Hyperloop การขนส่งแห่งอนาคต
ภายใต้นโยบาย Make America Great Again เส้นทางการเชื่อมต่อที่เคยเกิดขึ้นในอดีตนี้จึงถูก หยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง ภายใต้ความสนใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และอีลอน มัสก์ อดีตทีมที่ปรึกษาประจำทำเนียบขาว ด้วยการอนุมัติให้เดินหน้าก่อสร้างระบบขนส่งแบบ “ไฮเปอร์ลูป”(Hyperloop) ที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองบอสตันต่อเนื่องถึงใจกลางนครนิวยอร์ก และเชื่อมกับกรุงวอชิงตัน ดีซี ระบบการขนส่งสาธารณะความเร็วสูงแบบดังกล่าวว่า“การเดินทางในโหมดที่ 5 (Fifth mode)” ซึ่งหมายถึงการเดินทางในรูปแบบใหม่ที่เหนือกว่าเครื่องบิน รถไฟ รถยนต์ และเรือ โดยใช้สำหรับการเดินทางข้ามเมืองในระยะทางที่น้อยกว่า 1,400 กิโลเมตรในอัตราความเร็วที่สูงมาก
แนวคิด Hyperloop มาจากนาย Elon Musk ผู้ประกอบการเต็มตัวที่อยู่เบื้องหลัง PayPal, Tesla และ SpaceX ในปี 2012 การแสดงปาฐกถาที่จัดขึ้นในแคลิฟอร์เนีย เขาเสนอระบบขนส่งที่สามารถคงทนต่อสภาพอากาศ มีความเร็วเป็นสองเท่าของเครื่องบิน และสิ้นเปลืองพลังงานน้อยมาก หลังจากนั้นเขาได้อธิบายเทคโนโลยีของเขาที่เป็นการผสมผสานระหว่างปืนแม่เหล็กไฟฟ้าแบบรางคู่ (Railgun) เครื่องบินคองคอร์ด (Concorde) และโต๊ะแอร์ฮอกกี้ (Air Hockey Table)
ภาพ ระบบขนส่งแบบ “ไฮเปอร์ลูป”(Hyperloop)
ที่มา https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Hyperloop_pod_Cheetah.JPG , RichMacf
Hyperloop เป็นระบบขนส่งรูปแบบยานแคปซูลเดินทางด้วยความเร็วสูงผ่านท่อสุญญากาศ ยานแคปซูลจะลอยตัวโดยใช้เทคโนโลยีการลอยตัวด้วยแรงแม่เหล็ก (Magnetic Levitation Technology) หรือลอยตัวด้วยการใช้ล้อเลื่อนอากาศ “สกีส์” เนื่องจากตัวท่อมีแรงเสียดทานน้อยมาก ทำให้แคปซูลสามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความเร็วสูงสุดที่คาดการณ์ไว้ที่ 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อเทียบกับเครื่องบินที่ 800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ข้อดีของ Hyperloop คือจะใช้กระแสไฟฟ้า จาก Solar Cell ซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาด เมื่อเทียบกับเครื่องบินที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง
โดยหลักการของ Hyperloop นั้นจะคล้ายกับระบบรถไฟรางเดี่ยว คือการขนส่งผู้คนแบบยิงตรงจากจุด A ไปยังจุด B แบบไป-กลับ ในระยะทางที่แน่นอน ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวเป็นรูปแบบที่เคยใช้กับรถไฟใต้ดินที่ช่วยขนส่งผู้คนในระยะไกล ระบบ Hyperloop ของอีลอน มัสก์ นั้นก้าวลํ้าไปอีกหลายขั้น ด้วยนวัตกรรมขดลวดแม่เหล็กที่ใช้ขับเคลื่อนซึ่งอยู่ที่ตัวรถ ที่เรียกว่า “Pod” ในอุโมงค์สุญญากาศซึ่งไร้แรงเสียดทาน จึงสามารถสามารถเพิ่มความเร็วขึ้นได้จนสูงมากถึงระดับเกือบ 300 เมตร/วินาที
คุณสมบัติหลักของระบบที่มีการกำหนดไว้นั้น ได้แก่ ความปลอดภัย ความรวดเร็วในการเดินทาง ต้นทุนการผลิตตํ่าผู้โดยสารใช้งานสะดวก ทนทานต่อสภาพอากาศและสามารถซับแรงจากแผ่นดินไหวได้ ซึ่งนับว่าเป็นระบบที่ตรงกับความมุ่งหวังของเมืองใหญ่ทั่ว โลกที่ต้องการพัฒนาระบบการขนส่ง สาธารณะที่รวดเร็วและราคาไม่แพง ตลอดจนมองหาทางเลือกใหม่นอกจากการขุดเจาะสร้างอุโมงค์หรือพัฒนาระบบเดิม แต่เป็นการพัฒนาการขนส่งแบบท่อขนส่งขนาดเล็กที่สามารถบริการผู้คนได้จริง
โดยเมื่อปลายปี 2015 Hyperloop One และสำนักงานรัฐเนวาดาได้เริ่มจัดการด้านพื้นที่เพื่อทดลองใช้งานระบบ Hyperloop โดยใช้พื้นที่ประมาณ 50 เอเคอร์ทางตอนเหนือของลาสเวกัสและกำหนดความเร็วที่ต้องการในเบื้องต้นคือ 335 ไมล์/ชม. หรือประมาณ 539 กม./ชม. ซึ่งเป็นความเร็วเพียงครึ่งเดียวของระบบ Hyperloop
นอกจากนี้เมื่อกลางปี 2016 ที่ผ่านมา การลงทุนก่อสร้างระบบ Hyperloop ได้เกิดขึ้นอีกครั้งโดยเป็นการจับมือกันระหว่างบริษัท Hyperloop One และ The Dubai Roads and Transport Authority หรือ RTA หน่วยงานที่ดูแลด้านการคมนาคมขนส่งของดูไบ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นับเป็นหนึ่งในโครงการ Dubai Future Accelerators ซึ่งจะเปิดโอกาสให้บริษัทนวัตกรรมระดับโลกและหน่วยงานรัฐได้ร่วมมือกันทดสอบโซลูชั่นใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายสำคัญ ๆ ในระดับชุมชนเมือง
Hyperloop One ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งด้วยการตกลงเซ็นสัญญาเพื่อใช้งานจริง และเริ่มต้นวางแผนการก่อสร้างตลอดจนทดสอบระบบในตัวเมือง อย่างในเส้นทางที่จะเชื่อมต่อกรุงอาบูดาบีและดูไบเข้าด้วยกันซึ่ง จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจาก 1.2 ชั่วโมงให้เหลือเพียง 12 นาทีเมื่อเทียบกับการเดินทางโดยรถยนต์
ทั้งนี้มีกำหนดการเปิดใช้งานจริงของเฟสแรกในปี 2020 - 2021 ทั้งยังมีการพิจารณาเพิ่มเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศ เช่น การ์ตา ซาอุดิอาระเบีย หรือโอมานในอนาคตด้วย ยิ่งไปกว่านั้น Hyperloop One ยังเตรียมแผนงานสร้าง Pod พร้อมเส้นทางทั้งแบบขนส่งผู้คนและแบบคาร์โกส่งสินค้าในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลกด้วย อาทิในสหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซีย โดยในแต่ละแห่งจะเป็นการลงทุนร่วมกับบริษัทในพื้นที่
แต่ใช่ว่า Hyperloop จะเป็นตัวเลือกเดียวในการเดินทางสาธารณะแห่งอนาคต เพราะล่าสุดท่ามกลางกระแสความนิยมระบบท่อสุญญากาศที่กำลังแพร่ขยายไปทั่วโลก จีนก็กำลังวางแผนสร้างรถไฟ MagLev (Magnetic Levitation ระบบคมนาคมที่ใช้พลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าในการขับเคลื่อนโดยปราศจากล้อ) ที่คาดว่าจะสามารถทำความเร็วได้ถึง 2,485 ไมล์ต่อชั่วโมง (หรือราว 4,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) นั่นคือ มีความเร็วสูงกว่าความเร็วเสียงถึงประมาณ 3.26 เท่า และถูกเรียกว่า “รถไฟบิน (Flying Train)” โดยมีบริษัท China Aerospace Science and Industry Corp. (CASIC - บรรษัทการบินอวกาศและอุตสาหกรรมจีน)
เทคโนโลยีการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางท่อด้วยความเร็วสูงในระดับเดียวกับหรือเหนือกว่าเครื่องบินพาณิชย์ ไม่เพียงแต่จะเป็นการประหยัดเวลาเดินทางเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถเข้าถึงทรัพยากรและแหล่งทุนได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศต่อไป
แหล่งที่มา
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ. (2562). เจาะเทรนด์โลก 2018 กรุงเทพฯ : ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ
ทรงพจน์ สุภาผล. (2558, 10 สิงหาคม). Hyperloop. สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2562, จากhttps://www.voathai.com/a/hyperloop-transport-system-ss/2909897.html
-
9596 Hyperloop การขนส่งแห่งอนาคต /article-technology/item/9596-hyperloopเพิ่มในรายการโปรด