัญชี หรือโอนเงินเพื่อสั่งจ่ายจากบัญชีก็สามารถทำได้ซึ่งบุคคลมีกระเป๋าเงินออนไลน์ ไว้ซื้อสินค้าออนไลน์ ไว้โอนเงินให้เพื่อน ไว้ชำระค่าบริการต่าง ๆ นอกจาก แอผพลิเคชันของธนาคารแล้ว ก็จะมี TrueMoney, Rabbit Line Pay และ Airpay เป็นต้น
ภาพที่ 3 การใช้แอปพลิเคชันในการจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ
ที่มา https://pixabay.com/th , geralt
e-Wallet บางครั้งเรียกว่า Mobile Wallet หรือ Digital Wallet คือระบบการชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านแอปพลิเคชัน หรือโซลูชัน ด้วยบัตรเครดิตหรือเงินสด โดยไม่ต้องเดินทางไปติดต่อกับธนาคารโดยตรง โดยผู้พัฒนาแอปพลิเคชันหรือระบบจะเป็นตัวกลางในการติดต่อและเชื่อมต่อระบบให้กับร้านค้าเมื่อมีการอนุมัติให้ใช้บริการ เป็นการจ่ายเงินที่ใช้มือถือ หรือเรียกว่า Mobile Payment ที่ใช้เทคโนโลยีเรียกว่า NFC (Near Field Communication) ที่ฝังในมือถือ Android รุ่นใหม่ ในการแตะเพื่อชำระเงิน ณ จุดชำระเงินต่างๆ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต รถไฟฟ้า ร้านกาแฟ เป็นต้น
ผู้ถือสมาร์ตโฟน เมื่อดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น e-Wallet จะทำให้การจับจ่ายซื้อของสะดวกขึ้น เมื่อจะจ่ายเงินก็แค่สแกนสมาร์ทโฟนกับเครื่องที่ติดตั้งไว้ ใส่รหัสหรือ PIN code เงินสดจะถูกหักจากโทรศัพท์ บางระบบสามารถหักผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตได้ ผู้ให้บริการบัตรเครดิต เช่น City Card, Master Card, American Express ก็เข้าร่วมให้บริการ ร้านค้าชื่อดังอย่าง Mercy, 7-Eleven, CVS, Toy R Us, OfficeMax ก็ให้บริการรับชำระค่าสินค้าผ่านระบบ e-Wallet เช่นกัน
- สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)
เงินสกุลดิจิทัล มีหลายสกุล มีพื้นฐานการออกแบบขึ้นมาด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ในลักษณะของการกระจายข้อมูลที่เข้ารหัสแบ่งออกเป็นส่วนย่อย ๆ ไม่มีศูนย์กลางอยู่ที่ใดที่หนึ่งโดยไม่มีการควบคุมจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (รัฐบาลหรือธนาคาร) อาทิ Bitcoin (บิทคอยน์) เป็นเงินตราในรูปแบบดิจิทัลที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยโปรแกรมเมอร์ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งใช้นามแฝงว่า “ซาโตชิ ซากาโมโตะ” แต่สำหรับชื่อจริงนั้นไม่ถูกเปิดเผยจึงทำให้ไม่ทราบตัวตนที่แน่ชัด มีการเริ่มต้นใช้งานเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2009 มีชื่อย่อของสกุลเงินคือ “BTC” เป็นเงินตราในรูปแบบที่เรียกว่า “Cryptocurrency” ที่ต้องใช้การเข้ารหัสในการควบคุมการสร้างและโอนเงิน ตัวเงินตราบิทคอยน์นั้นสามารถสร้างขึ้นใหม่ด้วยการ “ไมน์นิ่ง” (Mining) ซึ่งค่าธรรมเนียมในการชำระเงินต่ำกว่าการชำระผ่านระบบธนาคาร มีค่าธรรมเนียมเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ เป็นภาษาไทยว่าการขุดเหมือง ซึ่งเป็นกระบวนการตรวจสอบยืนยันและบันทึกการชำระเงิน เงินในรูปแบบออนไลน์อย่างบิทคอยน์เป็นระบบเงินออนไลน์ในรูปแบบดิจิทัลที่สามารถนำมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินจริงได้ ไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องการเมือง เนื่องจากไม่มีประเทศใดเป็นเจ้าของค่าเงิน มีค่าธรรมเนียมในการชำระเงินต่ำกว่าการชำระผ่านระบบธนาคาร ซึ่งมีค่าธรรมเนียมเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20 บาทต่อรายการ ขึ้นอยู่กับเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ และเป็นระบบการเงินรูปแบบหนึ่งซึ่งมีแนวโน้มว่าจะได้รับการยอมรับมากขึ้นในอนาคต
สังคมไร้เงินสดกำลังจะเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต การลดการใช้เงินสดและการเพิ่มการใช้ e-payment จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างรวดเร็วขึ้น ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของเศรษฐกิจในการแข่งขันระหว่างประเทศจากการลดต้นทุนที่มาจากธุรกรรมเงินสด และการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นของรัฐบาล โดยการจัดการบริหารเงินสดนั้นมีค่าใช้จ่ายที่ซ่อนอยู่ เช่น ความเสี่ยงต่อการสูญหาย การขนส่ง การผลิต และการจัดเก็บรักษา อย่างไรก็ตามสิ่งที่บุคคลในสังคมจะต้องคำนึงเมื่อสังคมเข้าสู่สังคมไร้เงินสด การสูญเสียความเป็นส่วนตัวในธุรกรรมทางการเงิน อันเนื่องมาจากความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของธนาคาร ผู้ประกอบการ ระบบรักษาความปลอดภัยของระบบการเงินออนไลน์ต่าง ๆ เนื่องจากการนำข้อมูลการเงินทุกอย่างเข้าไปอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ อาจจะทำให้การโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวทำได้ง่ายขึ้น ทำให้การบริโภคสินค้าและบริการฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น เพราะว่าความสะดวกสบายจะเป็นสิ่งล่อลวงใจให้ผู้คนมีการใช้สอยจับจ่ายมากขึ้น บุคคลในสังคมจะต้องคำนึงสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้น โดยการแสวงหาความรู้ การรักษาความปลอดภัยในระบบการใช้จ่ายของตนเอง รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีอีกด้วย
แหล่งที่มา
ทรูคอร์เปอร์เรชั่น. (2560, 1 กันยายน). Cashless Society สังคมไรเงินสด อนาคตที่ไมตองรอ .สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2561, จาก https://truebusiness.truecorp.co.th/e-mag/2017/09.sep/pdf/TechnoNote-09.2017.pdf.
รัฐศาสตร์ กรสูต. (2561, 10 กรกฎาคม). พลิกโฉมธุรกรรมการเงิน เตรียมพร้อมอีคอมเมิร์ซไทยสู่ยุค Cashless Society. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2561, จาก https://www.krungsri.com/bank/th/plearn-plearn/promptpay-gateway-to-cashless-society.html.
Akwan S. (2561, 3 กุมภาพันธ์). อนาคตโลกกับ 'สังคมไร้เงินสด' สู่การปรับตัวครั้งใหญ่ของเหล่าธนาคารพาณิชย์. สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2561, จาก https://nextempire.co/stories/next-business/อนาคตโลกกับ-สังคมไร้เงินสด-สู่การปรับตัวครั้งใหญ่ของเหล่าธนาคารพาณิชย์/1324#jn65dpsc81.
THE STANDARD. (2561, 15 พฤษภาคม). TEAM Cashless Society เมื่อการใช้เงิน(สด)ไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2561, จาก https://thestandard.co/cashless-society.
-
9094 สังคมไร้เงินสด /article-technology/item/9094-2018-10-18-08-04-19เพิ่มในรายการโปรด