Space economy ยุคแห่งการท่องอวกาศ
หลังจากที่ยานอะพอลโล 17 เดินทางไปดวงจันทร์เมื่อปี 1972 หากหลายคนคงใฝ่ฝันที่จะออกไปแตะขอบฟ้านอกโลก ความใฝ่ฝันนั้นจะไม่ไกลอย่างที่คิด ในไม่อีกกี่ปีข้างหน้า เราสามารถเดินทางไปกลับโลกและอวกาศได้ทุกวัน อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอแห่ง SpaceX ซึ่งได้ส่งผู้โดยสารจำนวน 2 ที่นั่งไปทัวร์ดวงจันทร์ ด้วยจรวดโดยสารที่ชื่อ SpaceX’s Falcon Heavy Rocket ซึ่งเป็นจรวดที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยประกอบด้วยจรวด Falcon 9 รุ่นปกติอยู่ตรงกลาง เสริมด้วยจรวดเพิ่มกำลังอีกสองตัว เมื่อรวมแล้วจะมีเครื่องยนต์ทั้งหมด 27 เครื่อง มีกำลังขับในสุญญากาศ 24,681 กิโลนิวตัน
เบื้องหลังความสำเร็จของจรวด Falcon 9 คือ เครื่องยนต์ที่ชื่อว่า Merlin เป็นเครื่องยนต์ที่ออกแบบเองโดย SpaceX ประกอบไปด้วยเครื่องยนต์สมรรถนะสูงถึง 9 ชุด ซึ่งพวกมันใช้พลังงานขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงส่วนผสมของเคโรซีนและออกซิเจนเหลว เครื่องยนต์ทั้ง 9 จะเผาไหม้เชื้อเพลิงขั้นที่หนึ่งเป็นเวลา 162 วินาที และขั้นที่สองอีก 397 วินาที และเป็นเครื่องยนต์จรวดที่มีพละกำลังมากที่สุด เท่าที่อุตสาหกรรมอวกาศเคยสร้างมา นอกจากนั้น Falcon 9 ยังมีความปลอดภัยสูง โดยจรวดปกติเมื่อเกิดเหตุเครื่องยนต์ขัดข้องจากการสูญเสียแรงขับเพียงเล็กน้อย ก็จะเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่อาจทำให้ระเบิดทั้งลำ แต่ Falcon 9 ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหานี้ หากการจุดระเบิดขั้นแรกล้มเหลว จะไม่ส่งผลกระทบต่อทั้งลำจรวด และมีโอกาสที่การเผาไหม้เชื้อเพลิงขั้นที่สองจะดำเนินต่อไปได้
ซึ่งอีลอน มัสก์ ยังบอกว่าผู้โดยสารทั้งสองจะเดินทางไปในระบบสุริยะได้เร็วและไกลกว่ามนุษย์ทุกคนที่เคยออกสู่อวกาศ แม้จะเกิดระเบิดที่จุดปล่อยตัวในฟลอริดา แต่ SpaceX ก็เริ่มส่งจรวดอีกหลายลำแทนเพื่อพัฒนาโปรเจ็กต์นี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งยุคนี้ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างเม็ดเงินจากอวกาศ (Space Economy) อย่างแท้จริง
ฐานลงจอดของจรวด Falcon 9 จะอยู่บนบกถึง 3 แห่ง แต่ SpaceX ออกแบบให้มันสามารถลงจอด ณ ฐานใจกลางทะเลได้ ในเดือนเมษายน 2016 จรวด Falcon 9 สามารถลงจอดบนฐานกลางทะเลได้สำเร็จ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้า หาก SpaceX ลงจอดกลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ได้ ก็เป็นไปได้ที่จะลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงแทนการจอดบนบก การใช้พลังงานน้อยกว่า ก็ยิ่งโคจรรอบโลกได้นานขึ้น
ภาพ ฐานจอดจรวจกลางมหาสมุทร Of Course I Still Love You
ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Autonomous_spaceport_drone_ship
มีบริษัทมากมายเข้ามาดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ Virgin Galactic บริษัทการขนส่งอวกาศเชิงพาณิชย์แห่งแรกของโลก ซึ่งมีการวิจัยพัฒนาการบินอวกาศร่วมกับองค์การบริหารการบินและอวกาศนาซ่า หลังจากประสบความล้มเหลวในการทดลองครั้งแรก ยาน SpaceShipTwo ลำใหม่ก็ได้ทดสอบบินอีกครั้งในช่วงต้นปี 2016 โดยยานลำนี้ของบริษัทมีความสำคัญมาก เนื่องจากจะถูกใช้เป็นยานขนส่งนักท่องเที่ยวอวกาศที่ได้จองตั๋วล่วงหน้ากับทางบริษัทเรียบร้อยแล้วกว่า 500 ใบ
ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า การท่องเที่ยวอวกาศจะเป็นเรื่องปกติคล้ายการนั่งเครื่องบิน เทียบค่าโดยสารเครื่องบินที่บินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก (Trans-Atlantic flights) ครั้งแรกนั้นมีราคาสูงหลายพันเหรียญสหรัฐ แต่ปัจจุบันถูกปรับลงมากอยู่ในระดับไม่กี่ร้อยเหรียญ ดังนั้นธุรกิจท่องอวกาศก็น่าจะคล้ายคลึงกัน
เจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos) แห่งแอมะซอน ยังมีโครงการ Blue Origin ที่มีเป้าหมายจะส่งผู้โดยสารขึ้นไปท่องเที่ยวในอวกาศเป็นเวลา 11 นาที โดยตั้งเป้าว่าจะเริ่มทดสอบปล่อยกระสวยอวกาศลำแรก โดยมีเป้าหมายในระยะยาวอย่างการลดต้นทุนสำหรับเที่ยวบินสู่อวกาศ เพื่อที่ในอนาคตคนเราจะสามารถเดินทางไป-กลับอวกาศได้ทุกวัน
รวมทั้งโครงการ Kuang Chi Science ของจีน ที่มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคต พร้อมดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกในสาขาต่างๆ รวมถึงการสำรวจอวกาศที่จะมีมนุษย์คนแรกออกไปท่องอวกาศในปี 2020 โดยโครงการเชิงพาณิชย์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ ล้วนขยับก้าวของการเดินทางในอวกาศให้ทะยานออกไปไกลอีกขั้นหนึ่ง
เมื่อถึงวันที่มนุษย์สามารถท่องอวกาศเสมือนการท่องเที่ยวได้ ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ มนุษย์อาจมีบ้านหลังใหม่บนดาวอังคารตามความมุ่งหวังของอีลอน มัสก์ ที่การขนส่งระหว่างโลกและอวกาศเป็นเรื่องง่าย ที่สามารถเดินทางไป-กลับได้เพียงวันเดียว ซึ่งนับว่าเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของมนุษยชาติที่เราจะเห็นในอนาคตอันใกล้
แหล่งที่มา
โตมร ศุขปรีชา. (2561, 12 มิถุนายน). เทรนด์ของวัสดุอวกาศ. สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2562, จาก https://www.the101.world/materials-for-space/.
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ. (2562). เจาะเทรนด์โลก 2018 กรุงเทพฯ : ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ.
Thanet Ratanakul. (2018, 11 January). ทำไมการท่องเที่ยวอวกาศของ SpaceX ถึงใกล้เป็นความจริง.สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2562, จาก https://thematter.co/byte/why-space-tourism-is-getting-real/43301.
Caleb Henry. (2018, 9 May). How Bangladesh became SpaceX’s first Block 5 Falcon 9 customer Retrieved January 13, 2019 from https://spacenews.com/how-bangladesh-became-spacexs-first-block-5-falcon-9-customer/
-
9586 Space economy ยุคแห่งการท่องอวกาศ /article-technology/item/9586-space-economyเพิ่มในรายการโปรด